ในขณะที่ภาคขนส่งของไทยนำโดยสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เริ่มเข็ดเขี้ยวกับราคาดีเซลที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนบรรดาผู้ประกอบการรถบรรทุกต่างหันมาสนใจเชื้อเพลิงB20 ขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งส่งเสียงดังๆ ให้ผู้มีอำนาจในกระทรวงพลังงานลดราคา B20 ลงมาอีกเพื่อจูงใจผู้ใช้ ซึ่งดูไม่ต่างจากการ ‘ตีกิน’ เอาง่ายๆ เพราะเอาเข้าจริง B20 สามารถใช้ได้กับรถบรรทุกเก่าที่มีอายุการใช้งานนานกว่า 10 ปีขึ้นไปเท่านั้น ซึ่งเป็นรถรุ่นเก่า และมีสัดส่วนทั้งประเทศเพียงร้อยละ 15 ของรถบรรทุกที่วิ่งบนถนนทั้งหมด
นี่เรากำลังถามหาการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือ อนาคตพลังงานทางเลือกด้านการขนส่งของประเทศ หรือแค่การใช้เล่ห์เหลี่ยมช่วงชุลมุนในยามที่ทางออกด้านพลังงานทางเลือกของประเทศเจอทางตัน แล้วช่วยกันวางเพลิงปล้นสดมภ์ ซ้ำเติมกันแน่
ทำความเข้าใจกับ ไบโอดีเซลกันสักนิด …เชื้อเพลิงเหลวที่ผลิตจากไขมันพืช ไขมันสัตว์ หรือสาหร่ายขนาดเล็ก รวมถึงน้ำมันที่ใช้แล้วจากการปรุงอาหาร ซึ่งล้วนเป็นสารประกอบอินทรีย์ประเภทไตรกลีเซอไรด์ โดยผ่านกระบวนการทรานเอสเทอริฟิเคชั่น หรือการเติมแอลกอฮอล์ เช่น เมทานอลหรือเอทานอล และมีตัวเร่งปฏิกิริยา เช่น โซเดียมไฮดรอกไซด์ ภายใต้ภาวะอุณหภูมิสูง เพื่อเปลี่ยนไขมันให้เป็นเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมัน หรือเอทิลเอสเตอร์ของกรดไขมัน ขึ้นอยู่กับประเภทของแอลกอฮอล์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตและมีกลีเซอรอลเป็นผลพลอยได้ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอาง
ประเทศไทยเคยมีนโยบายส่งเสริมให้ใช้สบู่ดำเพื่อผลิตไบโอดีเซล แต่ก็ไม่มีเกษตรกรสนใจปลูก ก็หันไปใช้พืชที่ใช้เป็นอาหารแทน คือ ปาล์ม เมล็ดทานตะวัน สาหร่าย น้ำมันพืชใช้แล้ว ซึ่งหนึ่งในข้อได้เปรียบของไบโอดีเซลคือการใช้ทดแทนน้ำมันแบบเดิมได้ ในฐานะแหล่งของพลังงานทดแทนที่ได้จากท้องถิ่น ไบโอดีเซลช่วยลดการพึ่งพาการน้ำเข้าปิโตรเลียมได้ ไบโอดีเซลยังไม่มีพิษย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และเหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมที่อ่อนไหวต่อการถูกทำลาย
ไบโอดีเซลนั้นปราศจากปิโตรเลียมแต่สามารถผสมในอัตราส่วนเท่าไรก็ได้กับน้ำมันดีเซลที่ผลิตจากปิโตรเลียมเพื่อผลิตส่วนผสมกับไบโอดีเซล ไบโอดีเซลนั้นหมายถึงเชื้อเพลิงทางเลือกบริสุทธิ์ก่อนที่จะผสมกับดีเซลที่ผลิตจากปิโตรเลียม ไบโอดีเซลผสมนั้นจะถูกแสดงด้วยสัญลักษณ์ “BXX” ซึ่ง XX หมายถึงเปอร์เซ็นต์ของไบโอดีเซลที่ผสมอยู่ ยกตัวอย่างเช่น ตัวอย่างเช่น น้ำมัน B20 เป็นการผสมไบโอดีเซล 20 เปอร์เซ็นต์กับน้ำมันดีเซลธรรมดา 80 เปอร์เซ็นต์ B100 เป็นไบโอดีเซลบริสุทธิ์ โดยในปี 2560 ในประเทศไทยมีการใช้ ไบโอดีเซล 3.8 ล้านลิตรต่อวัน
