ประกาศผลสอบแล้วสำหรับสนามแข่งตลาดรถใหญ่ปีหนูไฟบรรลัยกัลป์ 63 ที่แม้ต้องทำใจพลางพรีออเดอร์น้ำใบบัวบกหลายกิโลลิตรไว้แก้ช้ำใจล่วงหน้าก็ตาม!
อย่างที่จั่วหัวไว้ต้องวูบไปตามระเบียบเรียบวุธเป็นทิวแถวเพราะถูกเจ้าไวรัสร้ายโควิดมันขวิดซะจนมึนสำหรับตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ขนาดใหญ่เมืองไทยปีที่แล้ว ทุกค่ายล้วนกระอักเลือดพลางนอนซมพิษภาวะเศรษฐกิจช่วงขาลงผสมโรงกับพิษเจ้าไวรัสมฤตยูมืดตลอดทั้งปี ขยี้ยอดขายรวมทุกค่ายทุกสายพันธุ์ร่วงกราวรูดมหาราชอย่างน่าใจหาย
ทั้งนี้ ประกอบผลสอบออกมาแล้วจากสถิติยอดขายรวมทุกค่ายทุกสายพันธุ์รถเพื่อการพาณิชย์ขนาดใหญ่ปี 63 จากที่รวบรวมโดยบริษัท ฮีโน่มอเตอร์สเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด พบยอดขายรวมทุกค่ายอยู่ที่ 25,288 คัน ลดฮวบฮาบ 16 % เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้าที่ 30,110 คัน
“พี่ใหญ่-พี่รอง”ร้องจ๊าก-ซ่าส์ไม่ออก!
หากจะแยกย่อยแต่ละค่ายแล้วล่ะก็ แม้เป็นที่ทราบกันดีทั้งป่าดงดิบสิบล้อเมืองไทยว่าค่ายรถใหญ่จากแดนซามูไรที่อยู่คู่สังคมไทยมาแล้วกว่า 6 ทศวรรษ ต้องหลีกทางให้พี่ใหญ่อย่างค่ายอีซูซุที่แต่ละปีไล่กะซวกยอดขายหลักกว่าหมื่นคันกินสัดส่วนตลาดหลักกว่า 50 %
ทว่า ปี 63 ค่ายอีซูซุพี่เบิ้มตลาดรถญี่ปุ่นที่ว่าแกร่งทั่วปฐพีก็มิอาจหลีกหนีผลกระทบจากเจ้าไวรัสมหาประลัยโควิดออกอาการเป๋ให้เห็นเหมือนกัน เก็บยอดขายรวมปี 63 ได้เพียง 12,727 คันลดลงถึง 15% ทั้งที่เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้าที่ 15,045 คัน ถึงกระนั้น ค่ายอีซูซุก็ยังโชว์ความแข็งแกร่งพอที่จะยึดหัวหาดเบอร์หนึ่งเวทีญี่ปุ่นสบายใจเฉิบไปอีกหนึ่งปี
ขณะที่พี่รองอย่างค่ายฮีโน่คู่ปรับตลอดกาลไล่บี้ไล่เบียดความยิ่งใหญ่เคียงบ่าเคียงไหล่กับพี่ใหญ่อีซูซุได้สนุกสุดเหวี่ยงทุกปี ด้วยดีกรีความยิ่งใหญ่ก็ไม่น้อยหน้าค่ายอีซูซุเช่นกัน แต่ก็มิวายเถูกพญามารไวรัสโควิดเล่นงานจนออกอาการเซบ้าง เพราะสะสมยอดขายรวมได้เพียง 10,309 คันปรับตัวลดลง 16.59% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้าที่ 12,359 คัน
ยูดี ยังพอมีดีรั้งเบอร์ 3 ส่วนค่ายชบาแดงไม่แรงฤทธิ์สมฐานเดมเลอร์
ส่วนเบอร์สามของตลาดอย่างค่ายยูดี ทรัคส์ ที่ฟอร์มดีมาอย่างต่อเนื่องในรอบ 3-4 ปี และปีที่แล้วก็ดูแรงดีไม่มีตกและทะยานโตสวนทิศทางตลาดไม่เกรงกลัวพิษโควิด-19 ในช่วงไตรมาสแรกก็ตาม ทว่า หลังเดินทางถึงครึ่งทางถึงปลายปีกลับหักลบไม่พ้นโค้งโควิดไม่พ้นปีนฟุตบาทเล็กน้อย เก็บยอดขายรวมได้ 896 คันหดตัวลง 19% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้าที่ 1,118 คัน
