คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความฝันของนักธุรกิจสตาร์ทอัพทั่วโลกนั่นคือการก้าวขึ้นเป็น Unicorn (ยูนิคอร์น) หรือ การเป็นม้าบิน หมายถึงธุรกิจ Startup ที่สามารถสร้างธุรกิจที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป ซึ่งที่ผ่านมาเริ่มพอมีให้เห็นเกิดขึ้นบ้างในต่างประเทศ เช่น ในซิลิคอนวัลเลย์ ประเทศสหรัฐอเมริกาอย่าง Uber, Airbnb หรือ Snapchat เป็นต้น หรืออย่างประเทศจีนอย่าง Xiaomi หรือ Didi Chuxing ผู้ให้บริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอปรายใหญ่ในจีน หรือกระทั่ง ByteDance สตาร์ทอัพเจ้าของแอปพลิเคชัน TikTok ของจีนซึ่งเป็นสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าสูงที่สุดในปี 2562
ส่วนในกลุ่มประเทศอาเซียน ก็มีธุรกิจสตาร์ทอัพยูนิคอร์นปรากฏขึ้นให้เห็นหลายราย เช่น อินโดนีเซีย มี 5 ราย คือTravelloka แอพลิเคชันด้านการจองตั๋วเครื่องบิน Gojek ให้บริการขนส่งเดลิเวอรี่ Bukalapak ธุรกิจด้านอีคอมเมิร์ซ และล่าสุด Ovo ธุรกิจเกี่ยวกับรับ-จ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์
สิงคโปร์ มี 3 รายคือ Grab ผู้พัฒนาแอพลิเคชันในการขนส่ง Sea ธุรกิจด้านเกมออนไลน์ Trax ธุรกิจด้าน AI และ HyalRoute ธุรกิจด้านเครือข่ายสื่อสารของสิงค์โปร์
เวียดนาม มี 1ราย คือ VNG Corporation ธุรกิจด้านผลิตและลงทุนกับระบบนิเวศน์สุดล้ำสมัย และ Revolution Precrafted ธุรกิจเกี่ยวกับบ้านสำเร็จรูป ยูนิคอร์น หนึ่งเดียวของฟิลิปปินส์
ล่าสุดก็อย่างที่คนไทยทราบดี ยูนิคอร์น ม้าวิเศษตัวแรกของไทยเป็นธุรกิจด้านอีคอมเมิร์ซ ซึ่งก็คือ “แฟลช กรุ๊ป” สามารถก้าวสู่การเป็นยูนิคอร์นได้สำเร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ช่วยปลุกฝันสตาร์ทอัพไทยให้สดใสขึ้นอีกครั้ง จากการปิดดีลระดมทุนซีรีส์ E 150 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 4,700 ล้านบาทสำเร็จ
ม้าวิเศษรายแรกของไทย รายที่ 11 ในอาเซียน
ย้อนกลับไปดูความเป็นมาของกลุ่มธุรกิจแฟลช เป็นผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซสัญชาติไทยครบวงจร และเป็นบริษัทแม่ของแฟลชเอ็กซ์เพรส ผู้ให้บริการขนส่งเอกชน ซึ่งมี “นายคมสันต์ ลี” ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2560 และสามารถทำได้ 47 ล้านบาทเมื่อปี 2561 แต่ในปีนั้นยังคงขาดทุนอยู่ 183 ล้านบาท และได้ขยับรายได้เติบโตเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเป็น 2,123 ล้านบาทในปี 2562 พร้อบกับยอดตั้งใจขาดทุน 1,666 ล้านบาท ซึ่งสูงขึ้นเป็นเงาตามตัวจากกลยุทธ์การตลาดแบบ ‘เฉือนเนื้อ’
อย่างไรก็ตาม ในสมรภูมิธุรกิจขนส่งพัสดุในประเทศไทยกำลังเริ่มเติบโต และมีคู่แข่งลงสนามมากขึ้น “แฟลช กรุ๊ป” จึงต้องอัดเม็ดเงินลงทุนเพื่อเพิ่มจุดขนส่งจาก 1,100 แห่ง เป็น 5,000 แห่ง เพื่อสู้กับคู่แข่งหลัก หลายราย อาทิ ไปรษณีย์ไทย เจ้าถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยมานานกว่า 137 ปี บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จากฮ่องกงที่สร้าง IPO สุดร้อนแรงในตลาดหลักทรัพย์, ลาซาด้า เอ็กซ์เพรส, นิ่มเอ็กซ์เพรส,เอสซีจี ยามาโตะเอ็กซ์เพรส และพัสดุภัณฑ์ไทย
