ภายหลังจากที่ นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการ กทพ.ได้ประกาศต่อผู้บริหารว่าตนจะขอลาออก พร้อมทั้งยื่นหนังสือลาออกต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.แล้ว ภายหลังจากที่มีความพยายามยื่นข้อเสนอต่อที่ประชุมบอร์ด เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อขอให้บอร์ดพิจารณาแนวทางยุติข้อพิพาทเฉพาะในส่วนที่ กทพ.แพ้คดีจากการตัดสินของศาลปกครองสูงสุดเท่านั้น รวมทั้งขอให้ทบทวนแนวทางยุติข้อพิพาทระหว่าง กทพ.และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่มีรวม 17 คดี มูลค่าข้อพิพาท 58,873 ล้านบาท
โดยผู้ว่าการฯ ได้ชี้แจงรายละเอียดของมติบอร์ดที่ประชุมและหารือร่วมกับบีอีเอ็มเมื่อวานนี้ ว่าที่ประชุมเห็นพร้อมที่จะยุติข้อพิพาททั้งหมด 17 คดี แลกกับสัมปทาน 15 ปี 8 เดือน ซึ่งทางผู้ว่าการฯ ได้ทำอย่างสุดความสามารถในการยื่นข้อเสนอขอให้ทบทวน และยุติข้อพิพาทเฉพาะในส่วนที่คดีความถูกตัดสินแพ้ไปก่อน เพราะคดีข้อพิพาทที่เหลือ ศาลยังไม่ตัดสิน ดังนั้นการทางฯ ก็ยังมีโอกาสที่จะชนะ
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ได้มีมติให้บอร์ด หรือ กทพ.ใช้แนวทางยุติข้อพิพาทตามที่บอร์ดเลือก แต่สั่งการให้ กทพ.พิจารณาแนวทางที่เหมาะสม ดังนั้นทั้งผู้ว่าการฯ และพนักงาน กทพ. ต่างมีความเห็นว่า หากในอนาคตเกิดมีข้อพิพาทระหว่าง กทพ.และเอกชนอีก ผู้ที่จะต้องรับความเสียหายคือผู้ว่าการฯ ในฐานะผู้ลงนามสัญญา และ กทพ.ก็จะต้องรับผิดชอบจ่ายค่าชดเชยความเสียหาย ขณะที่ ครม.ไม่ต้องรับผิดชอบ เนื่องจากไม่ได้สั่งการเป็นมติ ครม. ให้ใช้แนวทางนี้เพื่อยุติข้อพิพาท
ด้านสหภาพการทางพิเศษแห่งประเทศ (สร.กทพ.) กล่าวว่า ในวันที่ 8 ม.ค.นี้ สร.กทพ.จะนัดประชุมหารือเพื่อกำหนดท่าทีดำเนินการหลังจากที่มีความชัดเจนว่านายสุชาติ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งผู้ว่ากทพ.แล้ว โดยเบื้องต้น สร.กทพ.ยังคงยืนยันในการคัดค้านแนวทางการยุติข้อพิพาทระหว่าง กทพ.กับบีอีเอ็มฯ
คาดว่า สร.กทพ. จะไปยื่นหนังสือถึงนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขณะเดียวกันก็จะไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอความเป็นธรรมและให้สั่งการให้ทบทวนเรื่องแนวทางดังกล่าว
ทั้งนี้ การยื่นหนังสือลาออกของผู้ว่าการ กทพ. ตามเงื่อนไขสัญญาจ้างจะมีผล 30 วันหลังจากวันที่ยื่นหนังสือ โดยจะต้องได้รับการเห็นชอบจากประธานบอร์ด กทพ.ด้วย โดยก่อนหน้านี้ นายสุชาติเพิ่งได้รับคำสั่งให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่า กทพ.หลังจากได้รับคำสั่ง ม.44 ให้ไปปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้นายสุชาติเหลือเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าการ กทพ.อีกประมาณ 6 เดือน เพราะจะครบวาระในการดำรงตำแหน่งช่วงเดือน ก.ค.63
ขณะที่ นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กล่าวว่า ขณะนี้ตนยังไม่ได้รับหนังสือลาออกของนายสุชาติอย่างเป็นทางการ รวมทั้งยังไม่ได้รับการรายงานด้วยวาจา ดังนั้นจึงยังไม่ขอให้ความเห็นกับเรื่องดังกล่าว
ทางด้าน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ตนยังไม่ได้รับรายงานจากประธานบอร์ด กทพ. และยังไม่เห็นหนังสือลาออก อย่างไรก็ตาม หากมีหนังสือมาจริงก็ไม่สามารถยับยั้งได้ เพราะเป็นเรื่องของการพิจารณาของบอร์ดกทพ.