จำเนียรกาลกลับไปหลังเกิดมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ปี 54 ผู้คลุกคลีตีโมงในป่าดงดิบสิบล้อเมืองไทยคงพอจำกันได้กับการไหลบ่าของบรรดาค่ายรถใหญ่จากจีนแผ่นดินใหญ่ตีตลาดเมืองไทยสุดลิ่มทิ่มประตู บรรดาอาเฮียอาซ้อกระเป๋าหนักบุกเมืองจีนกระหน่ำช้อปปิ้งหลากหลายยี่ห้ออาสาเป็นตัวแทนจำหน่ายเข้ามาขายในไทยหนุกหนานบานตะไท
ว่ากันว่าเวลานั้นรถบรรทุกสายพันธุ์มังกรขายดิบขายดียังกะเทน้ำเทโซดา เพราะราคาถูกสั่งจองรอไม่นาน ประกอบเวลานั้นค่ายรถญี่ปุ่นประสบปัญหาสายพานการผลิต-ประกอบสั่งจองได้แต่…รอน๊านนาน ไม่ทันใจผู้ประกอบการที่ต้องรถไปใช้งานเร่งด่วนกับงานซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานของประเทศขนานใหญ่หลังมวลน้ำก่อนใหญ่โบกมือลา เป็นอุปสงค์อุปทานให้ยอดขายรถบรรทุกในปี 55 ทะลุเป็นประวัติการณ์กว่า 4 หมื่นคัน
ทว่า ความรุ่งโรจน์รถจีนดูเหมือนจะหอมหวานชนิดหม้อข้าวไม่ทันจะดำก็ถึงครารุ่งริ่ง ด้วยปัญหาไร้เอกภาพของผู้นำเข้าที่ต่างคนต่างนำเข้าเพราะอยากได้แค่ปริมาณ“ยอดขาย”แต่ไร้สำเหนียกบริการหลังการขาย อะไหล่ก็ห่วยแตก รวบตึงเป็นที่มาแบรนด์จีน“ขายแล้วทิ้ง”ด้วยภาพลักษณ์ติดลบหลอกหลอนผู้ประกอบการขนส่งเมืองไทยถึงขนาดต้องร้อง“ยี้“หากเอ่ยถึงรถบรรทุกจีน
หล่อหลอมสมรภูมิรถใหญ่เมืองไทยกลายเป็น“ตลาดปราบเซียน-ตลาดอาถรรพ์“สำหรับค่ายรถจากจีน ส่งผลให้หลายค่ายมิอาจทนพิษบาดแผลได้ม้วนเสื่อกลับไปเลียแผลใจที่แดนมังกรรายแล้วรายเล่า!
ทว่า แม้จะหวานอมขมกลืนก็ยังมีอีกหลายค่ายที่ยังกัดฟันสู้ตลาดอาถรรพ์ เช่นเดียวกับค่ายโฟตอน (ตอนนี้แปรงร่างเป็น CP FOTON) เส้นทางการเซิ้งการตลาด ณ แผ่นดินสยาม ก่อนหน้านี้เคยเลื้อยอยู่ในอ้อมกอดดิสทริบิวเตอร์รายเดิมหลายปีแต่ผลงานไม่บรรเจิด&ระเบิดเถิดเทิงพลางแจ้งเกิดไม่ทันใจหน่วยเหนือ
หลังหมดสัญญาจากผู้นำเข้ารายเดิม ถึงขนาดที่บริษัทแม่จากจีนแผ่นดินใหญ่ใจใหญ่ยอมทุบคลังก่อตั้งบริษัทลูกเองในไทยพร้อมพาเหรดผู้บริหาร-ทีมงานกุมทัพบริหารเองกับมือ แต่ยอดขายแต่ละปีมีเพียงแค่“หยิบมือ”และยังไม่รับความนิยมจากผู้ประกอบการขนส่งเมืองไทยเท่าไหร่นัก
ค่ายโฟตอนยังไม่ยอมแพ้ง่ายๆเมื่อช่วงเมษาปี 62 คงจะพอจำกันได้กับปฏิบัติการสายฟ้าแลบผ่ากลางท้องทุ่งรถใหญ่เมืองไทย เมื่อกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ไทยอย่าง ซี.พี.กรุ๊ป บุกแดนมังกรดอดสลัดหมึกสัญญาร่วมทุนกับโฟตอน มอเตอร์ กรุ๊ป มหาอำนาจอุตสาหกรรมยานยนต์เบอร์หนึ่งของจีน นำไปสู่การแปรงร่างเป็นแบรนด์ “CP FOTON”ภายใต้การขับเคลื่อนของบริษัท ซีพี โฟตอน เซลส์ จำกัด
เมื่อ 2 ยักษ์ใหญ่โคจรมาเจอกันแล้วจูบปากร่วมทุนแบบวินๆทั้งคู่ ทว่า ก็มิวายถูกวิจารณ์ให้แซดว่าค่ายรถใหญ่จากแดนมังกรหลังยกพลขึ้นบกบุกแผ่นดินสยาม ทนพิษบาดแผลจากสมรภูมิรถใหญ่เมืองไทยไม่ได้ หรืออาการหนักสาหัสสากรรจ์ขนาดนั้นเลยหรอ? หรือเทพองค์ใดเข้าฝันดลใจ?หมดท่าถึงต้องเซถลาพึ่งใบบุญกลุ่มทุนยักษ์ ซี.พี.เชียวหรือ?
วันก่อน บริษัท ซีพี โฟตอน เซลส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ชั้นนำภายใต้แบรนด์“ซีพี โฟตอน”(CP FOTON) ที่เกิดขึ้นบนความร่วมมือทั้ง 2 ยักษ์ใหญ่ก็ได้แหวกม่านควันพิษเจ้ามหาประลัยโควิดจัดงานฉลองครบรอบ 1 ปีของการร่วมทุน จุดพลุแนวคิด “Drive The Future” ประกาศเปรี้ยงปร้างมุ่งพัฒนา 3 มาตรฐาน“งานขาย-บริการหลังการขาย-อะไหล่”ทั้งระบบ
เร่งขยายเครือข่ายดีลเลอร์ครอบคลุมทั่วประเทศ ตั้งเป้ายอดขายปี 63 นี้ 450 คัน ปี 64 เพิ่ม 600-800 คัน ลั่นอีก 2-3 ปีตั้งโรงงานผลิต-ประกอบในไทย เปิดตัว 4 รุ่นใหม่แข่งในตลาดกล้ารับประกัน 6 ปีสูงสุด 8 แสนกม. มั่นใจดันพันธกิจกรุยทางผงาดติด 1 ใน 3 ผู้นำตลาดรถใหญ่เมืองไทย
ผ่านมา 1 ปีดีกรีเข้มค่าย CP FOTON ยังหมายมั่นปั้นมือมิเสื่อมคลาย คือต้องติด 1 ใน 3 ผู้นำตลาดให้ได้ แต่เส้นทางฝันสู่การติด Top 3 ผู้นำตลาดรถใหญ่เมืองไทยในอีก 3 ปีข้างหน้านั้น ทำไมพวกเขาถึงกล้าคิดการณ์ใหญ่ หรือมีดีอะไรถึงได้มั่นใจอะไรเพียงนั้น?แล้วค่ายไหน?คือคู่แข่งหมายเลข 1 ในบรรดา Top 3 ที่ค่าย CP FOTON ต้องโค่นลงให้ได้ก่อนคิดการณ์ใหญ่โค่น 2 มหาอำนาจรถใหญ่ เป็นงานง่ายยังกะปลอกกล้วยเข้าปาก หรือ…เข็นครกขึ้นภูเขา?มาดูกันชัดๆ!
ด้วย 2 มิติความยิ่งใหญ่ได้ขมวดเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ปัจจัยพื้นฐานเชิงบวกแล้ว เป็นเหตุและผลที่ 2 ยักษ์ใหญ่มุ่งหวังจะเป็นโอกาสและการเติบโตในอนาคตทั้งตลาดในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ช่วยเป็นสะพานเชื่อมทางสู่ความสำเร็จด้านยอดขาย CP FOTON ก้าวขึ้นแท่นติด 1ใน 3 ผู้นำตลาดรถใหญ่ในไทยได้ตามเป้าหมาย
ถามว่าเส้นทางฝันสู่ฝันหวังติด Top 3 ภายใน 3 ปีข้างหน้าจะสะดวกโยธินหรือไม่?จะเป็นฝันที่เป็นจริง หรือแค่…ฝันเฟื่อง ต้องกลับมาดูสรรพกำลัง CP FOTON ณ เวลานี้พรั่งพร้อมแค่ไหน? ด้านทีมงานผู้บริหารคลังสมอง-หน่วยเคลื่อนที่งานขาย-บริการแน่นปึ๊กไม่ว่าจะฟากฝั่งซี.พี.และโฟตอนเอง งานด้านกลยุทธ์มือการตลาดชั้นเซียนระดับซี.พี.แล้วน่าจะวางหมากไว้อย่างแยบยลชนิดเหยียบหิมะไร้ร่องรอยพลางซ่อนประตูกลไว้อีกหลายชั้น
เราอาจเห็นปรากฏการณ์“ซื้อเหล้าแถมเบียร์”หรือ“3 ขวดร้อย”อาจถูกงัดถั่งงัดออกมาถล่มตลาดก็เป็นไปได้ การสร้างสายสัมพันธ์ซี้ย้ำปึ๊กเพื่อดูดกำลังซื้อจากลูกค้าเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งภายในและนอกอาณาจักรซี.พี.แค่ล็อกเป้าเฉพาะ 6 ล้อวิ่งงาน 7-11 ก็เหลือคณาแล้ว หรือแม้กระทั่งแหล่งเงินทุนแล้วล่ะก็ เจ้าพ่อซี.พี.เขาถนัดดีนักแล ส่วนงานด้านอะไหล่และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุกขนาดใหญ่ กลาง เล็ก รถบัสโดยสาร และยานยนต์สมัยใหม่โดยเฉพาะรถยนต์พลังงานไฟฟ้า
ทั้งหมด…..น่าจะไหลมาเทมาดั่งฝนอันชื่นใจหลังจากนี้!?
