นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษในช่วงพิธีเปิดการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ ครั้งที่ 11 (11th Pan-Beibu Gulf Economic Cooperation Forum) ผ่านระบบการประชุมทางไกล ว่า กรอบความร่วมมือรอบอ่าวเป่ยปู้ เป็นความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคที่มีความสําคัญ ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างอาเซียนและจีน และเป็นจุดยุทธศาสตร์สําคัญของเส้นทางสายไหมทางทะเล เป็น ยุทธศาสตร์สําคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ากับอาเซียน
ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันผลักดันความร่วมมือในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การเงิน รวมถึงด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมอย่างจริงจัง ทําให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเติบโต อย่างรวดเร็ว และท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ยังเป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งที่สําคัญในการลําเลียงสินค้าในรูปแบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ทั้งทางระบบราง ทางน้ํา ทางถนน และทางอากาศ โดยมีภูมิภาคตะวันตกของจีนกับอาเซียนเป็นแกนหลัก และขยายความเชื่อมโยงต่อไปยังทวีปเอเชียกลาง และยุโรปได้
ทั้งนี้ ในปัจจุบันการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้มีความร่วมมือกับท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ผ่านการจัดทําข้อตกลงท่าเรือพี่น้องระหว่าง “ท่าเรือแหลมฉบัง ราชอาณาจักรไทย” กับ “ท่าเรือชินโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง สาธารณรัฐประชาชนจีน” เพื่อขยายความร่วมมือด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ท่าเรือร่วมกัน และในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ท่าเรือแหลมฉบัง ได้เปิดเส้นทางเดินเรือมุ่งตรงสู่ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรทางบกที่ติดขัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ได้มีการพัฒนาการขนส่งสินค้าแบบควบคุม อุณหภูมิ และมีคลังสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ ทําให้ผลไม้ไทยกว่า 200 ตันถูกขนส่งทางเรือจากท่าเรือแหลมฉบังของไทยไปขึ้นที่ท่าเรือฝางเฉิงก่าง ในเขตปกครอง ตนเองกว่างซีจ้วง โดยสินค้าที่ไปถึงท่าเรือแล้ว จะได้รับการกระจายสินค้าต่อทางรถบรรทุกหรือทางรถไฟไปยังมณฑลทางภาคกลางและภาคตะวันตกของจีน ทําให้การส่งออกผลไม้สดและสินค้าเกษตรของไทยไปจีนสะดวกรวดเร็วขึ้น และสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงการขนส่งทางเรือระหว่างสองประเทศ ที่มีแนวโน้มการพัฒนาไปอย่างมั่นคงต่อเนื่อง
รวมทั้ง รัฐบาลไทยมีนโยบายเร่งผลักดันความร่วมมือเชิงลึกกับมณฑลต่างๆ ของจีน ซึ่งรวมถึง “มณฑลไห่หนาน” ที่รัฐบาลจีนอยู่ระหว่างผลักดันให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือการค้าเสรีระดับโลก ในการนี้ กระทรวงพาณิชย์กําลังอยู่ระหว่างการเจรจากับมณฑลไห่หนาน เพื่อทําข้อตกลงการค้าเป็นการเฉพาะระหว่างกัน ครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ 1.การส่งเสริม SMEs 2.การส่งเสริมนวัตกรรมและบริการสร้างสรรค์ อาทิ ดิจิทัลคอนเทนต์ 3.การอํานวยความสะดวกในการจัดกิจกรรมทางการค้า และ 4.การส่งเสริมการค้าในรูปแบบ e-commerce จะเริ่มเห็นผลที่เป็นรูปธรรมภายในปีหน้า ซึ่งจะช่วยให้ทั้งสองประเทศได้ประโยชน์ร่วมกันเป็นอย่างมาก
อนึ่ง ไทยได้เข้าร่วมการประชุมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งสมาชิกประกอบด้วยประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกับอ่าวเป่ยปู้ (หรืออ่าวตังเกี๋ย) และทะเลจีนใต้ ได้แก่ จีน และสมาชิกอาเซียน 7 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน และไทย โดยกรอบความร่วมมือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาให้อ่าวเป่ยปู้เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ขยายการค้าการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก และที่ผ่านมารัฐบาลจีนให้การสนับสนุนและผลักดันกว่างซีให้เป็น “ประตูสู่อาเซียน” และเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมทางทะเลในทศวรรษที่ 21 และข้อริเริ่ม BRI ของจีน