สินค้าเกษตรยังเป็นที่ต้องการของตลาดในช่วงเวลานี้ โดยเฉพาะการส่งออกไปประเทศจีนและการค้าชายแดนเวียดนาม หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีนเริ่มคลี่คลาย ทำให้ตลาดสินค้าเกษตรจีนเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ประมาณ 70-80% ภายใต้ข้อกำหนดที่ทำให้เกิดอุปสรรคปัญหาด้านการขนส่งบนมาตรการคัดกรองอย่างละเอียด แต่ยังสามารถทำการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนได้ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
โดยในช่วงวันที่ 1 มีนาคม – 14 เมษายน 2563 มีการส่งออกผลไม้หลักที่สำคัญ ได้แก่ ทุเรียน ลำไย และมังคุด ผ่านช่องทางต่างๆ ของด่านตรวจพืช ทั้งทางบก เรือ และอากาศ ซึ่งมีปริมาณส่งออก รวม 156,076 ตัน มูลค่า 13,947 ล้านบาทในเดือนมีนาคม 2563 มีปริมาณส่งออกผลไม้หลักที่สำคัญจำนวน 75,908 ตันในช่วงวันที่ 1-14 เมษายน 2563 มีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น จำนวน 80,168 ตัน ในระยะเวลาเพียงครึ่งเดือน มีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นผ่านช่องทางการขนส่งทางบกจากไทยไปจีนมีปริมาณ 83,808 ตัน
แม้ว่าการขนส่งสินค้าจากไทยไปจีนทางบกต้องผ่านเส้นทางหลักของประเทศลาวและประเทศเวียดนามไปสู่ประเทศจีน จึงทำให้มีความติดขัดล่าช้าตามด่านตรวจของทั้ง 2 ประเทศ ที่เพิ่มมาตรการป้องกันการการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มงวด จึงเริ่มมีการหันไปเน้นการขนส่งทางเรือเพิ่มขึ้น ให้ภาครัฐช่วยผลักดันจีนเปิดท่าเรือกวนเหล่ยในแม่น้ำโขงเพิ่มเติมอีกจุดหนึ่ง ที่ยังคงมีอุปสรรคด้านความพร้อมของจุดตรวจมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช จำต้องรอดูติดตามผลกันต่อไป
เงื่อนไขการส่งออก-นำเข้า ผลไม้สดไทยไปจีนผ่านประเทศที่สาม(ใหม่ล่าสุด)
การขนส่งผลไม้สดจากไทยไปจีน หรือ นำเข้าผลไม้สดจากจีนมาไทยภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีเงื่อนไขการนำเข้าและส่งออกผลไม้สดระหว่างประเทศไทยและจีนทางบกตามร่างพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ไทยผ่านประเทศที่สามเข้าสู่สาธารณรับประชาชนจีน ผ่านข้อตกลงร่วมกันของทั้งสองฝ่ายในช่วงโควิด-19 ดังนี้
- รายการชนิดของผลไม้สดที่อนุญาตให้นำเข้า-ส่งออกเป็นไปตามที่ทั้งสองฝ่ายกำหนด มีผลไม้ไทยจำนวน 6 ชนิด คือ มะม่วง ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ มังคุด ชมพู่ และ ผลไม้จีนมีจำนวน 5 ชิด คือ แอปเปิล แพร์ พุทรา และพืชสกุลส้ม(ส้ม ส้มเขียวหวาน ส้มโอ และเลม่อน) ต้องมาจากสวนและโรงงานคัดบรรจุที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและประกาศโดยกรมวิชาการเกษตรและ GACC แล้วเท่านั้น ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างหารือเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลการขึ้นทะเบียนสวนและโรงคัดบรรจุของผลไม้สดชนิดอื่นเพิ่มเติม โดยผลไม้ไทย จำนวน 4 ชนิด คือ กล้วย มะพร้าว สับปะรด ขนุน ผลไม้จีน จำนวน 5 ชนิด คือ พลับ เมล่อน พลัม ท้อ และเนคทารีน และจะประกาศวันที่มีผลบังคับต่อไป
- ผลไม้สดของไทยและจีนต้องนำเข้าส่งออกทางบกจากด่านที่ทั้งสองฝ่ายกำหนดเท่านั้น โดยด่านของฝ่ายไทยคือ ด่านตรวจพืชเชียงของ ด่านตรวจพืชบึงกาฬ ด่านตรวจพืชนครพนม ด้านตรวจพืชมุกดาหาร และจุดผ่านแดนถาวรบ้านผักกาดของด่านตรวจพืชจันทบุรี ด่านของฝ่ายจีน คือ ด่านโมหัน(Mohan)มณฑลยููนาน รวมถึงด่านโหย่วอี้กวน(Youyiguan) ด่านตงซิง(Dongxing) และด่านรถไฟผิงเสียง(Pingxiang Raiway) เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง
- ฉลากบรรจุภัณฑ์ผลไม้สดทุกชนิดต้องเป็นไปตามที่กำหนด โดยผลไม้ไทยจำนวน 6 ชนิดในข้อ 1 ต้องระบุหมายเลขทะเบียนสวน(รหัส Ac หรือ TG*เฉพาะทุเรียน)และหมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุ(รหัส DOA) ตามที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและประกาศในเว็บไซต์ของ GACC แล้ว ส่วนผลไม้ชนิดอื่นที่เหลือยังไม่ต้องระบุหมายเลขทะเบียนและประกาศในเว็บไซต์ของ GACC นอกจากนี้ ซีลปิดตู้สินค้าต้องเป็นไปตามรูปแบบที่กำหนด
- ใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการนำเข้าและส่งออกผลไม้ระหว่างไทยและจีนทางบกต้องระบุหมายเลขตู้สินค้า หมายเลขซีลทุกครั้ง ทั้งนี้ มะม่วง ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ และมังคุดให้ระบุหมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุรหัส DOA ชมพู่ให้ระบุ หมายเลขสวนรหัส AC (จำนวนกล่อง/ตะกร้า) และหมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุรหัส DOA ส่วนผลไม้ 16 ชนิดที่จีนอนุญาตให้นำเข้า ได้แก่ มะขาม น้อยหน่า มะละกอ มะเฟือง ฝรั่ง เงาะ ขนุน ลองกอง สับปะรด ละมุด กล้วย เสาวรส มะพร้าว ส้มเปลือกล่อน ส้ม ส้มโอ ที่เหลือยังไม่ต้องระบุหมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุรหัส DOA จนกว่าจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการขึ้นทะเบียนและประกาศในเว็บไซต์ของ GACC
- ใบรับรองสุขอนามันพืชต้องระบุข้อความรับรองพิเศษตามที่กำหนด
- ด่านส่งออกตามที่กำหนด ต้องส่งสำเนาใบรับรองสุขอนามัยพืชฉบับจริงทาง E-Mail ให้กับด่านนำเข้าตามที่กำหนด ล่วงหน้าก่อนที่สินค้าจะเดินทางมาถึง
- ลำไยสดส่งออกไปจีนต้องมีใบรับรองสุขอนามัยที่รับรองปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างกำกับไปพร้อมกับสินค้าทุกครั้ง
- ตู้สินค้าผลไม้จะต้องไม่ถูกเปิดระหว่างขนส่งผ่านประเทศที่สาม
- เมื่อสินค้าเดินทางมาถึงด่านนำเข้า เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบซีล เอกสารที่เกี่ยวข้อง และความถูกต้องสมบูรณ์ของสินค้ -หากพบว่าใบรับรองสุขอนามัยพืชปลอม หรือข้อมูลไม่ถูกต้องครบถ้วนตามที่กำหนดในข้อ 4 และ 5 สินค้านั้นจะถูกปฏิเสธการนำเข้า
- หากพบว่าใบรับรองสุขอนามัยพืชและชนิดสินค้าไม่ตรงกัน ซีลถูกทำลาย หรือพบการปลอมผลไม้ที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศอื่นสินค้านั้นจะถูกส่งกลับหรือนำไปทำลาย
- หากพบว่าสารตกค้างมีปริมาณสูงสุดเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด หรือตรวจพบศัตรูพืช หรือพบการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดอื่นใดในการนำเข้า เจ้าหน้าที่ด่านนำเข้าของจีนจะดำเนินการตามมาตรการ 12 ของ “พิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการตรวจสอบและกักกันโรคสำหรับผลไม้เมืองร้อนส่งออกจากไทยไปจีน”
ในทางตรงกันข้าม เจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชของไทยจะดำเนินการตามมาตรา 11 ของ “พิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการตรวจสอบและกักกันโรคสำหรับผลไม้เมืองร้อนส่งออกจากจีนไปไทย” ปี 2547
สุดท้าย แต่ละฝ่ายจะต้องแจ้งข้อมูลการปฏิบัติตามข้อกำหนดในการนำเข้าให้อีกฝ่ายทราบโดยเร็วที่สุด เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุของปัญหาและใช้มาตรการป้องกันแก้ไขอย่างเหมาะสม
แหล่งอ้างอิง
https://www.bangkokbanksme.com/en/thai-chinese-fruit-import-and-export-regulations