ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส เผยผลการศึกษาฉบับใหม่ที่มีชื่อว่า “The Ultimate B2B E-commerce Guide: Tradition is out. Digital is in” ซึ่งคาดการณ์การเติบโตที่แข็งแกร่งของธุรกิจ B2B อีคอมเมิร์ซ โดยระบุว่าภายในปี 2568 ราว 80% ของการซื้อขายแบบ B2B ระหว่างซัพพลายเออร์และลูกค้าองค์กรจะดำเนินการผ่านช่องทางดิจิทัล นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดที่ส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัล (digitalization) อย่างรวดเร็ว และพฤติกรรมการซื้อของคนรุ่นมิลเลนเนียล (Millennial) ที่คุ้นเคยกับการใช้งานเทคโนโลยี ได้กลายเป็นผู้ตัดสินใจในกระบวนการทำธุรกิจแบบ B2B ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยหลักที่กระตุ้นการเติบโตของอีคอมเมิร์ซทั่วโลก
“จอห์น เพียร์สัน” ซีอีโอของดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส กล่าวว่า แม้ว่าการปิดประเทศเกิดขึ้นทั่วโลก กระแสโลกาภิวัตน์ก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยได้อานิสงค์จากการปรับเปลี่ยนสู่ระบบดิจิทัล และความแข็งแกร่งของระบบการค้าระหว่างประเทศ แนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้ผู้บริโภคจำนวนมากปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันไปซื้อสินค้าทางออนไลน์เพิ่มขึ้น สถานการณ์การแพร่ระบาดเร่งให้เกิดพัฒนาการในส่วนนี้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยธุรกิจที่ขายสินค้าในโกลบอลมาร์เก็ตเพลส มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ระบบอีคอมเมิร์ซและบริการลอจิสติกส์ทั่วโลกคือกุญแจสำคัญที่ปลดล็อคมาตรการล็อคดาวน์ของแต่ละประเทศ ช่วยให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง และบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดให้กับลูกค้าจำนวนมาก
ผลการศึกษาซึ่งจัดทำโดยดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ที่กระตุ้นการเติบโตของตลาด B2B อีคอมเมิร์ซทั่วโลก กล่าวคือ นอกเหนือจากเทรนด์ทั่วไป เช่น กระแสโลกาภิวัตน์ และการปรับเปลี่ยนสู่ระบบดิจิทัลแล้ว กลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนียลที่คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยครองสัดส่วนมากถึง 73% ของผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับการซื้อขายแบบ B2B ภายในองค์กร และเนื่องจากคนกลุ่มนี้เติบโตพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิทัลและคุ้นเคยกับการค้าแบบ B2C ดังนั้นจึงมีความคาดหวังสูงเมื่อทำธุรกิจ B2B ส่งผลให้องค์กรธุรกิจลงทุนในโซลูชั่นดิจิทัล เช่น แพลตฟอร์มการขายทางออนไลน์ ซึ่งคาดว่ามีโอกาสเติบโตอย่างมากในอนาคต
โควิด-19 เร่งการเติบโต “อีคอมเมิร์ซ”
ด้าน “เคน ลี” ซีอีโอของดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) ยอดขายในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงพีคของปีมีการเติบโตสูงถึง 17.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากมีจำนวนผู้ส่งสินค้ามากขึ้น และยอดใช้จ่ายเฉลี่ยของลูกค้าแต่ละรายที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 21% โดยช่วงสองเดือนดังกล่าว กว่า 65% เป็นชิปเม้นท์แบบ B2C โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีคอนซูมเมอร์และเครื่องแต่งกายแฟชั่น ตอกย้ำถึงการขยายตัวของธุรกิจช้อปปิ้งออนไลน์ รวมถึงความต้องการบริการขนส่งระหว่างประเทศ ทำให้ผู้ให้บริการลอจิสติกส์ต้องเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน เพื่อปรับตัวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างทันท่วงที
