สิ้นสุดการรอคอย!สำหรับคดีมหากาพย์กรณีข้อพิพาทระหว่าง “โฮปเวลล์” กับ “กระทรวงคมนาคม” หลังศาลปกครองสูงสุด พิพากษาสั่งกระทรวงคมนาคมต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ จ่ายคืนเงิน 1.2 หมื่นล้านให้กับบริษัทโฮปเวลล์ ปิดฉากคดีมหากาพย์สุดอัปยศ 29 ปี
วันนี้ (22 เม.ย.) ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองกลางเป็นยกฟ้องมีผลให้กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท) ต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่8พ.ย.51โดย รฟท.ต้องคืนเงินชดเชยให้กับบริษัทโฮปเวลล์จากการบอกเลิกสัญญารวมเป็นเงิน 11,888 ล้านบาท โดยไม่รวมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
พร้อมคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาท ที่ออกโดยธนาคารกรุงเทพ ซึ่งประกอบด้วยเงินที่บริษัทได้ชำระเป็นค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์จากที่ดินของ รฟท. ถึงก่อนวันบอกเลิกสัญญาเป็นเงิน 2,850 ล้านบาท รวมถึงเงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38 ล้านบาท และเงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับคดีถึงที่สุด
หากใครยังจำไม่ค่อยได้ ขอย้อนปูมหลังคดีมหากาพย์กับโครงการสุดอัปยศนี้เป็นอุทาหรณ์สยองใจ!
โครงการ “โฮปเวลล์” หรือโครงการถนนและทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เกิดขึ้นเมื่อปี 2533 ในสมัยรัฐบาลเจ้าของวลีเด็ดในตำนาน “No Problem” อย่างพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีนายมนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มุ่งหวังเพื่อแก้ปัญหาการจราจร
โดยมีการเปิดประมูลสัมปทานก่อสร้างทางยกระดับ ตามสัญญาผู้รับสัมปทานจะมีรายได้จากค่าโดยสารรถไฟฟ้า ค่าผ่านทาง และรายได้จากอสังหาริมทรัพย์ตลอดเส้นทาง และผลการประมูลครั้งนั้น บริษัทโฮปเวลล์โฮลดิงส์ ของนายกอร์ดอน วู ประธานบริหารโฮปเวลล์ โฮลดิ้ง ยักษ์ใหญ่วงการก่อสร้างของฮ่องกง เป็นผู้ชนะ
ดูเหมือนว่าการที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง โฮปเวลล์ เป็นผู้ชนะการประมูลและผู้ดำเนินการก่อสร้างนี้สร้างความฮือฮาอย่างมากในเวลานั้น เมื่อเป็นผู้ลงทุนออกแบบเองทั้งหมด โดยใช้วงเงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 8 ปี อายุของสัมปทาน 30 ปี มีกำหนดตั้งแต่ 6 ธันวาคม 2534 – 5 ธันวาคม 2542 โดย แบ่งเป็น 5 ระยะทางรวมทั้งสิ้น 60.1 กิโลเมตร
แต่ปรากฏว่า การก่อสร้างเป็นไปอย่างล่าช้า และต้องเผชิญกับสารพัดปัญหา! ทั้งการส่งมอบพื้นที่บริเวณริมทางรถไฟ ปัญหาเรื่องจุดตัดกับโครงการถนนยกระดับวิภาวดีรังสิต (ดอนเมืองโทลล์เวย์) และการก่อสร้างล่าช้าจนอัตราคืบหน้าของงานไม่เป็นไปตามสัญญาที่ทำไว้กับรัฐบาล ผสมโรงกับเศรษฐกิจไทยเวลานั้นไม่เติบโตเท่าที่ควร
กระทั่งหลังรัฐประหารในปี 2534 รัฐบาลมาดผู้ดี “อานันท์ ปันยารชุน” ได้เข้ามาตรวจสอบสัญญาสัมปทานทั้งหมดก่อนประกาศเปรี้ยง!ล้มโครงการ แม้ต่อมารัฐบาลใบมีดโกนอาบน้ำผึ้ง “ชวน หลีกภัย” จะปัดฝุ่นผลักดันโครงการต่อ
แต่ก็ต้องชนกับ 2 ตอม่อปัญหาสำคัญ คือปัญหาเรื่องเงินทุน แหล่งเงินกู้ หลักทรัพย์ค้ำประกันสัญญา และปัญหาเรื่องแบบก่อสร้าง ระยะห่างระหว่างรางรถไฟ กับไหล่ทางมีน้อยเกินไปเพราะข้อจำกัดของพื้นที่ และไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยสากล
ทว่า ประเด็นพีคสุดอึ้งกิ่มกี่ที่โครงการสุดอัปยศนี้ไม่สามารถไปต่อได้ ก็เพราะไม่มีการระบุไว้ในสัญญาว่าโครงการจะต้องแล้วเสร็จเมื่อใด เป็นผลให้บริษัทโฮปเวลล์ มีสิทธิ์อันชอบทำที่จะไม่ทำโครงการให้แล้วเสร็จ
สุดท้ายก็ยกเลิกสัมปทานอย่างเป็นทางการ เมื่อ 20 มกราคม 2541 ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย(สมัยที่2)หลังดำเนินการก่อสร้างเป็นเวลา 7 ปี แต่มีความคืบหน้าเพียงร้อยละ 13.77 ขณะที่แผนงานกำหนดว่าควรจะมีความคืบหน้า ร้อยละ 89.75
ทำให้ต่อมา บริษัทโฮปเวลล์โฮลดิ้ง ได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในการยกเลิกสัญญา กลายเป็นคดีความยืดเยื้อมาอย่างยาวนานถึง 29 ปี จนมาถึงคราวันปิดฉากคดีมหากาพย์กับโครงการสุดอัปยศในวันนี้
ที่ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด พิพากษาให้กระทรวงกระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ต้องจ่ายเงินชดเชยจากการบอกเลิกสัญญารวมเป็นเงิน 11,888 ล้านบาท+ดอกเบี้ยให้กับบริษัทโฮปเวลล์
กลายเป็นค่าโง่ก้่อนโตกว่า 1.2 หมื่นล้านบาทที่ประชาชนคนไทยรับรู้แล้วก็ไม่ทราบว่าจะเปล่งอุทานยังไงดีถึงจะสาสมกับมหกรรม “ค่าโง่ซ้ำซาก”จากอีกหนึ่งโครงการยักษ์ที่ภาครัฐต้องเสียท่าภาคเอกชน
ส่วนซากตอม่อจากโครงการสุดอัปยศนี้ คงทิ้งไว้เป็นอนุสรณ์เสาดอกเหมยประจาน “ค่าโง่”อันน่าอับอายไว้ให้อนุชนรุ่นหลัง “อนาถลึกสุดใจ”ไทยแลนด์!
:ปีศาจขนส่ง