แต่ แฟลช ก็สามารถไต่อันดับจากเบอร์ 4 ขึ้น ได้ในเวลาเพียงไม่ถึง 5 ปี โดยเมื่อเดือนตุลาคม 2563 แฟลช เอ็กซ์เพรส ได้ระดมทุนจำนวน 3,000 ล้านบาท โดยกลุ่มปตท.,กระทิงดิง และกรุงศรี เป้าหมายเพื่อขยายการบริการและธุรกิจออกไปยังตลาดอื่นในภูมิภาคอาเซียน และการพัฒนาอัพเกรดเทคโนโลยี ซึ่งจะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผูกพันธมิตรกับปตท.โดยผ่านบริษัทบริษัทปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เมื่อปี 2563 ถือเป็นก้าวย่างสำคัญของความสำเร็จ
เพราะ OR ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าตลาดสถานีบริการน้ำมันและค้าปลีกกว่า 2,100 สาขาขณะนั้น นั่นทำให้แฟลชสามารถปักหมุดกระจายตามเครือข่ายของพันธมิตรได้กว้างขวางเป็นการเสริมจุดแข็งซึ่งกันและกันอย่างลงตัว
ยิ่งเมื่อมาพบกับการแพร่ระบาดของโควิด 19 ประชาชนหันมาใช้บริการธุรกิจอีคอมเมิร์ซมากขึ้น ยิ่งทำให้ธุรกิจนี้ได้รับอานิสงค์ขึ้นไปอีก สะท้อนผ่านผลประกอบการล่าสุด 2563 ที่ “แฟลช เอ็กซ์เพลซ” ให้บริการขนส่งสินค้ามากกว่า 300 ล้านชิ้น เติบโต 500% จากปี 2562
ใครลงทุนในดีลนี้อีกบ้าง
สำหรับการระดมทุนครั้งล่าสุดในรอบซีรีส์ D+ และซีรีส E มีกลุ่มผู้ลงทุนจาก SCB 10X , บริษัทจันวาณิชย์ ซีเคียวริตี้ พริ้นท์ติ้งจำกัด, กลุ่มทุนจากสิงคโปร์ Buer Capital ,รวมถึงผู้ลงทุนเดิมอย่าง eWTP, บริษัทปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์, บริษัท เดอเบล จำกัด (Durbell) ภายใต้กลุ่มธุรกิจTCP บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด ในเครือกรุงศรี กรุ๊ป
ทำให้แฟลช กรุ๊ประดมทุนจบในรอบซีรีส์ E รวมเงินทุน 150 ล้านดอลลาร์หรือราว 4,700 ล้านบาทสำเร็จ ก้าวขึ้นเป็นยูนิคอร์นรายแรกในไทย ทั้งยังทำสถิติเป็นสตาร์ทอัพไทยรายแรก ที่สามารถระดมทุนรวมได้มากที่สุดในระยะเวลาเพียงแค่ 3 ปี ทำให้ธุรกิจมีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือมากกว่า 30,000 ล้านบาท
เรียกได้ว่าเป็นสตาร์ทอัพ ยูนิคอร์น รายแรกของไทยในที่สุด
ทำให้น่าจับตาว่า เดิมพันครั้งนี้เกิดจากการประเมินแนวโน้มตลาดขนส่งสินค้า และอีคอมเมิร์ชในปี 2564 ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ท่ามกลางการแข่งขันให้บริการที่รุนแรงขึ้น ทำให้แฟลช ต้องกางแผนลงทุน10,000 ล้านบาท เพื่อการพัฒนาระบบจุดกระจายสินค้า โดยจะเน้นไปที่ต่างจังหวัดมากขึ้น เพิ่มคลังคัดแยกพัสดุ
รวมถึงจุด Drop Box รับส่งพัสดุทั่วประเทศ รวมถึงการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มใหม่ๆเพื่อสอดรับกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และอีคอมเมิร์ชที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อแข่งขันให้ได้ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในไทย แต่ได้มองข้ามช็อตไปถึงการขยายเครือข่ายการบริการครอบคลุมตลาดอาเซียนให้ได้ภายใน 5 ปี นับจากไตรมาส 1 ปี 2564 ที่จะปักหมุดที่ CLMV ก่อนที่จะขยายไปยังกลุ่มอาเซียนให้ครบ นับว่าเป็นก้าวย่างที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง