ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย ประเมินการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทในประเทศจะแตะล้านคันในปี 2571 โดยเพิ่มขึ้นจากยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดเป็นหลัก ตามทิศทางของผู้ผลิตขนาดใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิต ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยและห่วงโซ่อุปทานที่เป็นผู้ผลิตยานยนต์สันดาปภายในยังคงเป็นที่ต้องการทั้งในและต่างประเทศ แต่ในระยะยาว คาดกระแสเมกะเทรนด์ที่มุ่งไปสู่เศรษฐกิจพลังงานสะอาดจะทำให้ยานยนต์แบบปราศจากการปล่อยมลพิษเข้ามาทดแทนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เผยจะกระทบตลาดชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยอย่างน้อย 20% ของรายได้ของผู้ผลิตชิ้นส่วนในตลาดทั้งหมด
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมา การแพร่ระบาด COVID-19 พ่นพิษต่อเศรษฐกิจทั่วโลกจนเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้ากลับเติบโตอย่างก้าวกระโดด สะท้อนจากยอดขายยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกที่สูงถึง 3.2 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 43% เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มียอดจดทะเบียนสูงถึง 3 หมื่นคัน หรือขยายตัวถึง 13% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สวนทางยอดขายรถยนต์รวมที่ลดลง 21%
“เราเริ่มเห็นการตื่นตัวจากภาครัฐในต่างประเทศในการแก้ไขประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมตามข้อตกลงปารีส โดยเฉพาะนโยบายยกเลิกการขายยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ควบคู่ไปกับการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม เช่นเดียวกับการปรับตัวของผู้ผลิตชั้นนำในอุตสาหกรรมยานยนต์โลกที่หันไปทำตลาดยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ตลอดจนความสนใจของผู้บริโภคเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าที่มากขึ้นกว่าแต่ก่อน เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้จำนวนยานยนต์ไฟฟ้าสะสมทั่วโลกมีโอกาสแตะระดับ 25-45 ล้านคันได้ภายในปี 2573 จาก 10 ล้านคันในปัจจุบัน”
ด้าน ดร.มานะ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการฝ่าย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยนั้น ด้วยยอดใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสะสมในประเทศ ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่เพียง 1.9 แสนคัน หรือคิดเป็น 1% ของยานยนต์ทั้งหมด ถือว่ายังมีขนาดเล็กและอยู่ในช่วงเริ่มต้นเมื่อเทียบกับประเทศชั้นนำอื่นๆ
อย่างไรก็ดี ข้อได้เปรียบของไทยในการเป็นฐานผลิตยานยนต์เครื่องยนต์ ICE แบบดั้งเดิมมาอย่างยาวนาน ประกอบกับกลยุทธ์การทำตลาดของผู้ผลิตยานยนต์ OEM ในประเทศที่ยังคงเน้นทำตลาดยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดตามบริษัทแม่ในญี่ปุ่น จะเป็นส่วนเสริมให้ยอดใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสะสมในประเทศมีโอกาสแตะ 1 ล้านคันได้ในปี 2571 หรือขยายตัวเฉลี่ยราว 24% ต่อปี จากยอดใช้ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดที่คาดว่าจะมีสัดส่วนสูงถึง 93% ของยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด ทั้งนี้ Krungthai COMPASS ชี้ว่ามาตรการภาครัฐที่สนับสนุนทั้งผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค จะเป็นส่วนสำคัญให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยมีโอกาสต่อยอดเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดที่แข็งแกร่งของภูมิภาคในอนาคตต่อไป
ขณะที่ นางสาวพิมฉัตร เอกฉันท์ นักวิเคราะห์ กล่าวเสริมว่า การเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดของไทย นอกจากจะช่วยรักษาตลาดผู้ผลิตในกลุ่มเครื่องยนต์ ICE ในประเทศ รวมถึงห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องในระยะปานกลางแล้ว ยังส่งผลดีต่อผู้ผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และผู้ผลิตวัสดุน้ำหนักเบาและแข็งแรงอีกด้วย อย่างไรก็ดี ในระยะยาวที่สัดส่วนยานยนต์ปราศจากการปล่อยมลพิษ (Zero Emission Vehicle) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยตามกระแสเมกะเทรนด์ที่กำลังเดินหน้าไปสู่เศรษฐกิจพลังงานสะอาด (Green Economy) ย่อมจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนในกลุ่ม Powertrain และ Engine ซึ่งมีมูลค่าตลาดสูงถึงเกือบ 3 แสนล้านบาท หรือประมาณ 20% ของรายได้ของผู้ผลิตชิ้นส่วนในตลาดทั้งหมด