ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า โลกปัจจุบันคือโลกแห่งการค้าเสรี และแม้แต่ละประเทศจะมีมาตรการในการสกัดกั้น หรือที่เรียกกันว่า มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เพื่อปกป้องผลประโยชน์โดยรวมของชาติ ทว่า ก็ยังต้องดูที่ ‘กึ๋นของผู้นำ’ ประเทศนั้นๆ ด้วย นั่นคือการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จะสามารถสร้าง ‘แต้มต่อ’ ทางการการค้า ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ เส้นทางขนส่งทั้งคนและสินค้าระหว่างจีนสู่ สปป.ลาว
จากการเปิด ‘เส้นทางรถไฟสายจีน–ลาว’ หรือเส้นทางรถไฟ ‘ล้านช้าง’ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ปี 2564 ที่ผ่านมา ปัจจุบันได้ทำการมาเป็นเวลากว่า 1 เดือน ซึ่งจากข้อมูลล่าสุด เส้นทางรถไฟสายนี้รองรับผู้โดยสารไปแล้วกว่า 670,000 คน มีสินค้าขนส่งผ่านเส้นทางนี้รวมแล้วกว่า 170,000 ตัน
โดยเส้นทางรถไฟช่วงที่อยู่ในประเทศจีน หลังจากเปิดทำการ ทำให้มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อวันราว 33,000 ต่อวัน ขณะที่มีรถไฟบรรทุกสินค้าผ่านเส้นทางนี้แล้ว 380 ขบวน จำนวนนี้แบ่งเป็นรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างประเทศถึง 70 ขบวน แบ่งเป็นสินค้าจำพวก ยาง ปุ๋ย และของใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์จากเซลล์แสงอาทิตย์ ผลิตภัณฑ์ด้านการสื่อสาร รถยนต์ สิ่งทอ ผัก และดอกไม้
ก่อนหน้าทางทางการ สปป.ลาว ออกมาระบุว่า แต่เดิม การขนส่งสินค้าจากลาวไปยังจีนนั้นต้องผ่าน ‘ท่าเรือไทย’ ก่อนจะส่งไปจีน ซึ่งใช้ระยะเวลาการขนส่งเกือบ 30 วัน ทว่านับตั้งแต่เปิดรถไฟจีนลาว ทำให้ใช้เวลาจากกรุงเวียงจันทน์ ไปยังเมืองคุนหมิงของจีน ใช้เวลาเพียง 1 วันเท่านั้น ทำให้ไม่จำเป็นต้องพึ่งท่าเรือเชียงของในการขนส่งสินค้าจากลาวไปจีน
ย้อนมอง! โครงการรถไฟความเร็วสูงของไทยเชื่อมจีน
จากข้อมูลของสำนักข่าวอิศรา ที่ระบุถึงคำกล่าวของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวว่า
“ตอนนี้งานโยธาทั้ง 14 สัญญา มีความก้าวหน้าทั้งหมด เหลือเพียง 1 สัญญา ที่รอประมูล ซึ่งโครงการฯเฟส 1 ต้องเสร็จในปี 2568 และเปิดใช้ในปี 2569 แต่เฟสแรกนี้จะถึงแค่โคราชก่อน”
รวมทั้งระบุอีกว่า “รถไฟของลาว ที่ให้จีนมาทำนั้น ไม่ได้ทำแบบเดียวกับเรา ของเขามาแค่รางเดียว และเพิ่งมารางเดียว แต่ที่นายกฯ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ท่านทำ จะเป็นรางคู่ และที่ว่าเขามาจ่อชายแดนไทยแล้วนั้น จริงๆแล้ว ยังไม่ถึงชายแดน ยังห่างอยู่ 14 กม. และต้องยอมรับว่าฝั่งเรา เราไม่มีเงินเท่าจีน”
กลายเป็นว่าโครงการไม่คืบ เพราะเราจนกว่าจีนหรือครับท่าน!!!!
อย่างไรก็ตาม รมว.คมนาคม ย้ำว่า หลังจากการก่อสร้างงานโยธาทั้ง 14 สัญญา ทยอยแล้วเสร็จ ฝ่ายจีนจะเข้ามาวางระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ระบบอาณัติสัญญาณ รวมทั้งจัดหาขบวนรถ ซึ่งทุกอย่างจะแล้วเสร็จในปี 2568 และเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ได้ในปี 2569 เป็นต้นไป
ถึงตรงนี้ เราคงไม่ต้องนับวันรอว่า โครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ เพราะเชื่อว่าอีกนาน (แสนนาน) ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการในการ ‘ปกป้อง’ โอกาสและแต้มต่อทางการค้าของไทย โดยเฉพาะด้านการขนส่งสินค้าข้ามแดนและผ่านแดนไป สปป.ลาวและสู่จีนตอนใต้ เพราะลาวกำลังเป็น ‘Land Link’ และมีโอกาสสูงมากที่จะเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมใน CLMVT และเส้นทางรถไฟ ‘ทางเดี่ยว’ ของลาวจีนกำลังขนสินค้าทะลักเข้าไทยได้อย่างรวดเร็ว
และเอาเข้าจริง แม้รถไฟลาวจีนจะไม่ใช่รถไฟความเร็วสูง แต่เป็นความเร็วปกติทั่วไป แต่ก็ไม่อาเจปฏิเสธว่าเส้นทางการคมนาคมทางรถดังกล่าวได้สร้างโอกาสให้ทั้งลาว และจีนอย่างมหาศาล
ขณะที่ไทย ทำได้เพียงเกาะเกี่ยวโอกาสที่คนอื่นสร้างขึ้นเท่านั้น และเป็นที่ทราบดีว่าการค้าระหว่างไทยจีนนับเป็นรายได้สำคัญของชาติ ถึงตรงนี้คงต้องจับตาดู ‘กึ๋น’ ของผู้นำและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่าจะสามารถพลิกเกมนี้ และรักษาโอกาสทางการค้าของประเทศไทยได้อย่างไร
เราจะติดตามเรื่องนี้ต่อไป!!!