ไม่เพียงแต่ธุรกิจ B2C อีคอมเมิร์ซที่มีการขยายตัวจากการปรับเปลี่ยนสู่ระบบดิจิทัล และพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ในปี 2562 ก่อนเกิดการแพร่ระบาด ยอดขายทั่วโลกบนเว็บไซต์ B2B อีคอมเมิร์ซ และ B2B มาร์เก็ตเพลส เพิ่มสูงขึ้นถึง 18.2% จนแตะระดับ 12.2 ล้านล้านดอลลาร์ แซงหน้าตลาด B2C และผลจากสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลที่รวดเร็ว ทำให้คาดว่ายอดขาย B2B อีคอมเมิร์ซทั่วโลกจะเพิ่มเป็น 20.9 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2570
สิ่งที่คาดการณ์สำหรับอนาคตของธุรกิจ B2B ได้ปรากฏให้เห็นในรูปแบบของการเติบโตที่รวดเร็วของ B2C อีคอมเมิร์ซปีที่ผ่านมา โดยธุรกิจของดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส มีอัตราการเติบโตสูงในช่วงเทศกาลวันหยุด (เช่น เทศกาลอีสเตอร์ คริสต์มาส) และช่วงเทศกาลช้อปปิ้งสำคัญ (เช่น Black Friday หรือ Cyber Monday) โดยรวมแล้ว ยอดขาย B2C อีคอมเมิร์ซ ภายในเครือข่ายของดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ปี 2563 เพิ่มขึ้นราว 40% เมื่อเทียบกับปี 2562
ขณะที่ “เฮอร์เบิต วงศ์ภูษณชัย” กรรมการผู้จัดการดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ประเทศไทย และหัวหน้าภาคพื้นอินโดจีน กล่าวว่า ทรานฟอร์เมชันของธุรกิจ B2B อีคอมเมิร์ซ เป็นไปอย่างรวดเร็ว ธุรกิจที่ต้องการสร้างโอกาสทางจากการค้าระหว่างประเทศ จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมการซื้อที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ด้วยการให้บริการผ่านเครือข่ายที่มีอยู่ทั่วโลก ครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรม ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ช่วยทำให้การดำเนินการทางการค้าเป็นไปได้อย่างราบรื่น นอกจากนี้ การให้บริการของเรายังช่วยให้ธุรกิจและผู้บริโภคในกว่า 220 ประเทศสามารถทำการค้าทั่วโลกได้ตามปกติ แม้ว่าจะอยู่ในช่วงของสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม”
ทุ่มงบมหาศาล สนองความต้องการลูกค้าที่เพิ่มสูงขึ้น
ในปี 2563 ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรสจัดส่งสินค้าทั้งหมด 484 ล้านชิ้นให้แก่ลูกค้าทั่วโลก (รวม B2C และ B2B) เพิ่มขึ้นราว 9% ต่อวัน เมื่อเทียบกับปี 2562 และเพื่อรองรับการขยายตัวของเครือข่ายบริการขนส่งระหว่างประเทศ ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรสมีแผนที่จะลงทุนอย่างต่อเนื่องกว่า 1 พันล้านยูโรต่อปีในฮับ เกตเวย์และศูนย์บริการต่างๆที่มีอยู่ทั่วโลก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการคัดแยกพัสดุ (เพิ่มขึ้น 65% นับตั้งแต่ปี 2556) รวมถึงการจ้างพนักงานใหม่ (เพิ่มขึ้น 10,000 คนจากปีก่อนหน้า) และการจัดซื้อเครื่องบินใหม่ (เพิ่มขึ้น 20 ลำจากปีก่อนหน้า) ทั้งนี้ ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส เพิ่งประกาศจัดซื้อเครื่องบินขนส่งสินค้าโบอิ้ง B777 จำนวน 8 ลำ และร่วมมือกับ Smartlynx Malta ในการซื้อเครื่องบินแอร์บัส A321 อีก 2 ลำ การลงทุนดังกล่าวจะช่วยให้ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรสมีความพร้อมในการให้บริการที่ดีเยี่ยมแก่ลูกค้าทั่วโลกในยุคทองของอีคอมเมิร์ซ
ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัทดอยช์โพสต์ ดีเอชแอล กรุ๊ป โดยให้บริการขนส่งสินค้าด่วนระหว่างประเทศแบบ door-to-door รับส่งพัสดุและเอกสารสำหรับองค์กรธุรกิจและลูกค้ารายย่อย ปัจจุบัน ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส มีเครื่องบินขนส่ง 280 ลำทั่วโลก ครอบคลุมสนามบินกว่า 500 แห่ง โดยมีการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศให้ลูกค้ากว่า 2.7 ล้านราย ครอบคลุม 220 ประเทศทั่วโลก สำหรับดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ในประเทศไทย เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 โดยมีเที่ยวบินขนส่งระหว่างประเทศราว 285 เที่ยวบินต่อสัปดาห์จากศูนย์กลางที่ฮับและเกตเวย์ สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์ขนส่งสินค้าระดับภูมิภาคของดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส และเป็นเกตเวย์เชื่อมต่อสู่อินโดจีน