ธุรกิจ Food Delivery คึกคักหลังจาก 3 ค่ายใหญ่ Lineman ,Grab food และGet food เปิดทดลองให้ผู้ประกอบการร้านค้าเข้าสู่ระบบการสั่งอาหารผ่าน Application เมื่อกลางปี 2562 ที่ผ่านมา มีการแข่งขันกันจัดโปรโมชั่น ลดค่าจัดส่งเพื่อช่วงชิงลูกค้า ขณะที่ร้านอาหารเองไม่ต้องจ่ายค่า Gross Profit (GP) หรือส่วนแบ่งจากการขายให้กับทาง APP ทำให้ราคาไม่สูง จึงเป็นจุดดึงดูดให้ผู้บริโภคหันมาสนใจใช้บริการสั่งอาหารผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
แต่หลังจากหมดโปรโมชั่นช่วงทดลองระบบ ทั้ง 3 ค่ายได้แจ้งไปยังร้านอาหารที่เคยอยู่บน Application Food Delivery ให้มาลงทะเบียนเพื่อร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ โดยร้านค้าที่เข้าร่วมจะได้สิทธิพิเศษ คือเป็นร้านอาหารแนะนำระดับแรกๆ มีตำแหน่งเมนูอาหารที่เห็นเด่นชัด และลูกค้าที่สั่งอาหารทางแอปพลิเคชัน จะจัดโปรโมชั่นจัดค่าส่งอาหารให้ในราคาพิเศษ โดยไม่ต้องเสียค่าส่งตามระยะทาง แต่มีเงื่อนไขทางร้านฯ ต้องเสียค่า Gross Profit (GP) หรือส่วนแบ่งจากยอดขายให้กับทาง APP Delivery
หวังดึงเข้าระบบเรียกเก็บ GP 25-30%
จากการสอบถามเจ้าของร้านอาหารรายหนึ่ง ซึ่งให้ข้อมูลว่า หลังจากทั้ง 3 ค่ายนำร้านเข้าสู่ระบบ APP Delivery ในช่วงกลางปี 2562 มียอดขายเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว แต่ประมาณช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ทาง APP Delivery ทั้ง 3 ค่าย ได้แจ้งจะทำการจัดระบบการสั่งอาหารผ่าน APP ใหม่ โดยเปิดโอกาสให้ร้านที่เคยร่วมทดลองระบบฯก่อนหน้านี้มาลงทะเบียนเพื่อคู่ค้าหรือพาร์ทเนอร์ธุรกิจ แต่มีเงื่อนไขจะมีการจัดเก็บ Gross Profit (GP) หรือส่วนแบ่งจากยอดขายให้กับทาง APP Delivery
“ช่วงนี้เท่าที่ทราบหลายร้านมียอดขายลดลงไปมาก เนื่องจากอยู่ระหว่างการลงทะเบียนและรอการอนุมัติจากการทำสัญญา”
โดยเจ้าหน้าที่ Lineman ระบุว่า หากเข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์แล้ว ทาง APP Lineman Food Delivery จะขึ้นเป็นร้านอาหารแนะนำ และโปรโมชั่นค่าส่งในราคาพิเศษให้กับผู้สั่งอาหาร แต่ทางร้านต้องเสียค่า Gross Profit (GP) หรือส่วนแบ่ง 30% จากยอดขาย และจะส่งบิลเรียกเก็บทุก ๆ สิ้นเดือน แต่ทาง Lineman ก็ไม่ได้บังคับ หากร้านค้าใดไม่เข้าร่วมก็ไม่ได้สิทธิพิเศษดังกล่าว ลูกค้าที่สั่งอาหารก็ต้องจ่ายค่าส่งอาหารตามระยะทาง
ขณะที่ Grab food มีเงื่อนไขเดียวกับ Lineman คือเสียค่า Gross Profit (GP) 30% เช่นกัน แต่ลูกค้าที่สั่งอาหารจะต้องชำระผ่านทาง APP Grab food โดยตรง และจะหักส่วนแบ่ง 30% ทันที จากนั้นทาง Grab food จะโอนค่าอาหารคืนให้กับร้านค้าแบบวันต่อวัน
ด้าน Get food ได้แจ้งให้ร้านอาหารที่สนใจเข้าร่วมอบรมกับโครงการ “เคล็ดลับจากร้อยสู่ล้านก้าวไปกับ Get food” ระหว่างวันที่ 3-24 ธันวาคม 2562 หากร้านค้าที่ลงทะเบียนทำสัญญาเป็นพาร์ทเนอร์ในช่วงวันดังกล่าวจะคิดค่า Gross Profit (GP) เพียง 25% เท่านั้น แต่หลังจากช่วงวันดังกล่าวจะคิด 30%
“จากการเรียกเก็บค่า GP ของทั้ง 3 APP ทางร้านจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาอาหาร เพราะถือเป็นค่าบริหารจัดการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า แต่คงปรับขึ้นไม่มาก เพราะเกรงจะกระทบกับทางลูกค้า แต่หากลูกค้ามาทานที่ร้านก็ยังคงขายในราคาเดิม” เจ้าของร้านอาหารรายเดิมกล่าว
ตลาดโตเฉียด 3 หมื่นล้าน
Food Delivery เป็นหนึ่งตลาดที่มีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด หลายค่ายมีจำนวนออเดอร์เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ไม่ว่าจะเป็น Food Panda ที่เข้ามาในประเทศไทยมากว่า 7 ปี มียอดการสั่งอาหารแตะล้านออเดอร์ได้แล้ว ขณะที่ Grab food มียอดสั่งอาหารผ่าน APP สูงถึง 4 ล้านออเดอร์ ภายใน 4 เดือน เทียบกับทั้งปี 2018 ที่ผ่านมา
ด้าน Line Man ที่กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 มีการเติบโตในแต่ละปีได้ไม่ต่ำกว่า 300% รวมไปถึงการเข้ามาแชร์ตลาดของน้องใหม่อย่าง Get food ก็มียอดออเดอร์เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าตลาดในกลุ่มนี้มีมูลค่าสูงถึงเกือบ 30,000 ล้านบาท
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจนี้มีการเติบโตอย่างน่าสนใจ จากปัญหาการจราจรทำให้เสียเวลาในการเดินทาง บางร้านต้องรอคิวนาน ผู้ริโภคก็สามารถสั่งอาหารล่วงหน้าได้ ,สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ,ความจำเป็นในครอบครัว , เลือกสั่งอาหารได้หลากหลาย ขณะที่ลูกค้าก็มีโอกาสในการเข้าถึงร้านอาหารใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น แม้จะมีค่าใช้จ่ายในเรื่องส่งอาหาร แต่หลาย ๆ ค่ายก็มีโปรโมชั่นส่วนลด โดยรวมแล้ว สะดวก ประหยัดกว่าการเดินทางไปที่ร้านด้วยตนเอง
อีกเหตุผลที่เป็นปัจจัยหนุนทำให้ธุรกิจนี้เติบโตแบบก้าวกระโดด มาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป จากการใช้สมาร์ทโฟน ซึ่งจากสถิติตัวเลขการใช้ Facebook ในกรุงเทพมหานครมีจำนวนสูงมากที่สุดในโลก ฉะนั้นการเข้าถึงธุรกิจออนไลน์จึงง่ายและเอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจนี้เป็นอย่างดี