ในขณะที่ บทสรุปบางส่วนของผู้ประกอบการในภาคขนส่ง ต่อการส่งเสริมพลังงานทางเลือกของภาครัฐ จะลงเอยที่ B20 แต่เอาเข้าจริงตามที่ให้ข้อมูลไว้ในข้างต้นว่ามีรถบรรทุกที่ใช้ได้เพียง 15 % จากที่มีทั้งประเทศ ปัญหาคือเครื่องยนต์ไม่สามารถรองรับเชื้อเพลิง B20 ได้ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีความชัดเจนด้านพลังงานทางเลือกจึงมีคนไป ‘ปลุกผี’ เชื้อเพลิง ‘B10’ หวังเป็นพระเอกในยามสับสนวุ่นวายของนโยบายด้านพลังงานทดแทนในประเทศที่นำโดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน นำร่องใช้น้ำมัน B10 จากไบโอดีเซลคุณภาพสูง (H-FAME) ในภาคขนส่ง โดยมีการทดสอบการใช้งาน น้ำมัน B10 ในส่วนของรถโดยสารและรถบรรทุก เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการผลักดันการเพิ่มสัดส่วนไบโอดีเซลในอนาคต ทั้งหวังแก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันที่โอเวอร์ซัพพลายในปัจจุบัน
โดยกระทรวงพลังงาน ได้หาแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกร โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินโครงการจำหน่ายน้ำมัน B20 ให้กับรถเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มรถบรรทุกขนส่งสินค้า ซึ่งคาดว่าจะสามารถดูดซับ CPO ได้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเชิญชวนผู้ค้าน้ำมัน และผู้ประกอบการรถขนส่งให้เข้าร่วมโครงการ โดยจะได้รับสิทธิพิเศษในการซื้อน้ำมัน B20 ในราคาพิเศษที่ต่ำกว่าราคาจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไป ส่วนระยะยาวกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการศึกษาการปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน B10 เพื่อให้กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ยอมรับ และเพื่อให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางการบังคับใช้ B10 ต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงพลังงานระบุว่า การไปปลุกผี B20 B10 หรือแม้แต่ B100 มาจากแนวคิดของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจในการมุ่งแก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันในประเทศเป็นหลัก ไม่ได้เจาะจงจะให้เป็นพลังงานทางเลือกในอนาคตหรืออะไรทั้งสิ้น หวังเพียงให้ช่วยดึงสต็อกส่วนเกินของปาล์มน้ำมันให้ลดลง เพื่อเอาอกเอาใจฐานเสียงชาวสวนปาล์ม ขณะที่ การใช้พืชที่เป็นอาหารหรือประกอบอาหารอย่างปาล์มน้ำมัน จะไม่เป็นผลดีเพราะมีบางช่วงที่ไทยต้องน้ำเข้าน้ำมันพืชจากมาเลเซียในราคาสูงช่วงที่ตลาดขาดแคลนน้ำมันพืชในการบริโภค ขณะที่การส่งเสริมการปลูกพืชที่ไม่ใช่อาหารมาผลิตเป็นไบโอดีเซลกลับเป็นโครงการที่ถูกดอง และ เอาเข้าจริง หากลองไปศึกษาในด้านการใช้ไบโอดีเซลที่เกิดประโยชน์ในปัจจุบัน ตามข้อมูลของกระทรวงพลังงานพบว่าเกิดความคุ้มค่าในการนำไปเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ามากกว่านำไปใช้ในด้านการขนส่ง …ถึงตรงนี้พอจะมองเห็นอนาคตพลังงานทางเลือกในประเทศไทยบ้างหรือยัง ?