ในช่วงปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไทยต่างได้รับข่าวสารการต่อสู้กันในเวทีการค้าโดยใช้มาตรการด้านภาษีนำเข้าระหว่าง 2 มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก ทั้ง จีนและ สหรัฐอเมริกา โดยสหรัฐมองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำการค้ากับจีน โดยอย่างยิ่งสหรัฐฯมียอดขาดดุลการค้ากับจีนที่มีมูลค่าสูงที่สุดราว 3.75 แสนล้านดอลลาร์ ด้วยเหตุนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จึงได้จุดชนวนสงครามการค้ากับจีนขึ้นนับตั้งแต่ต้นปี 2561 ที่ผ่านมา อาทิ การขึ้นภาษีนำเข้าเครื่องซักผ้าและส่วนประกอบเครื่องซักผ้าเป็นเวลา 3 ปี ในอัตรา 16-50% การขึ้นภาษีนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์เป็นเวลา 4 ปี ในอัตรา 15-30% ถัดมาในเดือนมีนาคม สหรัฐฯ ขึ้นภาษีการนำเข้าเหล็กในอัตรา 25% และอะลูมิเนียมในอัตรา 10% และเพื่อเป็นการตอบโต้มาตรการดังกล่าวของสหรัฐฯ รัฐบาลจีนได้เพิ่มอัตราภาษีการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ที่มีมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านเหรียญ ในอัตรา 15-25%
สงครามการค้าที่ได้ถูกจุดชนวนขึ้น ทวีความเผ็ดร้อนต่อเนื่อง กลางปี 2561 สหรัฐฯ มีการขึ้นภาษีการนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่าประมาณ 50,000 ล้านเหรียญ ในอัตรา 25% โดยสินค้าดังกล่าวส่วนใหญ่ประกอบด้วย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล อุปกรณ์การขนส่ง ยานพาหนะ และได้มีผลบังคับใช้สำหรับสินค้ามูลค่าประมาณ 34,000 ล้านเหรียญ ในขณะที่ทางฝั่งจีนนั้นก็ได้มีการตอบโต้ในทันทีด้วยการออกมาตรการทางด้านภาษีในมูลค่าเท่ากัน โดยภาษีของจีนนั้นได้มุ่งเน้นไปที่สินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ที่รวมถึงอาหาร สินค้าทางการเกษตร และรถยนต์
นอกจากสงครามการค้าส่อเค้าจะบานปลายไปในยุโรป ซึ่ง ทรัมป์ ก็ได้ขู่ที่จะเพิ่มภาษีการนำเข้ารถยนต์จากสหภาพยุโรปขึ้นเป็น 20% จาก 2.5% ด้วย ก่อนที่หันมากัดจีนอีกครั้ง เมื่อทางการสหรัฐฯ ประกาศว่าตนจะประกาศรายการสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 200,000 ล้านเหรียญที่จะโดนเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นในอัตรา 10% ในเดือนกรกฎคม 2561 ผลคือในช่วงเวลาไตรมาส 2 ถึง ไตรมาสสุดท้าย เศรษฐกิจโลกต่างซบเซาต่อเนื่อง ข้อดีอย่างเดียวคือ ทำให้ราคาน้ำมันลดลงด้วย
ใครได้ ใครเสีย
ความพยายามในการเปิดศึกสงความการค้าของสหรัฐฯ ในมุมเศรษฐกิจ ประโยชน์ที่สหรัฐฯได้รับหลักใหญ่คือการสกัดกั้นและรีดภาษีจากประเทศจีน เพื่อชดเชยส่วนต่างที่สหรัฐฯเสียดุลการค้า อีกทั้งสหรัฐต้องการสกัดแผน “เมดอินไชน่า 2025” ของจีน และยังสามารถจำกัดปริมาณสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่ราคาต่ำกว่าที่ผลิตในประเทศ อาทิ เหล็กกล้าและอลูมิเนียม ซึ่งไม่เพียงแค่จีน ทำให้สามารถแก้ปัญหาข้อตกลงการค้าเสรีกับเกาหลีใต้ได้สำเร็จและจำกัดปริมาณเหล็กกล้าที่จะเข้ามาจากเกาหลีใต้ต่อปี ขณะที่ส่วนอื่นๆ กลับไม่มีผลรับที่ชัดเจน
ขณะที่ข้อเสียจากการเปิดสงครามการค้า แน่นอนว่าทำให้เศรษฐกิจโลกซบเซาและต่างได้รับผลไปทั่วโลก ราคาสินค้าในสหรัฐฯอเมริกาแพงขึ้น ทั้งสหรัฐอาจสูญเสียตลาดส่งออกสินค้าหลักหลายรายการเนื่องจากกำแพงภาษีนำเข้าที่จีนตั้งตอบโต้กลับ ทั้งผลิตภัณฑ์ของ Apple, Microsoft, Intel ซึ่งสหรัฐฯต้องพึ่งพาโรงงานผลิตที่จีนอาจได้รับผลกระทบหนัก
ขณะที่ในมุมของจีน แน่นอนว่าจีนก็ได้รับผลจากเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาเช่นเดียวกับสหรัฐฯ แต่ปัจจุบันจีนจะรักษาดุลการค้าของตัวเองผ่านทางมาตรการตอบโต้สหรัฐ และ จีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าอเมริกา 25% 128 รายการ โดยเฉพาะ เนื้อหมู , ถั่วเหลือง ที่จะทำให้สินค้าอุปโภค บริโภคในสหรัฐ แพงขึ้น แต่ในทางกลับกัน จีนก็เสียตลาดส่งออกในส่วนของเหล็กกล้าและอลูมิเนียน ในสหรัฐฯ และได้รับผลกระทบจากการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของอเมริกา ทั้งหมด 1,300 รายการ… แน่นอน บริษัทหัวเว่ย ของจีนก็ไม่รอดในกรณีนี้
