จากรายงานของสื่อท้องถิ่นในมาเลยเซีย กรณี บริษัท Gamuda Bhd. บริษัท ด้านวิศวกรรมสถานที่และโครงสร้างพื้นฐานของมาเลเซีย ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท SRS Consortium Sdn Bhd จะมีการลงนามในสัญญา Project Delivery Partner (PDP) Agreement ฉบับใหม่ร่วมกับรัฐบาลรัฐปีนัง สำหรับแผนแม่บทการขนส่งของรัฐปีนัง(Penang Transport Master Plan) ซึ่งหากมีการลงนามแล้วก็จะสามารถเริ่มงานออกแบบได้ทันที
โดยรัฐบาลปีนังได้ขยายขอบข่ายโครงการตามแผนแม่บทการขนส่งเป็น 46,000 ล้านริงกิต ทำให้ต้องลงนามในสัญญาฉบับใหม่กับบริษัท SRS Consortium โดยมีรัฐบาลกลางเป็นผู้วางหลักประกันเพื่ออำนวยความสะดวกทางการเงินให้แก่แผนแม่บทดังกล่าว งานออกแบบที่จะสามารถทำได้ทันที อาทิ โครงการรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit: LRT) การก่อสร้างทางด่วนเชื่อมเกาะ (Pan Island Link) และโครงการถมทะเลเพื่อสร้างเกาะบริเวณตอนใต้ของปีนัง
ผลกระทบต่อประเทศไทย
เป็นที่น่าจับตาว่า ภายใต้โครงการพัฒนาตามแผนแม่บทการขนส่งของรัฐปีนังจะทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้ ในท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่รัฐปีนังถือเป็นรัฐที่มีความสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศของไทยและมาเลเซีย มีผู้บริโภคมาเลเซียเชื้อสายจีนอาศัยอยู่ในสัดส่วนสูงซึ่งมีความนิยมสินค้าและบริการของไทย
ภายใต้โครงการดังกล่าวจึงเป็นผลดีต่อประเทศไทยในด้านการค้าและการท่องเที่ยว แต่ในอีกมุมหนึ่งโครงการพัฒนาดังกล่าวจะถือเป็นคู่แข่งขันที่สำคัญของไทยในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ในขณะที่รัฐบาลไทยก็พยายามส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีหรือการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก
ทั้งเป็นที่ทราบดีว่า รัฐปีนังค่อนข้างมีความพร้อมทั้งในด้านโลจิสติกส์ โดยเฉพาะท่าเรือปีนังที่ทันสมัยและมีความสะดวกในการขนส่งสินค้าไปยังตลาดในแถบเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกาและยุโรป ที่สำคัญผู้ผลิตทางภาคใต้นิยมใช้ท่าเรือที่ปีนังมากกว่าขนส่งมาท่าเรือแหลมฉบังที่ต้นทุนสูงกว่า
อย่างไรก็ตาม สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก อาทิวัสดุก่อสร้าง และบริการด้านวิศวกรรม ซึ่งถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการแสวงหาความร่วมมือหรือรับเหมาช่วงจากบริษัทผู้ร่วมทุนหากโครงการดังกล่าวดำเนินการแล้วเสร็จจะทำให้เกิดการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ซึ่งปัจจุบันถูกจำกัดด้วยพื้นที่ และก่อทำให้เกิดความต้องการวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพื่อใช้อุตสาหกรรมการผลิตที่จะเกิดขึ้นใหม่
ดูเหมือนเส้นแบ่งระหว่างคู้ค้า และคู่แข่ง ล้วนมีเส้นบางๆ ที่ขวางกันอยู่ น่าจับตาว่าภายใต้โครงการดังกล่าว ที่ปีนังหวังขยายและพัฒนาเมือง ตลอดจนพัฒนาด้านการเป็นท่าเรือที่ทันสมัย เอกชนไทยจะสามารถเกาะเกี่ยวผลประโยชน์จากเมกะโปรเจ็กต์นี้อย่างไร