ข้อควรทำ&อย่าหาทำ!ในการทำเติมลมยาง“พี่ใหญ่”
ขึ้นชื่อว่า“พี่ใหญ่”บนท้องถนนอะไรก็ต้องใหญ่เป็นเงาตามตัวโดยเฉพาะกายภาพที่ทั้งใหญ่-ยาว พี่คนขับก็ต้องพึงระวังและมีความรับผิดชอบต้องยิ่งใหญ่แต่ไม่ใช่ใจใหญ่ตามตัวรถ เพราะหากประมาทแล้วเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ขึ้นมาความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินยากที่จะชดเชยได้ รวมไปถึงการใส่ใจและบำรุงรักษาตัวรถก็ต้องให้ความสำคัญมากกว่าน้องเล็กบนท้องถนน ไม่เว้นแม้แต่การเติมลมยางก็ต้องให้พึงระวังและให้ความสำคัญให้จงหนัก
เพราะหากผิดพลาดไปกระทำการที่ไม่ควรเวลาเติมลมยางมาย่อมนำมาซึ่งอะไรที่ใหญ่ๆเช่นกัน ไม่ว่าการเสียเวลา-ค่าใช้จ่าย-มูลค่าเสียหายจากการนำส่งสินค้าไปถึงจุดหมายล่าช้า ดังนั้น สิงห์รถบรรทุกก็ต้องไม่มองข้ามการเติมลมยาง พึงให้ระวังในข้อควรทำและไม่ไปแตะข้อห้ามทำโดยเด็ดเวลาเติมลมยาง
วันนี้ ขอนำเสนอข้อแนะนำในการเติมลมยางรถบรรทุกว่าสิ่งไหนควรทำ และสิ่งไหนไม่ควรทำ!
การเติมลมยางรถบรรทุกไม่ได้ระบุตายตัวว่าต้องเติมที่ความดันลมยางที่เท่าไหร่ แต่ขึ้นอยู่กับการใช้งานยางอยู่ในตำแหน่งไหน หากเป็น “ตำแหน่งเพลาขับ”ก็สามารถเติมลมยางได้ตั้งแต่ 85-100 psi ขึ้นอยู่กับขนาดยาง หากอยู่ที่“ตำแหน่งพ่วง”หรือ “ล้อลาก”ที่ต้องรับน้ำหนักการบรรทุกเยอะๆให้เพิ่มแรงดันเป็น 100-125 psi ตามขนาดยาง และยังสามารถเติมลมยางได้มากกว่า 130 psi ในยางขนาดใหญ่มากๆ หรือการบรรทุกสิ่งของน้ำหนักหลาย 10 ตัน
สิ่งที่ไม่ควรทำมีอะไรบ้าง?
– ห้ามปล่อยลมยางออกขณะที่ยางร้อน หรือเพิ่งจอดรถ
– ไม่ควรบรรทุกสิ่งของเกินกว่าน้ำหนักที่ระบุในสเปคยาง หากไม่ทราบควรปรึกษาผู้ที่มีความชำนาญ หรือติดต่อผู้ผลิตยางยี่ห้อนั้นๆ
เติมลมยางอย่างไร?ให้ปลอดภัย
1. เติมลมยางในคอกเติมลมนิรภัยเสมอ
2. เอาไส้ไก่ออกก่อนเติมลมยางเสมอ
3. ห้ามอยู่ในบริเวณวิถีการระเบิดขณะเติมความดันลมยาง
4. สวมรองเท้า และแว่นตานิรภัยเสมอขณะถอดหรือประกอบยาง
5. ความดันลมยางต้องไม่เกินขีดความสามารถในการรับความดันได้ของกระทะล้อ
6. มือ และ เท้าจะต้องไม่ไปอยู่ในคอกเติมลมยาง
7. หยุดเติมความดันลมยางทันที หากได้ยินเสียงประหลาด หรือเสียงที่บ่งบอกถึงการฉีกขาดในส่วนใดๆ ของยาง
ทั้งนี้ ความดันลมยางรถบรรทุก ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการดูแลรักษายางรถบรรทุกคือการใช้ความดันลมที่เหมาะสม ไม่มียางหรือยางในเส้นใดที่จะเก็บลมไว้ได้อย่างถาวร เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากสภาวะแรงดันลมอ่อน จะต้องตรวจเช็คและเติมลมให้กับยางรถของท่านอย่างสม่ำเสมอ เพราะ “ความดันลมยาง”มีผลกระทบโดยตรงกับสมรรถนะของยาง ทั้งกับอายุของหน้ายางและความทนทาน และยังส่งผลต่อการใช้งานอีกด้วย
ความดันลมยางที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ทำให้โครงยางมีการยุบตัวมากเกินไป ซึ่งจะส่งผลให้ยางเกิดความร้อนสะสมที่แก้มยางสูง แรงต้านทานการหมุนของยางเพิ่มขึ้น และเกิดการสึกหรอก่อนเวลา ในกรณีรุนแรงจะทำให้โครงยางเสียหายส่งผลให้เกิดยางระเบิดได้
ในทางกลับกันความดันลมยางที่สูงกว่ามาตรฐาน ซึ่งรถจะมีความรู้สึกขับได้เร็วขึ้น การออกตัวหรือบังคับเลี้ยวดีขึ้นอันเนื่องแรงดันลมที่มากช่วยผยุงรถให้ลอยสูงขึ้นจากพื้นผิวมา แต่จะทำให้การยึดเกาะถนนลดลง เกิดการลื่นไถลได้ง่ายเมื่อเจอสภาพพื้นถนนเปียก รวมทั้งส่งผลต่อการสึกหรอที่ผิดปกติของหน้ายางโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำแหน่งเพลาขับ
เพราะฉะนั้น “การเติมลมยาง”เพื่อให้ได้ระดับที่เหมาะสมนั้นต้องคำนึงถึง “น้ำหนักรถ”น้ำหนักสิ่งของที่บรรทุก “ความเร็ว”ที่ใช้ และ “สภาพถนน”ที่ใช้งานของรถคันนั้น เพื่อพิจารณาในการเติมลมยางให้เหมาะสม เพื่อจะทำให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดในการใช้งาน
และเพื่อความปลอดภัยควรใช้ความดันลมยางจากคู่มือรถ เปรียบเทียบกับความดันลมยางที่ระบุในสเปคยางแต่ละขนาด และควรชั่งน้ำหนักตกแต่ละเพลาของรถในขณะที่บรรทุกสิ่งของด้วย
การเติมหรือการวัดความดันลมยางควรทำขณะที่ยางเย็น และอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้วัดต้องมีความแม่นยำได้มาตรฐาน รวมถึงปฎิบัติตามคำแนะนำการใช้งานที่ผู้ผลิตเครื่องมือนั้นๆแนะนำ ขณะที่ฝาครอบวาล์วนั้นมีไว้เพื่อให้แน่ใจว่ามีการปิดอย่างแน่นหนา และยังเป็นการปกป้องส่วนภายในของก้านวาล์วอีกด้วย ก้านต่อก้านวาล์วควรปรับใช้งานให้เหมาะสม และอาจจำเป็นสำหรับการตรวจวัดความดันลมยางในตำแหน่งล้อคู่
ฝากพี่น้องสิงห์รถบรรทุกในทุกหมู่เหล่ารู้แล้วใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม อย่าประมาทและอย่ามองเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะหากเกิดอะไรขึ้นมามันใหญ่เกินกว่าที่เราจะรับผิดชอบไหว!