ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤติโควิด-19 ระลอก 3 นี้สาหัสสากรรจ์จริงๆ เพราะได้แพร่ระบาดลุกลามครอบคลุมทุกกลุ่มคนในสังคม ดูจากตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตแต่ละวันยังสูงและสร้างความวิตกกังวลให้กับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ“ผลกระทบ”ต่อแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่แทบทุกเครื่องยนต์เศรษฐกิจดูหยุดชะงักลง และแทบทุกวงล้อธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ท่ามกลางความคาดหวังจากการเร่งฉีด “วัคซีน”ให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มทั่วประเทศให้มากที่ที่สุดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ต่อการสยบการแพร่ระบาดเจ้าไวรัสมฤตยูนี้โดยเร็ว
ขณะที่ภาคธุรกิจขนสงไทยอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังถูกพิษวิกฤติโควิดระลอก 3 เล่นงานจะได้รับกระทบมากน้อยเพียงใดนั้น ดร.ชุมพล สายเชื้อ อดีดนายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย (TTLA) อีกหนึ่ง “กูรู”ในแวดวงขนส่งไทย ได้สะท้อนมุมมองในประเด็นนี้กับ Trans Time ว่าต้องยอมรับวิกฤติระลอกล่าสุดนี้ถือว่าหนักหน่วงกว่าทุกครั้ง ส่วนผลกระทบที่มีต่อภาคขนส่งโดยรวมนั้น ดูจากตัวเลขของหน่วยงานที่รับผิดชอบได้รวบรวมเอาไว้ก็กระทบเยอะพอสมควรโดยติดลบไปประมาณ 17%
“ภาคธุรกิจขนส่งไทยแยกย่อยออกเป็น 4 กลุ่มหลักด้วยกัน คือกลุ่มแรกขนส่งสินค้าประเภทอุปโภคบริโภคให้กับบรรดาร้านโชห่วยปรับตัวลดลงถึง 50% โมเดิร์นเทรด 40% ซึ่งเป็นผลมาจากแรงซิ้อของประชาชนที่ส่วนมากหยุดทำงานอยู่กับบ้านเพื่อร่วมเป็นหนึ่งความร่วมมือต่อมาตรการภาครัฐเพื่อสกัดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ขณะที่การขนส่งให้กับอีคอมเมิร์ซที่แม้จะมีอัตราเติบโตขึ้น ซึ่งก็ได้อานิสงส์จากผู้บริโภคสั่งซื้อของกินของใช้ผ่านช่องทางออนไลน์ ทว่า อีคอมเมิร์ซมีสัดส่วนน้อยนิดเพียงแค่ 10%เมื่อเทียบกับร้านโชห่วยและโมเดิร์นเทรดต่างๆ ทำให้โดยรวมกลุ่มนี้ยังถือว่าปรับตัวลดลง”
ดร.ชุมพล ระบุต่อว่าขณะที่กลุ่มที่สองคือกลุ่มขนส่งประเภทการนำเข้า-ส่งออก(ตู้คอนเทนเนอร์)ก็ปรับตัวลดลงเช่น เพราะในหลายประเทศต่างก็งดการสั่งซื้องดการเดินทาง กลุ่มที่สามคือกลุ่มขนส่งสินค้าภาคอุตสาหกรรม เช่น ปูนซีเมนต์ เหล็ก เป็นต้น ส่วนใหญ่ก็ตกอยู่ในภาวะชะลอตัว เมื่อเศรษฐกิจหดตัวยิ่งผสมแรงลบจากวิกฤติโควิดด้วยแล้ว ทำให้การขับเคลื่อนหลายโครงการก่อสร้างหยุดชะงักและไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างที่ควรจะเป็น ย่อมส่งผลลามไปถึงการสั่งซื้อที่ต้องปรับตัวลดลงตามเนื้องานการก่อสร้าง ส่วนกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มการขนส่งสินค้าภาคเกษตรโดยรวมแล้วก็ไม่คึดคักเท่าไหร่นัก ซึ่งก็ผลมาจากการส่งออกที่ปรับตัวลดลงก็ย่อมส่งผลกระทบต่อการสั่งซื้อสินค้าภาคเกษตรเป็นเงาตามตัว
เมื่อถามแล้วทุกอย่างจะถูกขับเคลื่อนไปได้อย่างไร?ดร.ชุมพล สะท้อนมุมมองว่าความหวังหนึ่งเดียวอยู่ที่วัคซีนเท่านั้น หากประเทศไทยยิ่งสามารถฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงกับจำนวนประชากรตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตั้งแต่กว่า 65 % ขึ้นไปได้เร็วเมื่อไหร่ เศรษฐกิจไทยโดยรวมของประเทศก็จะสามารถไปต่อได้และพลิกฟื้นกลับคึกคักอีกครั้งได้เร็วเช่นกัน เพราะหลายประเทศที่มีการฉีดวัคซีนได้ทั่วถึงและกลับมาเปิดประเทศทุกอย่างก็สามารถไปต่อได้
“เมืองไทยก็ยังเป็นประเทศที่โดดเด่นกว่าประเทศอื่นๆอันดับต้นๆของโลกด้านการท่องเที่ยว ผมยังนึกเสียดายก่อนที่มีจะการระบาดโควิดระลอก 3 ประเทศไทยเรามีผู้ติดเชื้อน้อยเป็นที่หมายตาของนักท่องเที่ยวทั่วโลกในเวลานั้น แต่พอมาระลอก 3 ที่ถือว่าหนักกว่าทุกครั้งก็ยิ่งซ้ำเติมภาคการท่องเที่ยวและห่วงโซ่ที่เกี่ยวข้องที่แต่เดิมก็หนักหน่วงอยู่แล้วก็ยิ่งสาหัสเข้าไปอีก”
ดร.ชุมพล ย้ำปิดท้ายว่าทุกอย่างตอนนี้พุ่งเป้าไปที่การเร่งฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงและรวดเร็วเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันหมู่ต่อการสกัดการระบาดไวรัสโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ก็ขึ้นอยู่ทุกภาคส่วนกับการผนึกกำลังให้ความร่วมมือฝ่าวิกฤติครั่งนี้ไปด้วยกันเพื่อทุกอย่างมันสามารถเดินไปต่อได้