หลังถูกพลเมืองโซเชียลแห่กระทืบคอมเม้นต์อย่างเมามันสนั่นโลกออนไลน์ปมร้อนศาลาพักริมทางรูปแบบใหม่เจ้าปัญหาของกรมทางหลวงในพื้นที่จ.ศรีสะเกษ ที่นายช่างใหญ่ยกเมฆเน้นความสวยงาม ทันสมัย แข็งแรง แต่ดันบังแดดหลบฝนไม่ได้ ออกแบบมาโดยไม่มองบริบทการใช้งานได้จริงและคุ้มค่าของแต่ละภูมิประเทศ
ไม่เหมือนศาลาพักริมทางรูปแบบเดิมหน้าจั่วทรงไทยอันเป็นเอกลักษณ์ที่ใช้งานได้จริงและคุ้มค่า!กระแสแรงไม่หยุดฉุดไม่อยู่เมื่อสื่อทุกสำนักลากไปเป็นประเด็นข่าวตีแผ่พลางขยี้ข้อเท็จจริงเป็นวงกว้างถึงความพิไลแต่ไร้ค่าดราม่าศาลาพักริมทางดังกล่าว
ล่าสุด อธิบดีกรมทางหลวงทนกระแสสังคมกดดันไม่ได้ต้องออกโรงสั่งแก้ไขด่วนศาลาริมทางบนทางหลวงสายศรีสะเกษ-อ.วังหิน ต่อเติมกันสาดหน้า-หลังพร้อมเนรมิตพื้นที่โดยรอบให้ร่มรื่นเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์เต็มที่ อ้างพื้นที่ไม่พอเลยต้องสร้างแบบใหม่แทนแบบเดิม
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่าศาลาริมทางดังกล่าวอยู่ในโครงการก่อสร้างขยายทางเป็น 4 ช่องจราจรทางหลวงหมายเลข 220 จริง ซึ่งงานก่อสร้างเริ่มต้นสัญญาตั้งแต่ 12 ก.พ.62 งานแล้วเสร็จ 12 มิ.ย.63 (เสร็จก่อนสัญญา) และได้ส่งมอบพื้นที่ให้แขวงทางหลวงศรีสะเกษที่ 1 ดูแลรักษาต่อไป
ส่วนสาเหตุที่มีการก่อสร้างศาลาริมทางในลักษณะดังกล่าวมีการชี้แจงว่าถนนสายดังกล่าวแบ่งรูปแบบการก่อสร้างเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่มีเขตทาง 30 ม. และ 40 ม. ช่วงเขตทาง 30 ม. เมื่อก่อสร้างเป็นทางหลวง 4 ช่องจราจร เกาะกลางแบบยกกว้าง 3.00 ม.แล้วจะเหลือพื้นที่จากไหล่ทางจนถึงเขตทางหลวงเพียง 4.00 ม.
ซึ่งไม่สามารถก่อสร้างช่องจอดรถและศาลาทางหลวงแบบเดิมที่มีความกว้างประมาณ 6.25 ม.ได้จึงจำเป็นต้องก่อสร้างที่พักผู้โดยสารเป็นรูปแบบตามที่ปรากฏอยู่ โดยมีความกว้างประมาณ 2.50 ม. เท่านั้น เพื่อให้ไม่เลยออกนอกเขตทาง
ส่วนช่วงเขตทาง 40 ม. เมื่อขยายถนนเป็น 4 ช่องจราจร เกาะกลางแบบยกกว้าง 4.20 ม. พร้อมช่องจอดรถโดยสาร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการจอดรับผู้โดยสารแล้ว จะเหลือพื้นที่ก่อสร้างที่พักผู้โดยสาร กว้างประมาณ 4.40 ม. ซึ่งก็ไม่สามารถก่อสร้างศาลาทางหลวงแบบเดิมที่มีความกว้างประมาณ 6.25 ม.ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ตนได้สั่งแก้ไขปรับปรุงแล้ว เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยให้มีการทำกันสาดเพิ่มเติมทั้งด้านหน้า ด้านหลัง เพื่อกันแดดกันฝน รวมทั้งการปรับปรุงพื้นที่โดยรอบให้ดูร่มรื่นขึ้น
แหม่ะ!ท่านอธิบดีออกมาแก้ต่างดับกระแสร้อนของสังคมพร้อมอ้างพื้นที่ไม่เอื้อให้ก่อสร้างแแบบเดิมได้ ไม่รู้จะฟังขึ้นหรือไม่นั้น?ขอละไว้ในในฐานที่เข้าใจล่ะกัน เทียบพิกัดแบบเดิมกว้าง 6.25 ม.แบบใหม่ 4.40 ม.ส่วนต่างมันก็แค่ 2 ม.นิดๆหากพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการก่อสร้างในรูปแบบเดิมอย่างที่ท่านยกเมฆมาแล้วล่ะก็
ควรที่จะออกแบบก่อสร้างแบบเดิมก็ได้นี่ครับท่าน แต่ย่อขนาดให้เล็กลง หรือปรับเป็นแบบอื่นๆก็ได้แต่ใช้ประโยชน์ได้มากกว่านี้ ไม่ใช่หลับหูหลับแหกตำราออกแบบก่อสร้างเน้นสวยงาม ทันสมัย และแข็งแรงแต่ไร้ค่าไร้ประโยชน์กับการใช้งานจริงสิ้นดีออกมาแบบนี้
คำถามโตๆหนักๆคือชาวบ้านได้อะไรจากความสวยงามแต่ไร้ค่า?
คนคิดคนออกแบบ-คนตรวจสอบ-คนอนุมัติโครงการไม่พากันตรึกตรองและเอะใจกันบ้างหรือไง?หรือวันๆนั่งในห้องแอร์เย็นฉ่ำคิดออกแบบ-อนุมัติเสร็จสรรพ ไม่คำนึงถึงความเหมาะสมกับการใช้งานได้ประโยชน์จริงตามภูมิประเทศภูมิอากาศของแต่ละพื้นที่ ถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนราคาแพงของกรมทางหลวงที่ควรจะพิจารณาอย่างถ้วนถี่ให้มากกว่านี้
พอเรื่องงามไส้หลุดโลกถูกสังคมตีแสกหน้าพลางกระหน่ำด่าไม่เหลือซากสะดุ้งไปทั้งกรมฯเยี่ยงนี้!
…มันไม่คุ้มเอาน่ะครับเจ้านาย????
:กระบี่ไร้นาม