หลายคนคงกำลังจับตาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 2.2 แสนล้านบาท เชื่อม “สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ที่เดิมขีดเส้นตายให้กลุ่มซีพีและพันธมิตรต้องมาเซ็นสัญญาภายในวันที่ 15 ต.ค.นี้ ล่าสุดขยายไป 25 ต.ค. ท่ามกลางความสงสัยว่า จะมาเซ็นสัญญาหรือไม่
ไม่น่าจะมา …ตอบเลยตรงนี้ !!!
ดูทีละประเด็น
ก่อนหน้านี้ ‘แปะสมคิด’ กำกับดูแลคมนาคม และทีมเศรษฐกิจ ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น ‘เสี่ยหนู’ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณะสุข มาเสียบแทน แถมมี ‘น้องเน’ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม
ถ้า 25 ตุลาคมนี้ ไม่มาตามนัด เงินคํ้าประกัน 2,000 ล้านบาทอาจถูกยึด และติดแบล็กลิสต์ กลุ่มซี.พี. และพันธมิตร ไม่ให้เข้าร่วมประมูลงานรัฐอีกต่อไป
ที่เด็ดคือ กระทรวงคมนาคมจะเชิญผู้ได้รับคัดเลือกอันดับ 2 มาเจรจาแทนกลุ่มซี.พี.ทันที ซึ่งก็คือ กลุ่มบีทีเอส กับพันธมิตร คือ บริษัทไฟฟ้าราชบุรีและบริษัทซิโนไทยคอนสตรัคชั่น
เราคงไม่ต้องบอกว่า ‘ชิโนไทยฯ’ ของใคร
ประเด็นต่อมาเรื่องการส่งมอบพื้นที่
แบบเดิม
- วิธีปรกติให้เอกชนไปติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเองเอาเอง
- ทำให้กำหนดระยะเวลา เริ่ม-จบ การก่อสร้างไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาการวางแผนการเงิน วางเงินหุ้นก็ยาก ติดต่อกู้เงินก็มีปัญหา
- มีจุดตัดจำนวนมาก 230 จุดใน 3 กระทรวง 8 หน่วยงานที่ต้องปรับปรุงหรือโยกย้าย การใช้วิธีเดิมให้เอกชนเจรจาเองโดยรัฐบาลไม่ช่วยจึงไม่เหมาะสมและจะใช้เวลานานมาก
- เรื่องความล่าช้าในการส่งมอบที่ดิน สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ให้ความเห็นในการประชุม กพอ. และเตือนว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาในความสำเร็จของโครงการ
- รฟท. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลัก ได้รายงานว่า การส่งมอบที่ดินนั้นเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน และ รฟท. ไม่สามารถประสานงานหรือกำหนดเวลาได้
แบบใหม่…เริ่มวางแนวทางไม่กี่วันนี่เอง
(กรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) กพอ. สั่งการแก้ไขปัญหา
- ให้คณะอนุกรรมการบริหารฯ (กบอ.) ไปกำกับหาทางเรื่องการส่งมอบที่ดินที่เป็นไปได้ และทำงานได้
- ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำแผนเสนอ กบอ. ซึ่งได้มีการประชุมหาแนวทางที่เหมาะสม
- ให้กระทรวงมหาดไทย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน รวม 4 ครั้ง
- ให้กระทรวงพลังงาน โดยปลัดกระทรวงพลังงานรวม 3 ครั้ง
- รฟท. ได้ประชุมร่วมกับบริษัทเอกชน เช่น บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด
สรุปแผนการส่งมอบพื้นที่
- ช่วงแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ในวันที่เอกชนคู่สัญญาชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในแอร์พอร์ต เรลลิงก์ให้แก่ รฟท.
- ช่วงรถไฟความเร็วสูงช่วงลาดกระบัง – อู่ตะเภา ภายใน 1 ปี 3 เดือนนับจากวันที่ลงนามใน สัญญาร่วมลงทุน
- ช่วงแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ส่วนต่อขยาย ภายใน 2 ปี 3 เดือนนับจากวันที่ลงนามในสัญญาร่วม ลงทุน
ล่าสุด …มีการแต่งตั้งคณะทำงานการส่งมอบพื้นที่และการรื้อย้ายสาธารณูปโภค โดยมี ปลัดกระทรวง คมนาคม เป็นประธานคณะทำงาน รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธานคณะทำงาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการร่วมเป็นคณะทำงาน หมายมั่นว่าจะส่งมอบพื้นที่ให้ทัน 2 ปีตามสัญญาที่ระบุไว้กับกลุ่มซีพี
ใครคิดว่าส่งมอบทันยกมือขึ้น!!!
ความอีรุงตุงนังแค่เพิ่งเริ่มต้น …รอดูกันต่อไป
ผีสนามหลวง …รายงาน