สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมพิธีลงนามสัญญาจ้างบริการถอดรหัสพันธุกรรม โดยร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC และกิจการร่วมค้าไทยโอมิกส์ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 ที่ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร กระทรวงสาธารณสุข โดยมี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พร้อมด้วย นายแพทย์ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานพันธมิตรร่วมดำเนินงานภายใต้แผนจีโนมิกส์ประเทศไทย เป็นสักขีพยาน
ทั้งนี้ การจัดตั้งศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ เกิดขึ้นเพื่อดำเนินการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของอาสาสมัครคนไทยภายใต้แผนงานจีโนมิกส์ประเทศไทย จากอาสาสมัครที่ร่วมโครงการ จำนวน 50,000 ราย โดยศูนย์บริการฯ นี้จะจัดตั้งขึ้นภายในอาคาร 10 ปี เภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) อนุมัติให้จัดตั้งเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ โดยปี 2563 ที่ผ่านมา ได้มีการเตรียมการมาอย่างต่อเนื่องทั้งการกำหนดรายละเอียดทางด้านเทคนิค และวิธีการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม
นอกจากนี้ ความสำคัญของการพัฒนาการวิจัยด้านการแพทย์จีโนมิกส์ จะมีประโยชน์โดยเฉพาะทางการแพทย์ ที่จะศึกษาข้อมูลทางพันธุกรรม ค้นหาความผิดปกติบนจีโนมของประชากรไทยเพื่อเป็นฐานข้อมูลจีโนมอ้างอิง ตลอดจนเพื่อการศึกษาไปข้างหน้าแบบระยะยาว และเพื่อการวิเคราะห์ สังเคราะห์หาปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องระหว่างยีนกับสุขภาพ หรือการเกิดโรคต่างๆ โดยการถอดรหัสพันธุกรรมของคนไทยในแผนงานจีโนมิกส์ประเทศไทย มุ่งเป้าใน 5 กลุ่มโรค ได้แก่ กลุ่มโรคมะเร็ง โรคที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยและหายาก โรคติดเชื้อ โรคไม่ติดต่อ และกลุ่มเภสัชพันธุศาสตร์ ป้องกันการแพ้ยาและการเลือกใช้ยาที่เหมาะสม
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณสุขไทยครั้งสำคัญ ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับประเทศในเชิงของการศึกษาวิจัย และการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในทางการแพทย์ เพื่อช่วยในการวินิจฉัย รักษา และป้องกันโรค ได้อย่าง
แม่นยำมากขึ้น ในรูปแบบที่เราเรียกว่า “การแพทย์แม่นยำ หรือ precision medicine” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำไปใช้ในการรักษาที่อยู่ในระบบประกันสุขภาพไทย ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง เกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรง ทั้งยังส่งผลให้ประเทศไทยสามารถลดอัตราการเกิดโรคลงได้ถึงร้อยละ 10
“นอกจากนี้ ผลที่ได้จากการศึกษาวิจัย จะช่วยต่อยอดทั้งการรักษาพยาบาล การส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการใหม่ให้เกิดขึ้นทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงการขยายตัวทางธุรกิจต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์จีโนมิกส์ ซึ่งถือเป็นการลงทุนและวางรากฐานเศรษฐกิจภายในประเทศให้เข้มแข็ง พร้อมที่จะเชื่อมโยงกับเวทีโลก หรือก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลรหัสพันธุกรรมต่อไปในอนาคต” ดร.สาธิต กล่าว
นายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า หัวใจสำคัญของโครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หน้าที่ของ สวรส.คือจะต้องจัดการถอดรหัสพันธุกรรมของคนไทยจากอาสาสมัครที่เป็นตัวอย่าง 50,000 รายภายในระยะเวลา 5 ปี สวรส. ได้ร่วมกับ สกพอ. ดำเนินการคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีความรู้ ความสามารถ ซึ่งดำเนินการคัดเลือกในรูปของคณะกรรมการกำหนดรายละเอียดขอบเขตงานจ้างบริการถอดรหัสพันธุกรรมทั้ง
จีโนม ซึ่งความยากของการดำเนินงานในโครงการนี้มีอยู่ 2 เรื่อง คือ 1.การจัดจ้างเป็นการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่ใหม่มาก จึงเลือกพื้นที่จัดตั้งศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการเอกชนเข้ามาลงทุน และ 2.เป็นการประกวดราคาที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ภายใต้เงื่อนไขว่าผู้ประกอบการต้องเป็น ผู้นำเข้าเทคโนโลยี และต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าว รวมทั้งต้องมีบุคลากรสัญชาติไทยร่วมอยู่ในโครงการด้วย
นายแพทย์นพพร กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม การแพทย์จีโนมิกส์ เป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่สำหรับการรักษาพยาบาลและการวิจัยทางการแพทย์ ดังนั้น การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านการแพทย์จีโนมิกส์ ภายใต้แผนงานจีโนมิกส์ประเทศไทย จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะนำไปสู่การยกระดับประเทศ ทั้งในด้านคุณภาพชีวิตของประชาชน และการพัฒนางานวิจัยที่สอดคล้องกับปัญหาสาธารณสุขปัจจุบัน ตลอดจนเกิดการแข่งขันทั้งทางด้านอุตสาหกรรมและบริการการแพทย์สมัยใหม่ รองรับความต้องการของประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า ความร่วมมือฯ ในวันนี้ ถือเป็นก้าวแรกในการส่งเสริมการบริการสมัยใหม่ที่มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ด้านการแพทย์จีโนมิกส์ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1. ด้านการแพทย์และสาธารณสุข จะทำให้ดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนได้ดีขึ้น
2. ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้เกิดการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ จากการใช้ข้อมูล
ทางพันธุกรรม มีความร่วมมือด้านการแพทย์จีโนมิกส์กับสถาบันชั้นนำระดับโลก และเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี และ 3. ด้านเศรษฐกิจและสังคม เป็นการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
ภายในประเทศ ทั้งการลงทุนด้านการบริการการแพทย์แม่นยำและการพัฒนายาและเวชภัณฑ์จากข้อมูลจีโนมของคนไทย
นอกจากนี้ จะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์โดยเฉพาะการบริการสมัยใหม่ที่มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยเริ่มต้นจากการลงทุนศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ในพื้นที่ อีอีซี ก่อให้เกิดการจ้างงานบุคลากรสายวิชาชีพและสายสนับสนุนในพื้นที่ ทำให้เกิดรายได้และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ อีอีซี
สำหรับการลงนามสัญญาดังกล่าว ภายใต้แผนงานจีโนมิกส์ประเทศไทย เป็นความร่วมมือของหน่วยงานพันธมิตรรวม 22 หน่วยงานที่ร่วมขับเคลื่อน อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.), ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS), สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ
ภาคตะวันออก (สกพอ.), กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์,ทีมวิจัยคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รวมไปถึงมหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ขณะที่อีกความร่วมมือมาจากภาคเอกชน ที่มีกิจการร่วมค้าไทยโอมิกส์ร่วมดำเนินการ โดยกิจการร่วมค้าดังกล่าวประกอบไปด้วย บริษัท จีโนมิกส์ อินเวชั่น จำกัด บริษัทเอไอดี จีโนมิกส์ จำกัด และบริษัท เซินเจิ้น เจ่าจือเด้า เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนได้ร่วมกันขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาการนำข้อมูลพันธุกรรมมนุษย์มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทย