นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการดำเนินการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงแนวใหม่ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เพื่อรองรับการคมนาคมและการขนส่งระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งขณะนี้กรมทางหลวง (ทล.) ได้ดำเนินการโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 1421 สายเชียงราย – อำเภอขุนตาล แล้วเสร็จตลอดสาย ระยะทาง 48.19 กิโลเมตร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้สามารถเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย
โดยที่ผ่านมา ทล. โดยสำนักก่อสร้างทางที่ 1 ได้ดำเนินการถนนสายดังกล่าว แล้วเสร็จ รวมระยะทาง 29.19 กิโลเมตร และเปิดให้บริการแก่ประชาชนไปแล้ว แต่ยังคงเหลือ ตอน บ้านหัวดอย – บ้านใหม่มงคล เป็นช่วงสุดท้าย มีจุดเริ่มต้นที่ กม. 0+000 ของทางหลวงหมายเลข 1152 บริเวณบ้านหัวดอย ตำบลท่าสาย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย และสิ้นสุดที่ กม. 19+000 บ้านผางาม ตำบลผางาม อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย รวมระยะทาง 19 กิโลเมตร มีลักษณะการก่อสร้างเป็นแนวทางตัดใหม่และตามแนวทางหลวงหมายเลข 1152 เดิมมีขนาด 2 ช่องจราจร (ไป – กลับ) เป็นแบบมาตรฐานทางชั้นพิเศษ ขนาด 4 ช่องจราจร (ไป – กลับ) ช่องจราจรกว้าง 3.50 เมตร ผิวจราจรและไหล่ทางแบบแอสฟัลต์คอนกรีต แบ่งทิศทางการจราจรแบบเกาะร่องและเกาะกลางแบบยก พร้อมทั้งก่อสร้างสะพานข้ามหนองหลวง จำนวน 2 แห่ง ขนาดความยาว 870 เมตร ความกว้าง 11 เมตร
และทางเท้ามีความกว้าง 2.75 เมตร ตลอดแนวทั้งสองฝั่ง นับเป็นสะพานที่ยาวที่สุดของภาคเหนือที่มีการออกแบบและก่อสร้างจุดจอดรถบริเวณด้านล่างสะพาน พร้อมทางเดินไปจุดเชื่อมต่อขึ้นบันไดไปบนสะพานเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน สามารถเดิน – วิ่งออกกำลังกาย หรือปั่นจักรยาน อีกทั้งเป็นจุดชมทัศนียภาพของนักท่องเที่ยวสร้างมูลค่าต่อท้องถิ่นอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน ได้ดำเนินการติดตั้งป้ายจราจร ป้ายเตือนต่าง ๆ รวมทั้งไฟฟ้าแสงสว่างตลอดสายทาง วงเงินงบประมาณ 1,088,088,000 บาท
ทั้งนี้ โครงการฯ ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการแก่ประชาชนตลอดสายทางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมและการขนส่งในภาคเหนือ ลดระยะเวลาในการเดินทาง สนับสนุนการพัฒนาพื้นที่การค้าการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว เพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งระหว่างจังหวัดเชียงราย – สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 สู่ประเทศเพื่อนบ้าน (R3A) ไทย – สปป.ลาว – สาธารณรัฐประชาชนจีน (คุณหมิง) และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้