อาจะฟังดูแสลงหูไปบ้างหากจะบอกว่า สปป.ลาว กำลังทะยานขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและโลจิสติกส์ในกลุ่มประเทศ CLMVT (กัมพูชา-สปป.ลาว-เมียนมา-เวียดนาม และไทย) และหากมองดูภาพรวมด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบกับการมี ‘กองหนุน’ อย่าง ‘จีน’ ซึ่งมีทรัพยากรและเงินทุนมหาศาล การก้าวสู่ตำแหน่งศูนย์กลางด้านการค้าข้ามแดน-ผ่านแดน และโครงข่ายโลจิสติกส์ที่สามารถเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion – GMS) ได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงไม่ใช่เรื่องที่กล่าวกันเพื่อจะดิสเครดิตประเทศตัวเอง
นั่นเพราะต้องมองภาพจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน สปป.ลาวในวันนี้ก็ไม่ใช่ ‘บักหำน้อยในเวทีอาเซียน’ ที่เป็นเพียงเมืองผ่าน หรือดินแดนแลนด์ล็อคอีกต่อไป แต่ลาวกำลังเป็น ‘แลนลิงค์’ Mission ที่เราเคยแอบยิ้มมุมปากว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไรกับประเทศที่มีข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งลาวยังเป็นประเทศยากจนในสายตาของประชาคมโลก
แต่ที่ผ่านมา สิ่งที่ สปป.ลาวกำลังเดินเกมรุกอย่างหนักนั่นคือการสร้างโครงข่ายการขนส่งที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่ประตู ‘จีนตอนใต้’ และ ‘เวียดนาม’ ที่เปรียบเป็น ‘ม้าหนุ่มฝีเท้าจัด’ และกำลังจะแซงไทยในทุกด้านของเศรษฐกิจการค้า
ยกตัวอย่างโครงการที่ล่าสุด อาทิ การก่อสร้างทางด่วนจากนครหลวงเวียงจันทน์-แขวงไซสมบูน-แขวงเชียงขวาง-แขวงหัวพัน และออกสู่ชายแดนลาว-เวียดนาม (ด่านน้ำโสย) ซึ่งจะทำให้การคมนาคมขนส่งจากลาว ไปเวียดนามสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ เราจึงมาย้อนดูว่าที่ผ่านมา สปป.ลาวทำอะไรไปบ้างในขณะที่ประเทศเรายังไม่สามารถก้าวข้าม ‘ปัญหาความขัดแย้ง’ ทางความคิดและการเมือง

โครงการรถไฟลาว-จีน
ได้เปิดทำการในช่วงเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา เป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลลาวและจีน มูลค่าการลงทุนประมาณ 6,800 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยฝ่ายจีนถือหุ้น 70% และรัฐบาลลาว 30% มีความยาวประมาณ 414 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นจากนครหลวงเวียงจันทน์ปลายทางคือชายแดนลาวจีน บ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา เป็นรถไฟรางเดี่ยวขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ขนาดรางกว้าง 1.435 เมตร โดย ขบวนรถไฟขนส่งสินค้ากำหนดความเร็วไว้ที่ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ส่วนรถไฟสำหรับผู้โดยสาร กำหนดความเร็ว 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทั้งนี้ระบบได้ออกแบบเผื่อไว้สำหรับการเดินทางพื้นที่ราบ ตั้งแต่วังเวียงถึงนครหลวงเวียงจันทน์สามารถวิ่งได้ 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง ประกอบด้วย 32 สถานี แยกเป็นสถานีรถไฟขนส่งสินค้าทั้งหมด 22 แห่ง และสถานีโดยสาร 10 แห่ง มีสถานีหลัก 5 แห่ง ผ่านอุโมงค์ 75 แห่ง ความยาวโดยรวมประมาณ 198 กิโลเมตร และสะพานรถไฟ 163 แหง รวม ระยะทางประมาณ 61 กิโลเมตร
สถานีรถไฟลาวจีน ที่นครหลวงเวียงจันทน์เป็นสถานีใหญ่ มีพื้นที่ทั้งหมด 150 เฮกตาร์ (937.5 ไร่)อาคารสถานีกว้าง 14,500 ตารางเมตร สามารถรับรองผู้โดยสารได้ 2,500 คน เส้นทางรถไฟที่ผ่านแขวงหลวงน้ำทามีระยะทาง ทั้งหมด 16.9 กิโลเมตร มี 2 สถานี ได้แก่ สถานีบ่อเต็น ซึ่งเป็นสถานีโดยสารและจุดตรวจคนเข้าเมืองและสถานีนาเตย ซึ่งเป็นสถานีโดยสารและเป็นที่ตั้งของคลังเปลี่ยนถ่ายสินค้า
ขณะที่สถานีรถไฟหวังเจียหยิง ณ นครคุนหมิง ซึ่งเป็นจุดต้นทางของการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟจีน -ลาว และเป็นศูนย์โลจิสติกส์ระดับ 1 ที่มีลานคอนเทนเนอร์ที่ใหญ์ที่สุดและ มีโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์ที่สุดในมณฑลยูนนาน ซึ่งลานดังกล่าวสามารถรองรับตูLคอนเทนเนอร์มาตรฐานระดับสากล (Twenty-foot Equivalent Unit : TEU) ได้สูงสุด 20,000 ตู้ มีคลังสินค้าที่ทันสมัย จำนวน 3 แห่ง ที่มีพื้นที่ขนาด26,000ตารางเมตร สามารถรองรับความจุของตู้คอนเทนเนอร์ได้มากถึง 800,000 TEU/ปี
ด้วยเหตุนี้ศูนย์ดังกล่าวสามารถเชื่อมโยงการขนส่งสินค้ากับพื้นที่ต่างๆ ในจีน ได้แก่ พื้นที่มณฑลยูนนาน พื้นที่ภาคเหนือ พื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ พื้นที่ภาคกลาง และพื้นที่ภาคใต้ของจีน เป็นต้น และยังสามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟและท่าเรือต่างๆ เช่น ท่าเรือชิงโจว (เมืองชิงโจว) ท่าเรือหวงผู่ (กวางโจว) และท่าเรืออื่นๆ รวมถึงการเชื่อมโยงการขนส่งไปยังประเทศแถบเอเชียและ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านการขนส่งทางรถไฟ ทางทะเล และทางบกได้อีกด้วย

การเปิดเส้นทางทางรถไฟจีน – ลาว จะทำให้ระยะเวลาการขนส่งสินค้าจากเมืองคุนหมิง ไปยังลาวจะสั้นลงเหลือเพียง 30 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งสินค้าให้ดีขึ้นได้อย่างมาก
รถไฟจีน – ลาว ไม่เพียงแต่เป็นเส้นทางคมนาคมระหว่างประเทศที่สำคัญเท่านั้น ยังเป็น จุดเชื่อมโยงมิตรภาพระหว่างไทย จีน และลาวอีกด้วย โดยหลังจากการดำเนินการเชื่อมโยงระหว่าง รถไฟจีน-ลาว และลาว-ไทย จะทำให้การขนส่งข้ามพรมแดนและการค้าพหุภาคีของทั้งสามประเทศ มีความแข็งแกร่งขึ้นมากขึ้น
โครงการท่าบก ท่านาแล้ง และ Vientiane Logistics Park (VLP)
โครงการเมกกะโปรเจค ที่รัฐบาล สปป.ลาว ให้ความสำคัญ และจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ สปป.ลาว เป็น ศูนย์กลางการขนส่งเชื่อมโยงต่อไปในภูมิภาค โดยโครงการดังกล่าวได้รับการรับรองโดย UNESCAP ในปณิธานความร่วมมือ ฉบับที่ 69/7 ข้อตกลงท่าบกระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย โครงการท่าบกท่านาแล้ง เป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ กำหนดอยู่ในแผนพัฒนาโลจิสติกส์ของ สปป.ลาว ปี 2559 – 2568 จะทำให้การค้าขยายตัวและดึงดูดการลงทุน และในอนาคตโครงการท่าบกท่านาแล้งจะสามารถเชื่อมต่อไปยังท่าเรือหวุงอ่าง ที่ตั้งอยู่จังหวัดฮาติงห์ตอนกลางของประเทศเวียดนาม
โดยรัฐบาล สปป.ลาว และ รัฐบาลเวียดนาม ได้ลงนามข้อตกลงในการสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อจากเวียงจันทน์ไปยังท่าเรือหวุงอ่าง ซึ่งทางรถไฟเวียงจันทน์-ท่าเรือหวุงอ่าง มีระยะทางยาว 555 กิโลเมตร อยู่ใน สปป.ลาว 452 กิโลเมตร ในเวียดนาม 103 กิโลเมตร เริ่มจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปตามแนว ถนนสาย 13 (ใต้) ถึงแขวงบอลิคำไซ แขวงคำม่วน เลี้ยวไปทางตะวันออก เข้าสู่เวียดนามที่ด่านชายแดนนาเพ้า-จาลอ ขึ้นสูงจังหวัดกว่างบิ่ญ และจังหวัดฮาติงห์ มีปลายทางที่ท่าเรือหวุงอ่าง คาดว่าทางรถไฟจะแล้วเสร็จเปิดให้บริการได้ในปี 2568
ที่ผ่านมา รัฐบาลลาวไดเห็นชอบผลการศึกษาความเป็นไปได้และอนุมัติจัดตั้งบริษัท Vientiane Logistics Park ให้เป็นผู้ก่อสร้างโครงการท่าบกท่านาแล้ง โดยที่บริษัทได้รับสัมปทาน 50 ปี โครงการท่าบก ท่านาแล้ง มีพื้นที่รวมทั้งหมด 382 เฮกต้า (2,387.5 ไร่ ) งบลงทุน 727 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีการแบ่งโซนในการพัฒนา ดังนี้

โซน 1 ท่าบก ท่านาแล้ง ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางการนำเข้าและส่งออกระหว่างประเทศที่มี หน่วยงานพิธีการศุลกากร เทคโนโลยีทันสมัย ระบบโกดัง และการใช้ระบบ TOS ที่สามารถการันตีการ บริการที่สามารถเชื่อถือได้
โซน 2 Tank Farm สำหรับเก็บรักษาน้ำมันที่ขนส่งมาจากประเทศไทย เพื่อส่งต่อไปยัง ตัวแทนจำหน่ายในประเทศ โดยน้ำมันดีเซลและปิโตรเลียมจะถูกส่งต่อไปทางราง และทางท่อในอนาคต
โซน 3 Logistics Park ส่วนบริการหลักที่เป็นโกดังและศูนย์กระจายสินค้า ที่มีบริการเก็บ รักษาสินค้า การรวมสินค้า การกระจาย การจัดการรายการสินค้า และการบริหารจัดการโกดัง
โซน 4 เขตการค้าเสรี กิจกรรมทางธุรกิจที่มีฮาลาลฮับ ศูนย์ผลิตภัณฑ์เกษตร ศูนย์เทคโนโลยี ศูนย์รวมที่ตั้งบริษัทต่างๆ ศูนย์ธุรกิจขนาดย่อม ศูนย์กลางการค้า และที่ตั้งสำนักงาน VLP
โซน 5 ส่วนกระบวนการส่งออก ส่วนปลายทางที่มีความทันสมัยและยืดหยุ่น ที่จะเป็นศูนย์ส่งออกสินค้าไปในตลาดอาเซียนและตลาดสากล
ทางด่วนลาว-จีน
การก่อสร้างทางด่วนลาว-จีน ประเมินว่าการก่อสร้างทางด่วน ลาว – จีน จะก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 10 ปี ซึ่งจะเป็นส่วนที่ต่อขยายจากเวียงจันทน์ – วังเวียงไป จนถึงชายแดนจีนที่แขวงหลวงน้ำทา ประมาณมูลค่าการก่อสร้าง 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทางด่วนลาว-จีน มีระยะทางทั้งหมด 440 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่
(1) เวียงจันทน์ – วังเวียง ที่ก่อสร้างเสร็จและเปิดใช้บริการแล้ว
(2) วังเวียง – หลวงพระบาง
(3) หลวงพระบาง – อุดมไซ
(4) อุดมไซ – ชายแดนจีน
ปัจจุบันการสำรวจเส้นทาง ก่อสร้างส่วนที่ 2-4 สำเร็จเรียบร้อยแล้ว และได้มีการลงนามบทบันทึกความเข้าใจการจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับการก่อสร้าง โดยการก่อสร้างเส้นทางด่วนทั้งหมด เป็นของนักลงทุนจีน มีอายุสัมปทาน 50 ปี คาดการณ์มูลค่าการก่อสร้าง 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และรัฐบาลลาวได้รับผลประโยชน์ร้อยละ 5 ของโครงการนี้

ท่าบกสะหวันนะเขต จุดเชื่อมต่อแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก
ท่าบกสะหวันนะเขต (Savannakhet Dry Port) ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน โดยท่าบกสะหวันนะเขต ตั้งอยู่ในแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ที่เป็นเส้นทางเชื่อมต่อหลายๆ ประเทศ ได้แก่ สปป.ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม โดยการส่งสินค้าสามารถขนส่งทางถนนจากสะหวันนะเขตไปยัง ประเทศจีน กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์
โดยปัจจุบัน การขนส่งสินค้าจากสิงคโปร์ไปยังประเทศจีน และจากไทยไปยังจีนโดยการขนส่งทางถนนจะมีการส่งผ่านสินค้าที่ท่าบกสะหวันนะเขต โดยการขนส่งจากจีนมายังท่าบกสะหวันนะเขตใช้ เวลา 3 วัน และจากท่าบกสะหวันนะเขตไปยังสิงคโปร์ใช้เวลา 4 วัน ซึ่งค่าใช้จ่ายในการขนส่งทางถนน ผ่านเส้นทางดังกล่าว มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการขนส่งทางทะเล
ทำให้ประเมินว่า ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าลดลงภายหลังการจัดตั้งท่าบกสะหวัน นะเขต โดยผู้ประกอบการสามารถรวบรวมสินค้าจาก Cargo เป็นตู้คอนเทนเนอร์ผู้ขนส่งภายในประเทศจะมีบทบาทสำคัญ นอกจากนี้ ท่าบกสะหวันนะเขต ประกอบด้วยหน่วยงาน One Stop Service ที่มีเจ้าหน้าที่ศุลกากรลาวให้การบริการที่จะช่วยให้กระบวนการนำเข้าส่งออก สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้ง รัฐบาลลาวสามารถตรวจสอบการจัดเก็บภาษีได้อีกทางหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ การจัดตั้งท่าบกสะหวันนะเขต นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ที่มี ประสิทธิภาพสูงของ สปป.ลาว และอีก 8 แห่ง ที่มีแผนการดำเนินการจัดตั้งในระยะต่อไป ที่จะทำให้ สปป.ลาว เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สปป.ในฐานะ ‘ศูนย์กลางคมนาคมในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง’ ทำให้การขนส่งสินค้าด้วยรถไฟ การขนส่งทางถนน ตลอดจนการขนส่งหลากหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) ระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขง จะมีความรวดเร็วและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น และยังสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการขนส่งลง ส่งผลให้สินค้ามีโอกาสเข้ามายัง ตลาดจีนและภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลกได้ง่ายขึ้น ตลอดจนการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวให้สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากขึ้นอีกด้วย
แหล่งอ้างอิง : Vientiane Times
: สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เวียงจันทน์
: สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิง
ภาพ : สำนักข่าวซินหัว