บริษัทในชิงต่าว ขานรับต่อกระแสเทคโนโลยี และก้าวสู่ยุคอุตสาหกรรมอัจฉริยะ 4.0 โดยเปิดตัวโกดังสินค้าอัจฉริยะสำหรับสินค้าขนาดใหญ่แห่งแรกในจีน เพื่อพัฒนาและปรับปรุงการทำงาน ทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและตอบสนองความต้องการของลูกค้าในอนาคต
บริษัท gooday logistics สร้างโครงข่ายบริการขนส่งที่ครอบคลุมไปทั่วทุกพื้นที่ในประเทศจีน โดยมีโกดังสินค้าอัจฉริยะทั้งสิ้น 136 แห่ง โกดังสินค้าขนาดเล็กกว่า 6,000 แห่ง และพาหนะขนส่งมากกว่า 3,300 คัน ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา โกดังสินค้าอัจฉริยะของบริษัทที่ตั้งอยู่ในเขตใหม่ชายฝั่งทะเลตะวันตก หวงต่าว เมืองชิงต่าว กลายเป็นโกดังสินค้าอัจฉริยะแห่งแรกในการบริการขนส่งและจัดการสินค้าขนาดใหญ่ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน สุขภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องออกกำลังกาย โดยมีความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีศักยภาพ อาทิ บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้า Haier และ Hisense ฯลฯ ภายในโกดังสินค้า มีพื้นที่ทั้งสิ้น 200,000 ตารางเมตร และมีชั้นวางสินค้าที่มีความสูงถึง 20 เมตร โดยมีจุดเด่นที่สำคัญ คือ การนำเทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) และระบบปฏิบัติการฮาร์ดแวร์ที่ทันสมัย เช่น ระบบ AGV เพื่อจัดการและบริหารสินค้าขนาดใหญ่
กระบวนการโลจิสติกส์ทั้งหมดตั้งแต่นำสินค้าเข้าโกดัง คัดแยกสินค้า จัดเก็บสินค้า และนำสินค้าออก จะดำเนินการผ่านอุปกรณ์อัตโนมัติภายใต้ระบบคำสั่งที่แม่นยำของฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) โดยทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูล กำหนดแผนงานและตรวจสอบ เพื่อให้กระบวนการในคลังสินค้าทั้งหมดสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น ซึ่งช่วยแก้ไขปัญหาดั้งเดิมในการจัดการสินค้าคงคลัง หากเทียบกับโกดังสินค้าแบบดั้งเดิมแล้วนั้น โกดังสินค้าแห่งนี้ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานได้ถึงร้อยละ 50
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังให้บริการติดตั้งอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า หลังจากจัดส่ง และมีแพลตฟอร์มให้บริการที่ช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถสอบถาม รวมถึงแสดงข้อคิดเห็นและความพึงพอใจในการใช้บริการ จากนั้น นำมาวิเคราะห์ เพื่อปรับปรุงการให้บริการ และตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการได้อย่างตรงจุด อีกทั้งยังให้ข้อมูลแก่ภาคอุตสาหกรรมในการจัดหาวัสดุที่จำเป็นต่าง ๆ เพื่อให้สามารถรองรับและควบคุมการไหลเวียนของระบบและการจัดเก็บของสินค้าและบริการอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยวิธีการดังกล่าว ทำให้ปัจจุบัน บริษัทฯ เป็นอันดับ 1 ในการให้บริการด้านการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่
ปัจจุบัน การแข่งขันระหว่างภาคธุรกิจไม่ได้ตัดสินที่สินทรัพย์ภายในเพียงอย่างเดียว แต่ตัดสินที่จำนวนลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ การปรับปรุงประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์สำหรับสินค้าขนาดใหญ่ การเชื่อมต่อระหว่างผู้ใช้บริการและภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการตอบโจทย์ปัญหาด้านการบริการส่วนบุคคลแก่ผู้ใช้ กลายเป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการพัฒนาโลจิสติกส์อัจฉริยะในยุคของเทคโนโลยีสารสนเทศ
อ้างอิงข้อมูล : ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ เมืองชิงต่าว