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ 20 แห่ง หรือจี 20 ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ท่าทีของทั้ง ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ และ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ของมหาอำนาจที่ก่อหวอด ‘สงครามการค้า’ ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ต้นปี 2561เริ่มมีทีท่าที่อ่อนลงและส่อเค้าว่าจะลงเอยด้วยดี โดยทั้ง ‘ทรัมป์’ และ ‘สี ’ ตกลง ‘พักรบ’ ชั่วคราว โดยจะจะเลื่อนการใช้มาตรการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าระหว่างกันออกไปอีก 90 วัน จากเดิมที่กำหนดไว้ว่าจะเริ่มใช้อัตราภาษีใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ปี2562 เป็นต้นไป และจะเดินหน้าเจรจาเพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งด้านการค้า…
ทว่านักเศรษฐศาสตร์ทั้งไทยและต่างประเทศต่างลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า ข้อตกลงภายในการประชุม จี 20 เป็นเพียงช่วงเวลาพักรบเพียงระยะสั้น และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน จะเริ่มขึ้นและยืดเยื้อไปอีกหลายปี เพราะทั้งสหรัฐฯและจีนต่างเล็งเห็นข้อผิดพลาดในช่วงที่ผ่านมาแล้ว ในการปรับขึ้นภาษีนำเข้าในส่วนของสินค้า ดังนั้นมาตรการตอบโต้กันทางภาษีในช่วงหลังจากนี้ จะแนบเนียนและเผ็ดร้อนยิ่งขึ้น
ในขณะที่สงครามการค้ากับผลกระทบของประเทศไทย เห็นได้ชัดเจนว่าช่วงที่ผ่านมา ทางสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ หรือ สรท. ให้ข้อมูลผลกระทบด้านการส่งออกของการเกิดสงครามการค้า ตัวเลขการส่งออกจะหดเหลือ 8 % จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ 9 % กล่าวคือในช่วงกลางปี ผลกระทบในช่วงสงครามการค้าไม่มีผลที่เด่นชัดนัก ทาง สรท.จึงไม่ค่อยให้น้ำหนักเท่าไหร่ แต่ตัวเลขที่ลดลงเพิ่งจะประกาศเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาและ คาดตัวเลขส่งออกมีหน้าจะโตได้แค่ 5 % ซึ่งก็คือได้เห็นผลกระทบจากสงครามการค้าที่ชัดเจนจากตัวเลขส่งออกนั่นเอง เพราะแน่นอนว่ายักษ์ใหญ่สองตนตีกันย่อมจะเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘กุ้งฝอย’ อย่างประเทศไทย ซึ่งการเติบโตของ จีดีพี กว่า ร้อยละ 70 ของประเทศ คือภาคการส่งออก โดยในปี 2560 ไทยมีตัวเลขส่งออกไปจีนเป็นอันดับ 1 มีมูลค่า 730,403.4 ล้านบาท และ ตลาดส่งออกอันดับที่ 2 คือ สหรัฐฯ มีมูลค่า 672,802.0 ล้านบาท ด้วยเหตุนี้ การสกัดกั้นสินค้าโดยสหรัฐฯและจีนขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกัน ประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตและผู้ส่งออกวัตถุดิบขั้นต้นและขั้นกลาง ไปยังสองประเทศที่กำลังตั้งกำแพงภาษีเพื่อสกัดกั้นสินค้าของอีกฝ่าย ภาพความซบเซาและหดตัวของการส่งออกจึงเห็นได้ชัดเจนมาตั้งแต่กลางปี 2561
อย่างไรก็ตามความรุนแรงของสงครามการค้าระหว่าง สหรัฐฯและจีน จากการประเมินของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าในปี 2562 ผลกระทบจากสงครามการค้าของสหรัฐฯ กับจีนจะชัดเจนมากขึ้น และถ้าหากส่งผลยืดเยื้อถึงสิ้นปีกระทบการส่งออกของไทยไปตลาดโลกเป็นมูลค่าราว 2,400-2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.5-0.6 ของ GDP โดยธุรกิจไทยในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็ก รถยนต์และชิ้นส่วนประกอบ
โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นเพราะสินค้าไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตสินค้าทั้งของประเทศจีน และสหรัฐอเมริกา จึงทำให้ทั้ง 2 ประเทศ นำเข้าสินค้าจากไทยลดลง อ้างอิงจากตัวเลขของศูนย์วิจัยกสิกรไทย สินค้าที่มูลค่าการส่งออกจะหายไปมากที่สุด คือ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทย ซึ่งจากการที่ทั้ง 2 ประเทศขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างกันเป็น 10% มูลค่าการส่งออกสินค้าดังกล่าวของไทยจะลดลง 343 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่หาก 2 ประเทศปรับขึ้นภาษีเป็น 25% ในปี 2562 จะมีมูลค่าจะหายไป 758 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาเป็นสินค้าเคมีภัณฑ์, ยางและพลาสติก, เครื่องใช้ไฟฟ้า, ผลิตภัณฑ์จากไม้ และ ไม้ยางพาราแปรรูปของไทยที่ปัจจุบันย่ำแย่อย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ในอีกมุม สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ทำให้หลายๆ โรงงานโดยเฉพาะในกลุ่มยานยนต์และไอที ต่างหันมาให้ความสนใจย้ายฐานการผลิตในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของโครงระเบียบเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งความคืบหน้าด้านนี้ ภายในต้นปี 2562 นี้จะเห็นผลที่ชัดเจนขึ้น