โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข M82 สายบางขุนเทียน-ปากท่อ ช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว เป็นหนึ่งในโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) และเป็นหนึ่งในโครงการตามแผนปฏิบัติการ ด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน (Action Plan) ของกระทรวงคมนาคม
โดยโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดบนถนนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) ในการเดินทางลงสู่พื้นที่ภาคใต้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดภาระด้านงบประมาณของภาครัฐ และเป็นการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยนำความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญมาบริหารจัดการโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ล่าสุด กรมทางหลวงได้จัดงาน “การสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางขุนเทียน-ปากท่อ ช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว” เพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนในการ พิจารณารูปแบบการร่วมลงทุนโครงการ
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ทล.ได้จัดงานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการทางยกระดับหมายเลข 35 ช่วงบางขุนเทียน-วังมะนาว แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ช่วงบางขุนเทียน-มหาชัย ระยะทาง 10 กม. วงเงิน 1.05 หมื่นล้านบาท และระยะที่ 2 ช่วงมหาชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 15 กม. วงเงินลงทุนรวมกัน 4.8 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 2.96 หมื่นล้านบาท ค่าดำเนินงานและบำรุงรักษาตลอดอายุสัมปทาน 1.61 หมื่นล้านบาท ค่าก่อสร้างด่านงานระบบ 1.26 พัน ค่าเวนคืนที่ดิน 640 ล้านบาท และอื่น ๆ 670 ล้านบาท
สำหรับรูปแบบที่คาดว่าจะนำมาใช้คือการร่วมทุนแบบ PPP Net Cost โดยฝ่ายรัฐจะลงทุนงานก่อสร้างเฟสแรก 1.05 หมื่นล้านบาท ขณะที่เอกชนลงทุนงานก่อสร้างเฟส 2 และงานบริหารรวมถึงบำรุงรักษาตลอดเส้นทางเฟส 1-2 รวมมูลค่า 3.16 หมื่นล้านบาท โดยเอกชนต้องลงทุนเองทั้งหมด พร้อมงานบริหารและรับความเสี่ยงพร้อมแบ่งรายได้ให้รัฐตามสัดส่วนที่ตกลงกัน บนอายุสัมปทาน 33 ปี แบ่งเป็นก่อสร้าง 3 ปี และงานบริหาร 30 ปี โดยมีกรรมสิทธิ์โครงการแบบ BTO คือภาคเอกชนต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้รัฐบาลทั้งหมด เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้ว คาดว่าจะเปิดประมูลปี 2562-2563 เริ่มต้นก่อสร้างปี 2563 และเปิดให้บริการในปี 2566
ส่วนตัวเลขคาดการณ์ปริมาณจราจรในโครงการนี้นั้น ในปีแรกที่เปิดให้บริการอยู่ที่ 48,000 คัน/วัน แบ่งเป็นสัดส่วนรถยนต์ 4 ล้อ 85% และรถยนต์ขนาด 6 ล้อขึ้นไป 15% ก่อนเพิ่มเป็น 100,000 คันในปี 2036 คิดเป็นปริมาณเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว ก่อนจะเติบโตไปจนถึงระดับ 220,000 คัน/วัน ในปี 2051 ส่วนด้านประมาณการรายได้ในปีแรกที่เปิดบริการนั้นอยู่ที่ 1,095 ล้านบาท คิดเป็น 3ล้านบาท/วัน ก่อนจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ปีละ 3,650 ล้านบาท ในปี 2036 คิดเป็นการขยายตัว 233% หรือคิดเป็น 10 ล้านบาท/วัน ก่อนจะมีรายรับช่วงปลายสัมปทานในปี 2051 จะอยู่ที่ 8,030 ล้านบาท คิดเป็น 22 ล้านบาท/วัน
ขณะที่อัตราค่าผ่านทางของโครงการนี้นั้น สำหรับรถยนต์ 4 ล้อมีค่าแรกเข้า 10 บาท และคิดเพิ่ม 2 บาท/กม. ขณะที่รถบรรทุก6 ล้อ จะมีค่าแรกเข้า 16 บาท และคิดเพิ่ม 3.2 บาท/กม. ส่วนรถบรรทุก 10 ล้อ จะมีค่าแรกเข้า 23 บาท และคิดเพิ่ม 4.6 บาท/กม. ส่งผลให้ประมาณการค่าใช้จ่ายตลอดเส้นทางช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ระยะทาง 25 กม. แบ่งเป็น รถยนต์ 4 ล้อ 60 บาท รถบรรทุก 6 ล้อ 96 บาท และรถบรรทุก 10 ล้อ 138 บาท
ทั้งนี้ รูปแบบโครงการจะเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร กว้างช่องจราจรละ 3.6เมตร โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณจุดเชื่อมต่อทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก และมีจุดสิ้นสุดโครงการช่วงบ้านแพ้ว ทั้งนี้ตามแผนนั้นจะต่อขยายเฟส 3 ไปวังมะนาวเพื่อบรรจบกับมอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ
อย่างไรก็ดี การเปิดเวทีในครั้งนี้ มีภาคเอกชนเข้าร่วมอย่างคึกคัก ทั้งจากในประเทศและนอกประเทศ รวมเอกชนเจ้าใหญ่ จำนวน 19 ราย แบ่งเป็น งานก่อสร้าง 16 ราย อาทิ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD บริษัท บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC เป็นต้น ส่วนด้านงานระบบ มีสนใจ 3 ราย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสถาบันการเงินอย่างธนาคารญี่ปุ่นอีกด้วย