ท่าเรือเซี่ยงไฮ้มีความสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศและเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของจีน โดยใน ปี 2564 ท่าเรือเซี่ยงไฮ้มีตู้คอนเทนเนอร์ระหว่างประเทศที่เข้าออกท่าเรือกว่า 32 ล้านตู้ และตู้คอนเทนเนอร์ ภายในประเทศกว่า 6.3 ล้านตู้ ทำให้เซี่ยงไฮ้กลายเป็นท่าเรือสำคัญและเป็นท่าเรืออันดับหนึ่งของโลก ติดต่อกัน 12 ปี
อย่างไรก็ตาม ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ‘เซี่ยงไฮ้’ เริ่มมีประชาชนติดเชื้อโรคโควิด-19 รายวันมากกว่า 2,500 ราย ส่งผลให้ทางการเซี่ยงไฮ้ประกาศล็อกดาวน์เมืองโดยแบ่งออกเป็นสองช่วง ซึ่งช่วงแรกเป็นการล็อกดาวน์พื้นที่ทางฝั่งตะวันออกของเซี่ยงไฮ้ ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม – 1 เมษายน และช่วงที่สองเป็นการล็อกดาวน์ฝั่ง ตะวันตกระหว่างวันที่ 1-5 เมษายน
แต่เนื่องจากผู้ติดเชื้อรายวันยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนพุ่งทะยานเป็น หลักหมื่นต่อวันทำให้เซี่ยงไฮ้ประกาศขยายมาตรการล็อกดาวน์ทั้งเมืองและตรวจเชื้อโควิดด้วยวิธี PCR และ ATK จำนวนหลายครั้ง
สำนักข่าว The Paper ของจีนรายงานว่ามาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการ ขนถ่าย/ขนส่งสินค้าออกจากด่านเซี่ยงไฮ้ทำให้มีสินค้ากองอยู่ที่ลานเก็บสินค้าและคลังสินค้าที่ด่านจำนวนมาก โดยนับตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นมา สินค้าที่ได้รับการขนส่งออกจากด่านหลังจากเคลียร์ศุลกากร มีจำนวนไม่ถึงร้อยละ 50 ของสินค้าทั้งหมด โดยมีเพียงร้อยละ 35 ของสินค้าทางเรือ และร้อยละ 49.1 ของ สินค้าทางอากาศที่ถูกขนส่งออกไป

ขณะที่ กระทรวงคมนาคมจีนได้ ออกมาตรการเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของท่าเรือและท่าอากาศยานเซี่ยงไฮ้ รวมทั้งศุลกากรเซี่ยงไฮ้ก็ได้ออกมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารท่าเรือและท่าอากาศยานภายใต้ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อรับประกันการขนส่งทางเรือและอากาศให้ดำเนินไปอย่างปกติ
จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการล็อกดาวน์เมืองทำให้ท่าเรือนำเข้าและส่งออกเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นท่าเรือที่สำคัญของโลกได้รับผลกระทบไม่น้อย ปริมาณการส่งออกสินค้าจากเซี่ยงไฮ้ไปยังต่างประเทศ ลดลง ค่าขนส่งทางเรือลดลง นอกจากนี้ ท่าเรือเซี่ยงไฮ้ยังได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมและป้องกัน โรคโควิด-19 อย่างหนักซึ่งทำให้เกิดความล่าช้าในหลายๆ ด้าน ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการไทยที่จะส่งสินค้ามาเซี่ยงไฮ้หรือผ่านด่านเซี่ยงไฮ้ควรศึกษาและติดตามสถานการณ์ กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้เลือกช่องทางการขนส่งที่เหมาะสม