ตัวเลขการนำเข้าผลไม้ไทยที่ด่านโหย่วอี้กวาน ที่ผู้ขนส่งใช้เส้นทางถนนสาย R9 มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นมาก โดยในปี 2560 ที่ผ่านมา ผลไม้ไทยที่นิยมนำเข้าที่ด่านโหย่วอี้กวาน 3 อันดับแรก คือ ทุเรียน (33,575 ตัน เพิ่มขึ้น 332.2% / มูลค่า 568.3 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 352.6%) มังคุด (19,381 ตัน ลดลง 7.26% / มูลค่า 289.8 ล้านหยวน ลดลง 7.17%) และลำไยสด (242 ตัน มูลค่า 2.23 ล้านหยวน )
การขนส่งที่สะดวกรวดเร็วที่ด่านโหย่วอี้กวาน ซึ่งมีบริเวณช่องทางสัญจรพิเศษ (Fast track Lane) สำหรับรถบรรทุก มีรถบรรทุกผลไม้ป้ายทะเบียนเวียดนามจำนวนมากจอดเรียงรายเพื่อรอผ่านพิธีการศุลกากร โดยผลไม้ไทยขนส่งถึงด่านโหย่วอี้กวาน จะมีขั้นตอนการผ่านพิธีการศุลกากรสำหรับผลไม้นำเข้าสามารถดำเนินการให้เสร็จได้ภายใน 1 วัน ซึ่งเมื่อเทียบกับการขนส่งทางเรือแล้ว ผู้ค้าผลไม้จึงไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาตู้สินค้าค้างท่าและต้นทุนค่าใช้จ่ายที่งอกเงยตามมา
ขณะที่ทาง “ด่านตงซิง” ด่านพรมแดนทางบกแห่งที่ 2 ของกว่างซีที่เปิดให้มีการนำเข้า-ส่งออกผลไม้กับต่างประเทศ (ยังไม่นับรวมประเทศไทย)ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ต่อจากด่านโหย่วอี้กวานในอำเภอระดับเมืองผิงเสียงของกว่างซี ซึ่งปัจจุบัน เทศบาลเมืองตงซิงกำลังผลักดันร่วมกับฝ่ายไทยผ่านสถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง และสำนักงานฝ่ายการเกษตรประจำนครกว่างโจวให้ด่านตงซิงสามารถนำเข้าผลไม้จากประเทศไทยได้และทำได้สะดวกมากขึ้น
ปัจจุบัน ด่านตงซิงเริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมจากผู้ค้าผลไม้ชาวจีนเพิ่มมากขึ้น ผลไม้ที่นำเข้าผ่านด่านตงซิง อาทิ แก้วมังกร แตงโม ขนุน มะม่วง ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ และกล้วย ปริมาณการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้การใช้รถบรรทุกขนาดเล็กวิ่งไปรับสินค้าที่ฝั่งเวียดนามไม่ตอบโจทย์ผู้ค้า เพราะการขนถ่ายสินค้าต้องใช้เวลาและส่งผลให้ผลไม้บอบช้ำและไม่สดใหม่ เจ้าหน้าที่ตรวจกักกันโรคก็ต้องเสียเวลาในการตรวจสินค้าล็อตเล็ก ๆ ส่งผลให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น จีนได้พัฒนางานขนส่งด้วยรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ ผ่านสะพานทุ่นลอยเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2561ที่ผ่านมา โดยรถบรรทุก 2 คันสามารถวิ่งผ่านเข้ามาดำเนินพิธีการศุลกากรและตรวจกักกันโรคที่ด่านตงซิงอย่างราบรื่น ซึ่งช่วยร่นระยะเวลาการผ่านพิธีการศุลากรได้เร็วขึ้น 40% ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายโดยรวมและผลไม้ยังคงความสดใหม่ได้ดี
โดยทางเมืองตงซิงคาดว่า ปริมาณการค้าผลไม้จะพุ่งแตะระดับล้านตันภายใน 5 ปี แนวโน้มการพัฒนาธุรกิจผลไม้ยังช่วยส่งเสริมธุรกิจด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชาวชายแดน รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเพาะปลูกพืชผักผลไม้ในพื้นที่ใกล้เคียงขนาดใหญ่ มีระบบบริหารจัดการและการค้าที่ทันสมัย เมื่อเปรียบเทียบกับ “ด่านโหย่วอี้กวาน” ที่มีข้อจำกัดเรื่องการเป็นพื้นที่ภูเขาและไม่มีทางออกสู่ทะเล (landlock) ประกอบกับสินค้าที่ผ่านเข้า-ออกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ด่านโหย่วอี้กวานเกิดปัญหาการจราจรแออัด รถบรรทุกต้องรอคิวนานเพื่อดำเนินพิธีการศุลกากร ทำให้สินค้าสดได้รับความเสียหาย ด่านตงซิงจึงเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ค้า เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรแออัดของด่านโหย่วอี้กวาน โดยเฉพาะในอนาคต เมื่อผลไม้ไทยสามารถนำเข้าผ่านด่านตงซิงได้แล้ว โดยระยะเวลาการขนส่งจากสวนผลไม้ในจังหวัดจันทบุรีถึงด่านตงซิง ใช้เวลาขนส่งประมาณ 40-45 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม ที่เรียบเรียงมาทั้งหมดนี้ ยังคงเป็นแค่แผนและความพยายามผลักดันของรัฐบาลไทยและท้องถิ่นของจีนในความพยายามในการผลักดันให้ผลไม้ไทย สามารถผ่านด่านตงชิงได้ เนื่องจากปัจจุบันผลไม้ไทยยัง ยังเข้าด่านตงซิงไม่ได้ นั่นเป็นเพราะประเด็นเรื่องโรคพืชที่รัฐบาลจีนยังไม่ปล่อยให้ผลไม้จาก ประเทศที่ไม่มีพรมแดนติดกับจีน เข้าสู่ประเทศจีนผ่านด่านทางบกได้ ซึ่งด่านทางบกที่อนุญาตให้นำเข้าผลไม้ไทย ภายใต้พิธีสารการนำเข้าและส่งออกผลไม้ผ่านประเทศที่ 3 ระหว่างไทยและจีน มีเพียง 2 แห่ง คือ ด่านโหย่วอี้ของกว่างซีบนเส้นทาง R9 และด่านบ่อหานของยูนนานบนเส้นทาง R3A เท่านั้น
ขอบคุณข้อมูล : ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน