พิธีเปิดหน้าดินก่อสร้างเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะทำงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมงาน ณ พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง ซึ่งมีกำหนดเริ่มต้นการก่อสร้างกลุ่มอาคารเมืองนวัตกรรมภาคตะวันออก ระยะที่ 1 ในเดือนมีนาคม 2562 นี้
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. ในฐานะผู้ได้รับมอบหมายจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เป็นเจ้าภาพหลักในการพัฒนา EECi ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรในทุกภาคส่วน ให้เป็นศูนย์กลางการทำวิจัยและพัฒนา เพื่อต่อยอดไปสู่การใช้งานจริงเชิงพาณิชย์และเชิงสาธารณประโยชน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดย EECi มีอุตสาหกรรมเป้าหมาย 6 ด้าน ได้แก่ 1. เกษตรสมัยใหม่และเทคโนโลยีชีวภาพ 2. เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 3. แบตเตอรีประสิทธิภาพสูงและขนส่งสมัยใหม่ 4. ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 5. เทคโนโลยีการบินและอวกาศ และ 6. เครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งจะร้อยเรียงร่วมกันพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bioeconomy) ของไทยให้มีความเข้มแข็งยั่งยืนต่อไป
“EECi จึงนับเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยนวัตกรรมได้อย่างแท้จริง และพิธีการเปิดหน้าดินวันนี้ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญ โดยภายในระยะเวลา 3-5 ปีจากนี้ พื้นที่กว่า 3,455 ไร่นี้ของวังจันทร์วัลเลย์จะได้รับการพัฒนาให้เป็นเมืองแห่งนวัตกรรม ที่มีระบบนิเวศนวัตกรรมสมบูรณ์ มีสภาวะแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ โดยตั้งเป้าที่จะให้พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งรวมนวัตกรรมชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต ประกอบไปด้วย สถาบันการศึกษา ศูนย์วิจัย ห้องทดลอง โรงงานต้นแบบ โรงงานสาธิต และศูนย์วิเคราะห์ทดสอบชั้นนำ พร้อมสิทธิประโยชน์สำหรับเอกชนที่เข้ามาดำเนินการวิจัยและสรรสร้างนวัตกรรม รวมถึงยังมีโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นอีกมากมาย เช่น ที่พักอาศัย โรงพยาบาล โรงแรม และ Community Market รวมไปถึงมีการผ่อนปรนกฎหมาย เพื่อเอื้อต่อการทดสอบนวัตกรรมใหม่ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้พัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างเต็มศักยภาพ” ดร.ณรงค์ กล่าว
การก่อสร้างในเฟสแรกในช่วงระยะเวลา 2 ปีต่อไปนี้ จะเป็นการก่อสร้างในส่วนของอาคารหลัก มูลค่าการลงทุนกว่า 1,100 ล้านบาท โดยเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ EECi, โรงงานต้นแบบ และโรงเรือนอัจฉริยะของ BIOPOLIS (เมืองนวัตกรรมชีวภาพ) รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ARIPOLIS (เมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ), SPACE INNOPOLIS (เมืองนวัตกรรมด้านการบิน และอวกาศ) ระยะเริ่มต้น ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในต้นปี 2564 นอกจากนี้ ยังจะมีการลงทุนในส่วนของโรงงานต้นแบบ ไบโอรีไฟเนอรี มูลค่ากว่า 3,400 ล้านบาท ต่อเนื่องในปี 2563 – 2565 เพื่อสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตทางการเกษตรและทรัพยากรชีวภาพของไทยต่อไป
ดร.ณรงค์ เสริมว่า ขณะนี้มีภาคเอกชนแสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EECi อาทิ อุตสาหกรรมฐานชีวภาพ อุตสาหกรรมเกษตรก้าวหน้า อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน อุตสาหกรรมอากาศยานไร้คนขับ โดยสิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้รับประกอบด้วย สิทธิการเช่าที่ดินระยะยาวสำหรับจัดตั้งศูนย์วิจัย และการเช่าพื้นที่ในอาคารเพื่อการวิจัยและนวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐานที่สามารถใช้สอยร่วมกัน อาทิ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ เครื่องมือวิเคราะห์ทดสอบ โรงงานผลิตชิ้นงานต้นแบบ โคเวิร์คกิ้งสเปซ สนามทดลองและทดสอบ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 13 ปี อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 17% คงที่สำหรับผู้เชี่ยวชาญระดับสูง การอำนวยความสะดวกในเรื่องวีซ่าทำงานสำหรับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ การเข้าถึงพื้นที่ผ่อนปรนกฎระเบียบเพื่อการทดสอบนวัตกรรม (Regulatory Sandbox) และการเข้าถึงนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญของรัฐต่างๆ
ทั้งนี้ การลงทุนในพื้นที่ EECi วางสัดส่วนการลงทุนแบบ ~30:70 คือ มาจากภาครัฐไม่น้อยกว่า 33,170 ล้านบาท และเหนี่ยวนำการลงทุนจากภาคอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นกว่า 110,000 ล้านบาท ภายในเวลา 20 ปีข้างหน้า ซึ่งคาดการณ์ว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการลงทุนดังกล่าวได้กว่า 271,000 ล้านบาท