ส่วนเบอร์สี่อย่างค่ายชบาแดง“ฟูโซ่”ภายใต้ชายคาหลังใหญ่และหรูหราคนมีอันจะกินในฐานะเดมเลอร์อย่าง DCVT หลังโบยบินจากรังเก่าได้หลายปีก็ยังควานหาฟอร์มเจิดจ้าจรัสไม่เจอท่ามกลางมรสุมทั้งภายใน-นอกถาโถมใส่เล่นงานจนออกอ่าวทะเลไทย ยิ่งผสมโรงพิษไวรัสโควิดไปอีกด้วยก็ยิ่ง“อาการน่าเป็นห่วง”
ขณะที่ยอดขายก็ไม่ได้ดังใจหวังสมน้ำสมเนื้อที่ดึงกลับมาโม่แป้งเองกับมือ ไม่หรูหราสมฐานเดมเลอร์ที่มีทุนหนาและบุคลากรระดับสมองเพชร ปี 63 เก็บยอดขายได้ 339 คันหดตัวลง 17% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้าที่ 412 คัน
“สแกนเนีย”เจ้ายุโรป 4 ปีซ้อน
มาต่อที่เวทีรถใหญ่เกรดพรีเมี่ยมสายพันธุ์ยุโรปกันบ้าง ซึ่งผู้คลุกคลีตีโมงในแวดวงนี้ต่างก็แทง 3 ตัวตรงไม่ต้องโต๊ดให้เสียเวลา เพราะ… ก็ไม่ต่างเวทีรถใหญ่ญี่ปุ่นเท่าไหร่นักแล!
สแกนเนียเจ้าของบังลังก์แชมป์เวทีรถใหญ่ยุโรป 4 ปีซ้อน(60-63)ปรับตัวลง 13.42% วอลโว่ ทรัคส์ วูบ 52.80% ยังรั้งเบอร์2 อีกปี ส่วนพญาราชสีห์ MAN กลับแหกด่านมะขามเตี้ยทะยานโต 103.3% คำรามงับเบอร์3ไปเคี้ยวกินเล่นๆพลางแซงหน้าค่ายดาวสามแฉกที่พราวแสงไม่ออกร่วง 50% กระเด็นตกเป็นเบอร์ 4
เวทียุโรปปีที่แล้วถือว่าเป็นปีแห่งความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ที่ทั้งค่ายสแกนเนียและวอลโว่ต่างต้องปรับขบวนทัพกันขนานใหญ่อันเป็นผลกระทบมาจากพิษไวรัสโควิดตั้งแต่ต้นปีผสมโรงด้วยแรงโน้มถ่วงเศรษฐกิจไทยช่วงขาลงอย่างที่กล่าวไว้เบื้องต้น
จากสถิติยอดขายรวมทุกค่ายทุกสายพันธุ์ยุโรปในปี 63 ที่รวบรวมโดยบริษัท ฮีโน่มอเตอร์สเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด พบว่าค่ายสแกนเนียเจ้าของบังลังก์แชมป์เวทีรถใหญ่ยุโรป 4 ปีซ้อน(60-63) สะสมยอดขายได้ 387 คันปรับตัวลดลง 13.42% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันปีก่อหน้าที่ 447 คัน ครองความเป็นเจ้ายุโรป 4 ปีซ้อน(60-63)
วอลโว่ ทรัคส์ยังรั้งเบอร์ 2
ฟากค่ายวอลโว่ ทรัคส์ ค่ายคู่รักคู่แค้นของสแกนเนียที่ไล่บี้ไล่เบียดความยิ่งใหญ่บนแผ่นดินไทยมาอย่างยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ เปรียบเป็นมวยคู่เอกแห่งสังเวียนรถใหญ่สายพันธุ์ยุโรป แม้จะเสียท่าให้ค่ายเพื่อนบ้านเดียวกัน 4ปีติดๆ ถึงกระนั้น ค่ายวอลโว่ ทรัคส์ ยังปักหลักหนึ่งเดียวเป็นคู่ต่อกรค่ายคู่รักคู่แค้นเพื่อนบ้านเดียวกันอย่างสมศักดิ์ศรี
