สสาร ไม่มีวันย่อยสลายไปจากโลก หากแต่เปลี่ยนสถานะจากรูปแบบหนึ่งไปสู่อีกรูปแบบหนึ่ง วิทยาศาสตร์ชั้นประถม ใครๆก็ต้องเคยเรียนมา แต่ถ้าเราเรียกฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือโด่งดังในชื่อ PM 2.5 ว่าเป็น ‘สสาร’ คือเปลี่ยนจากรูปแบบหนึ่ง ไปสู่อีกรูปแบบหนึ่ง กระนั้นก่อนจะเป็นฝุ่นจิ๋วมหาภัย วายร้ายรบกวนความสงบสุขคนเมืองนี้ ก่อนหน้านี้มันเคยเป็นอะไรมากก่อน
ถามให้ง่ายกว่านี้ คือ อะไรคือต้นเหตุทำให้เกิดฝุ่นพิษขึ้นมา ?
เรื่องนี้ นักวิทยาศาสตร์มีมุมมองตรงกัน คือ มลพิษประเภทฝุ่นละออง PM2.5 มีแหล่งกำเนิดมาจากการเผาไหม้ เช่น การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ในภาคขนส่ง โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล โรงงานอุตสาหกรรม การเผาไหม้ชีวมวลในภาคเกษตร หรือเผาในที่โล่งแจ้ง และการบริโภค โดยมีตัวกลางคือสภาพอากาศและปลายทางคือปอดของพวกเรานั่นเอง
แต่อย่าตกใจไป ไม่เฉพาะแต่ PM2.5 ที่เป็นตัวการ ยังมีฝุ่นละออง สารโลหะหนักและก๊าซพิษอีกหลายชนิดที่วนเวียนอยู่ในปอดคนเมือง อาทิ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ตะกั่ว (Lead) ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 100 ไมครอน (Total Suspended Particles : TSP) ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน หรือPM 10 นอกจากนี้ยังมีสารมลพิษอากาศที่ถูกกำหนดค่าการปลดปล่อยจากปล่องอุตสาหกรรมอีกหลายชนิดที่สนใจมารวมตัวในระบบทางเดินทางใจของคนเมือง
เราคงไม่ต้องบอกกันว่ามันอันตราย !!!
สงสัยกันหรือไม่ว่า ใครกันที่ทำให้พวกเราคุณภาพชีวิตเราเสี่ยงขนาดนี้ โดยเฉพาะคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ต้องแบกรับชะตากรรม ทรมานระบบทางเดินหายใจอยู่ทุกวี่ทุกวัน แถมดูเหมือนว่าในรอบ 4 ปีมานี้ เจ้าฝุ่นพิษนี่เกิดบ่อยและมาเยอะเป็นพิเศษ
ลองไปดูรายงานของกรมควบคุมมลพิษ ที่ระบุว่าต้นกำเนิดฝุ่นพิษ PM 2.5 ในกรุงเทพฯ (ย้ำว่าในกรุงเทพฯ) กว่า 70% เกิดจากภาคขนส่ง รถบรรทุก รถบัส รถเมล์ รถกระบะ รถยนต์ส่วนบุคคล รถมอร์เตอร์ไซด์ และเยอะที่สุดคือการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซล ที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ไม่สมบูรณ์ และการจราจรที่ติดขัด ที่ก่อให้เกิดไอเสียควันดำและฝุ่น รองลงมาคือ การเผาไหม้ชีวีมวลภาคเกษตร เช่น เผาไร่อ้อย และไอเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม และการก่อสร้างในกรุงเทพฯและรอบๆ ปริมณฑล รวมถึงการเผาไหม้ในภาคครัวเรือน หุงข้าว ต้มปลา ต้มมาม่า ทอดปลาเค็ม แม้แต่การสูบบุหรี่ หรือเตาเผาศพในวัดก็เป็นส่วนหนึ่งในการเกิดฝุ่น PM2.5
นั่นเท่ากับว่าทุกคนต้อง รับผิดชอบผลที่เกิดขึ้นร่วมกัน
เครื่องยนต์ดีเซล ตัวการใหญ่ก่อฝุ่น PM2.5 จริงหรือ?
จริง !!! อย่าไปโยนความผิดฝุ่นจากประเทศเพื่อนเลย แม้จะมีส่วนผสมโรงบ้างก็ตามแต่ไม่ใช่สาเหตุหลัก โดยนายประลอง ดำรงไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ยืนยันชัด ค่ามลพิษเป็นผลจากยานพาหนะเพิ่มขึ้น 72.5% จากข้อมูลเดิมแค่ 54% ซึ่งมีรถบรรทุกเป็นสาเหตุหลัก 28% รถปิกอัพ 24% และรถยนต์ส่วนบุคคล 10% ส่วนโรงงานอุตสาหกรรม 14% และการเผาในที่โล่ง 5%
ยืนยันหนักแน่นซะขนาดนี้ กลุ่มที่เดือดร้อนหนักสุดของเรื่องนี้คงหนีไม่พ้นภาคขนส่งบางบก สิงห์รถบรรทุก เถ้าแก่ขนส่ง ต่างๆ ที่โดนโจษจันกันไปทั่วว่าเป็นกลุ่มตัวการร้ายทำลายปอดคนเมือง
6 มาตรการรัฐ อัดแพะขนส่ง ‘ตราบาป PM2.5’
ทั้งนี้ในการนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มกราคม ที่ผ่านมามีการกำหนดมาตรการในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการรถบรรทุกโดยเพราะ ซึ่ง 6 ใน 12 มาตรการถูกงัดมาเพื่อจัดการภาคการขนส่งโดยเฉพาะ อาทิ
มาตรการที่1. ขยายเขตพื้นที่จำกัดรถบรรทุกเข้า กทม.จากวงแหวนรัชดาภิเษก เป็นวงแหวนกาญจนาภิเษก ซึ่งมาตรการนี้เป็นการขยายขอบเขตพื้นที่และระยะเวลาในการห้ามรถบรรทุก ตั่งแต่ 10ล้อขึ้นไป ที่ใช้น้ำมันดีเซล เข้าพื้นที่ กทม. จากขอบเขตเส้นถ.กาญจนาภิเษก (โดยจากมาตรการปกติที่ สตช. ห้ามรถบรรทุก 10ล้อ ขึ้นไปเข้าพื้นที่ กทม. (ในช่วงเวลา 06.00 – 10.00น. และ 15.00 – 21.00 น.) ทุกวันเว้นวันหยุดราชการ ) หลังจากช่วงเวลาดังกล่าวสามารถเข้าพื้นที่กทม.ได้ (แต่ก็เข้าได้เพียงขอบเขต ถ.รัชดาฯ ) เป็นมาตรการที่ห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่ กทม. ในช่วงสถานการณ์ที่ค่าฝุ่นละอองเริ่มวิกฤติ (ถึงสิ้นเดือน กพ. 63 )
มาตรการที่ 2.ห้ามรถบรรทุกตั้งแต่10 ล้อขึ้นไป เข้ามาในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครในวันคี่ ระหว่างเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2563 สำหรับวันคู่ให้เข้าได้ตามช่วงเวลาที่กำหนดโดยเป็นมาตรการที่เป็นการเพิ่มเติมจาก ข้อบังคับหรือระเบียบตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 (ตามมาตรการที่ 1) ในมาตรการนี้จะเป็นการห้ามไม่ให้รถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป โดยห้ามไม่ให้เข้าพื้นที่ตั้งแต่ขอบเขตถ.วงแหวนกาญจนาภิเษก เข้าไปในเขตกทม.โดยกำหนดห้ามเฉพาะวันเลขคี่
โดยจะเพิ่มระยะเวลาในการห้ามเข้า จากเดิมที่ สตช.ห้ามรถสิบล้อขึ้นไปเข้าพื้นที่ในช่วงเวลา ในช่วงเวลา 06.00 – 10.00น. และ 15.00 – 21.00 น. (ทุกวันเว้นวันหยุดราชการ ) โดยจะห้ามเป็นตั้งแต่เวลา 06.00-21.00 น. โดยห้ามเฉพาะในวันเลขคี่เท่านั้น จนกระทั้งถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ หรือจนกว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองจะคลี่คลาย
มาตรการที่ 3. ตรวจวัดควันดำอย่างเข้มงวดกับรถโดยสาร (ไม่ประจำทาง) ทุกคัน โดยเพิ่มชุดตรวจเป็น 50 ชุดใน 50 เขตมาตรการนี้เป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับชุดตรวจวัดควันดำ โดยบูรณาการร่วมกันระหว่างกรมการขนส่งทางบก กรมควบคุมมลพิษ บก.จร. และกรุงเทพมหานคร ในการสนับสนุนอุปกรณ์ตรวจวัดควันดำของทางราชการที่มีกระจายอยู่ตามหน่วยงานต่าง ๆ ให้ จนท.ที่สามารถบังคับใช้กฎหมายสามารถเข้าพื้นที่ปฏิบัติงานได้อย่างครอบคลุมทั่วถึงทั้ง 50 เขต ของกทม.
มาตรการที่ 4. ปฏิบัติการร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจรในการยกระดับความเข้มงวดการตรวจสอบตรวจจับรถควันดำสำหรับรถโดยสารและรถบรรทุกเพื่อการออกคำสั่งห้ามใช้รถ เพื่อยกระดับความเข้มงวดในการตรวจสอบ/ตรวจจับรถยนต์ควันดำอย่างเคร่งครัดและสามารถออกคำสั่งห้ามการใช้รถที่มีมลพิษเกินมาตรฐานที่กำหนดมาใช้ในทางเดินรถและออกกฎกระทรวงเพื่อตรวจรับรองรถยนต์ที่ได้ปรับปรุงแก้ไขตามคำสั่งแล้วตาม พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522
มาตรการที่ 5. ลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (Premium diesel) ที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกิน 10 ppm ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศน้อยกว่าน้ำมันดีเซลปกติที่ขายในตลาดปัจจุบัน เป็นการขอความร่วมมือ บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันเพื่อให้ประชาชนที่ใช้รถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล สามารถเข้าถึงน้ำมันที่สามารถช่วยลดมลพิษทางอากาศ (เป็นน้ำมันดีเซลเกรดพรีเมี่ยม ซึ่งจะมีค่า Sulfur ต่ำกว่า 10 ppm เทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 เป็นการลดมลภาวะ ได้กว่า 24 เปอร์เซ็นต์ ) ตลอดช่วงสถานการณ์วิกฤติฝุ่นละออง
มาตรการที่ 6. ให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถานศึกษา สนับสนุนการจัดโครงการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง สำหรับรถยนต์ดีเซลที่มีอายุเกิน 5 ปี เพื่อช่วยลดในละออง โดยขอความร่วมมือกระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ภาคเอกชน และภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนการให้บริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องสำหรับรถยนต์ดีเซลที่มีอายุเกิน 5 ปี (ฟรี/ลดราคาค่าบริการ+อะไหล่ ) ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงได้ดีขึ้น และลดฝุ่นละออง
กลุ่มสิบล้อว่าไง เอาไงละทีนี้ ?
ปรี๊ดแตกสิครับ …งานนี้นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ถึงกับออกมาขู่ว่าจะต่อต้านแบบเงียบๆ ด้วยการหยุดวิ่ง เพื่อดูว่าฝุ่นจะลดลงจริงไหม และจะกระทบกับการขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศจะหยุดชะงักหรือไม่ เพราะมองว่า การระบุว่ารถบรรทุกเป็นสาเหตุของปัญหาฝุ่นพิษนั้นมันไม่แฟร์ แถมเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด
เนื่องจากเมื่อมีการห้ามรถบรรทุกวิ่งในวันคี่ รถส่วนใหญ่ก็จะถูกอั้นไปใช้งานถนนดังกล่าวในวันคู่แทน ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้การจราจรติดขัดหนักขึ้นไปอีก ขณะที่มลภาวะPM2.5 ก็ยังมีอยู่แต่มันเรื่องอะไรกันที่รถบรรทุกต้องตกเป็นจำเลยสังคม รวมทั้ง ประธานสหพันธ์การขนส่งฯ แสดงวิสัยทัศน์ไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วยเช่นกัน ข้อความทั้งหมดก็ปรากฏในภาพข้างล่างนี้
ก็น่าเห็นใจอยู่ครับ…แต่ท่านน่าจะเข้าใจผิดไปนิด เรื่องเผาไร่อ้อยกับฝุ่นPM2.5 ในกรุงเทพฯ แถมเรื่อง B10 B20 นี่ยิ่งแล้วใหญ่ เห็นครวญครางกันมานานปี แต่ไม่เห็นใช้กันเท่าไหร่ ก็ว่ากันไปครับท่าน
ด้านนายชุมพล สายเชื้อ นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย (TTLA) มีความเห็นว่า บ่อยครั้งที่ภาคขนส่งต้องเสียสละ โดยมาตรการห้ามรถบรรทุกวิ่งวันคี่มีผลกระทบตามมาแน่นอน ถ้าผู้ประกอบการไม่ได้วิ่งงานและส่งงานไม่ทันโดนค่าปรับซึ่งตรงนี้ถามว่าใครจะมาเยียวยาให้ และภาครัฐมีมาตรการเยียวยาตรงนี้หรือไม่
เรื่องนี้ก็น่าคิด รัฐจะชดเชยการหยุดวิ่งของสิงห์รถบรรทุกหาเช้ากินค่ำอย่างไร
ที่สำคัญ เอาเข้าจริง ไม่เฉพาะสิบค้าขนส่งที่ปล่อยควันดำ บนท้องถนนรถยนต์ทุกประเภทต่างมีส่วนก่อให้เกิดมลพิษทั้งสิ้น แล้วมาห้ามรถบรรทุกประเภทเดียวถือว่าไม่เป็นธรรม
ก่อนจะจบเรื่องนี้ ซึ่งจริงๆ เรายังไม่สรุปว่าใครคือต้นตอของปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งเราเชื่อในวิจารณะญาณของผู้อ่านว่าสามารถประมวลผลเองได้ แต่ก็เหลือบไปเห็นตัวเลขหนึ่งที่น่าสนใจ คือ
แม้จะมีดราม่าว่ามลพิษอากาศบ้านเราแย่มาก จนจะอยู่กันไม่ได้แล้ว แต่เชื่อหรือไม่ว่า จะมีจำนวนรถยนต์ในกรุงเทพมหานครมากขึ้นทุกปีๆ ดังนั้น จะมาก จะน้อย เราทุกคนมีส่วนร่วม แต่เมื่อต้องแก้ปัญหา กลับโยนตราบาปให้กลุ่มนั้น กลุ่มนี้ คิดว่าดีแล้วหรือ เพราะดูเหมือนว่า เราท่านก็มีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน