สหพันธ์ขนส่งฯ จับมือ 10 สมาคมรถใหญ่ บุกกรมขนส่งฯ ยับยั้งนโยบายเปลี่ยนเวลารถบรรทุกวิ่งเข้าออกกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ย้ำรถใหญ่ไม่ใช่ตัวปัญหาเรื่องรถติด รอเคลียร์ “ศักดิ์สยาม” เพื่อจบปัญหาทีเดียว
คุณอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2562 ที่ผ่านมา สหพันธ์ฯ พร้อม 10 สมาคมรถบรรทุกและรถบัส ได้แก่ สมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไป, สมาคมขนส่งสินค้า จ.ตาก, สมาคมขนส่งสินค้าภาคอีสาน, สมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย, สมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย, สมาคมรถบรรทุกภาคตะวันตก, สมาคมขนส่งสินค้าเพื่อการนำเข้าและส่งออก, สมาคมผู้ประกอบการรถเครน, สมาคมผู้ประกอบการขนส่งแหลมบัง จ.ชลบุรี และสมาคมโลจิสติกส์และขนส่งภาคใต้ ได้เข้าร่วมประชุมหารือกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เพื่อเป็นข้อมูลดำเนินการตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เกี่ยวกับการปรับเวลาเดินรถบรรทุกขนาด 10 ล้อขึ้นไป เข้ากรุงเทพฯ และปริมณฑล
เนื่องจาก รมว.คมนาคม มีนโยบายแนวคิดที่จะแก้ไขปัญหาจราจร โดยปรับเวลาเดินรถของรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป ให้เข้าเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้เวลา 24.00-04.00 น. เท่านั้น จากเดิมให้เดินรถได้ ในเวลา 10.00-15.00 น. โดยผลสรุปที่ประชุมทางสหพันธ์ฯ และสมาคมบรรทุกมองว่า การที่จะปรับเปลี่ยนเวลาเดินรถนั้นทำให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ใช้เวลาขนส่งสินค้าประมาณ 4-5 ชม. จากเดิมใช้เวลา 10 กว่า ชม. ซึ่งเวลาเดิมจะเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนเข้าที่ทำงานทั้งหมดแล้ว ไม่กระทบเวลานักเรียนเลิกโรงเรียนด้วย ทำให้ไม่กระทบหรือสร้างปัญหาด้านจราจรติดขัด ซึ่งมองว่าปัญหาการสร้างจราจรติดขัดคือการขับรถที่ต้องรู้และเคารพกฎระเบียบด้านจราจรและมีมารยาทมากกว่า ปกติถ้าถนนมีขนาด 3-4 ช่องจราจร แต่มีการขับเบียดหรือสร้างเลนใหม่ขึ้นมาเพิ่ม ทำให้รถติดและต้องแก้ไขให้ดี
ทั้งนี้ ยังมีข้อเสนอในการเปลี่ยนเวลาเดินรถว่าต้องนำรถปิคอัพมาขนถ่ายสินค้าจากรถบรรทุกนั้น ยิ่งจะสร้างปัญหาและรายได้มากขึ้น เพราะรถบรรทุกสินค้า 1 คัน ต้องใช้รถปิคอัพมาขนถ่ายสินค้าถึง 18 คัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก ขณะเดียวกันหากจะกระทำได้ต้องย้ายโรงงานขนาด SME ออกจากพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ และปริมณฑลทั้งหมด ขณะเดียวกันต้องสร้างศูนย์กระจายสินค้าที่อยู่รอบพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้รถบรรทุกไม่ต้องเข้ามาในกรุงเทพฯ โดยต้องวางระบบการทำงานให้ดี โดยทางผู้ประกอบการพร้อมให้ความร่วมมือ เพราะปัจจุบันไม่ต้องการที่นำรถบรรทุกเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่แล้ว เพราะต้องเจอปัญหารถติด จึงมองว่าเวลาเดินรถในช่วงเวลาดังกล่าวเหมาะสมแล้ว
ส่วนปัญหามลภาวะฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) นั้น มีแนวนโยบายต้องการให้ผู้ประกอบการรถบรรทุกเปลี่ยนมาใช้มาตรฐานรถยูโร 5 มองว่าไทยยังไม่มีความพร้อม ทั้งด้านโรงกลั่นผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ชิ้นส่วนสำหรับซ่อมแซมรถบรรทุก ที่นำเข้าจากต่างประเทศยังเป็นวัสดุแบบเดิมอยู่ เพราะราคาถูก ที่สำคัญการเปลี่ยนมาตรฐานรถยังมีต้นทุนที่สูงขึ้น จากเดิมรถบรรทุกมีต้นทุนคันละ 2 ล้านกว่าบาท ขณะที่ใช้มาตรฐานยูโร 5 ต้นทุนอยู่ที่คันละ 3-4 ล้านบาท โดยนโยบายดังกล่าว ขบ. และ กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างพิจารณา นอกจากนี้ให้แก้ไขปัญหาผู้ดูแลระบบ GPS (Vendor) ให้มีความรับผิดชอบหลังการใช้กับผู้ประกอบการรถบรรทุกมากขึ้น เพราะปัจจุบันถ้าจำหน่ายและติดตั้งระบบGPS แล้ว หากไม่ได้ประสิทธิภาพและจะมีการจำหน่ายราคาที่สูงไม่ได้รับความยุติธรรม
รวมทั้งการแก้ปัญหาการคัดค้านพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จราจรทางบก พ.ศ. 2562 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 ก.ย.นี้ เนื่องจากสหพันธ์ขนส่งฯ ได้รับผลกระทบโดยตรงจากกฎหมายดังกล่าว อีกทั้งในหลายมาตรา ได้สร้างความเดือดร้อนกับผู้ประกอบการขนส่งเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบทโทษปรับที่จะสูงขึ้น 5 เท่าด้วย จากเดิมที่มีการปรับ 1 เท่า เช่น เดิมเคยปรับ 1,000 บาท จะปรับเป็น 5,000 บาท ซึ่งมองว่าโหดร้ายเกินไป และการแก้ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การเสียค่าปรับ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ ขบ. จะสรุปผลการประชุม เพื่อเสนอ รมว.คมนาคม ต่อไป จากนั้นทาง รมว.คมนาคม จะนัดผู้ประกอบการรถบรรทุก เพื่อไปประชุมหารือและแก้ปัญหาอีกครั้ง
…มุมมืด