สำหรับค่ายวอลโว่ในปี 63 ดูทวีความท้าทายมากยิ่งขึ้น ไหนจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจไทยในทิศทางขาลง ผนวกด้วยพิษวิกฤติโควิด-19 ทำเอายอดขายวอลโว่ ทรัคส์ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกันค่ายอื่นๆโดยยอดขายรวมปี 63 วอลโว่ ทรัคส์เก็บมาได้ 185 คันปรับตัวลดลง 52.80% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้าที่ 392 คัน
‘เบนซ์’ดาวอับแสงถูกพญาราชสีห์ MAN แซงขึ้นยึดเบอร์3
ฟาก 2 ค่ายรถใหญ่จากเมืองเบียร์อย่าง“เมอร์เซเดส-เบนซ์”เจ้าแห่งโลโก้ดาวสามแฉกก็มิอาจสาดแสงเจิดจรัสแหวกม่านหมอกควันพิษโควิดไปได้ อีกทั้งยังดำผุดดำว่ายการตลาดหวังว่ายก้าวข้ามทะเลสีทันดรขึ้นฝั่งให้ได้ด้วยพลังดาวที่พราวแสง แต่ดูแล้วฉายแววไม่ค่อยออกสมฐานะอันอู้ฟู่เดมเลอร์เท่าไหร่นัก เพราะไล่เก็บเบี้ยใต้ถุนร้านตลอดปี 63 ได้เพียง 42 คันหดตัวลงถึง 50% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้าที่ 80 คัน กระเด็นตกไปอยู่อันดับ 4
แม้ปี 63 หลายค่ายรถใหญ่ต่างก็เก็บตัวเงียบกริบไม่ไหวเอนให้เห็นความเคลื่อนไหวมากนัก ทว่า ค่ายพญาราชสีห์ MAN(เอ็ม เอ เอ็น)ดูเหมือนราศีจะเจิดจรัสมากกว่าค่ายอื่นๆในแง่มุมโลกข่าวสารความเคลื่อนไหวทิศทางการทำตลาด และลุยตะบันจัดอีเว้นต์ขับเคลื่อนธุรกิจหวังสร้างการรับรู้และทิศทางการทำตลาดในไทยอย่างจริงจังเป็นซีรีส์ๆ หวังพุ่งชนเป้าหมายนำพาแบรนด์ MAN ก้าวสู่การเป็นยี่ห้อรถบรรทุกเติบโตควบคู่ไปตลาดโลจิสติกส์ไทย
ขณะที่ยอดขายค่ายพญาราชสีห์ MAN ก็ดูเปล่งปลั่งไม่แพ้การเคลื่อนไหวทางการตลาด แม้จะเป็นยอดขายที่ไม่เยอะหากเทียบกับค่ายรถยุโรปเจ้าตลาดในไทย ทว่า กลับกลายเป็นว่า MAN เป็นค่ายรถใหญ่หนึ่งเดียวที่แหวกม่านหมอกควันโควิดเติบโตในปีที่แล้วขณะที่ค่ายอื่นๆต่างกอดคอกันปรับตัวลดลง โดยค่าย MAN เก็บตกยอดขายไปได้ถึง 61 คันทะยานโตถึง 103.3% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้าเพียง 30 คันเท่านั้น ทะยานรั้งเบอร์ 3 เวทียุโรปเรียบร้อยโรงเรียน MAN
ที่สำมะคัญเป็นการคำราม&ทะยานแซงหน้าค่ายเพื่อนบ้านเดียวกันอย่างดาวสามแฉกซะด้วย!
บริบทสุดท้ายแม้สมรภูมิรถใหญ่ปี 63 อาจมองเชิงลึกว่าถึงจุดต่ำสุดมาแล้ว ทว่า พลันที่เปิดม่านฟ้าปีศักราชใหม่ 2564 ท่ามกลางปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิดระลอกใหม่กระทืบซ้ำ ทำให้ความคาดหวังก่อนสิ้นปี 63 เอาไว้ว่าปี 64 นี้ตลาดรถใหญ่เมืองไทยจะพอลืมตาอ้าปากได้บ้างอาจต้องพึงคลืนลงในพริบตา
และอาจจะเป็นอีกหนึ่งปีแห่งความท้ายทายที่ทุกค่ายคงต้องพลิกตำรา-ปรับกลยุทธ์การตลาดสู้ศึกกันจ้าละหวั่นท่ามกลาง”โจทย์ยาก”ดักรออยู่เบื้องหน้า ขอเป็นกำลังให้ทุกค่ายสู้กับภาวะที่ยากลำบากนี้ไปให้ได้ เพราะ…นี้ไม่ใช่แค่วิกฤติแค่ในไทย แต่มันคือวิกฤติโลกที่ต้องเผชิญ!
:ลมใต้ปีก