การลั่นวาจาจะวางแผนสร้างโรงงานผลิต-ประกอบในไทยในอีก 2-3 ปีเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปทำตลาดในภูมิภาคอาเซียน ส่วนการขยายเพิ่มดีลเลอร์ครอบคลุมทั่วประเทศ ณ เวลานี้มี 24 แห่งปีหน้าเพิ่มอีก 6 แห่ง เป็นกระจกบานใหญ่สะท้อนชัดพวกเขาไม่ได้มาเล่นๆ ด้วยบารมีอาณาจักรซี.พี.ที่ช่วยชุบร่างใหม่ค่าย CP FOTON กลายเป็นแบรนด์เนื้อห๊อมหอม พลิก“ภาพลักษณ์ติดลบ”รถจีนในสายตาผู้ประกอบการกลับมาเป็นแบรนด์ดูดีมีสง่าราศีมากกว่าเดิม
วงในเม้าท์มอยให้แซดทั่วทั้ง 7 อบต.ว่าบรรดาดีลเลอร์ที่เคยและยังขายแบรนด์ญี่ปุ่นหลายรายแห่ขายขนมจีบสมัครเป็นดีลเลอร์ CP FOTON แทบกระไดไม่แห้ง!
แล้วค่ายไหนล่ะ?คือคู่แข่งอันดับ 1 ที่พวกเขาต้องโค่นลงเพื่อก้าวขึ้นไปแทน เบอร์ 4 ของตลาด คือค่ายชบาแดง หรือฟูโซ่ ที่นับวันสาละวันเตี้ยลงๆพลางออกทะเลไปเกยตื้นที่แดนลอดช่องสิงคโปร์ น่าจะเป็นม้านอกสายตาในเวลานี้ คงหมายตาไปที่เบอร์ 3 ของตลาด คือค่ายยูดี ทรัคส์ในสังกัดวอลโว่ กรุ๊ป เป็นคู่แข่งตัวฉกาจที่ได้เปรียบในภาพลักษณ์ความเป็นแบรนด์ญี่ปุ่น ที่อยู่คู่สังคมขนส่งไทยมานานและแต่ละปีกดยอดขายได้ 900-1,000 คัน ที่พวกเขาต้องล้มให้ได้เสียก่อน
ก่อนที่จะคิดการณ์ใหญ่ไปเทียบรัศมี 2 ผู้ยิ่งใหญ่ของตลาด“อีซูซุ-ฮีโน่“ที่อยู่คู่วงล้อสังคมขนส่งไทยมาอย่างยาวนาน 50-60 ปีกว่าจะสร้างความแข็งแกร่งครองเป็นผู้นำตลาด แต่ละปีกวาดยอดขายรวมกันทั้ง 2 ค่ายเกือบ 2 หมื่นคันต่อปีกินสัดส่วนตลาดไปกว่า 90%
แล้ว CP FOTON ล่ะฝังหนอกในไทยได้กี่ปี?เดี๋ยวจะถูกมองว่า “ฮึกเหิมเกินงาม” และกว่าจะเข้าใกล้รัศมีความยิ่งใหญ่และโค่น 2 มหาอำนาจรถบรรทุกจากแดนปลาดิบลงได้ แม้เป็นอะไรที่ยากมากๆแต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้
…ปูเสื่อรอดูยาวๆ!
:ขันธ์ธีร์