แม้จะปิดฉากรูดม่านลงเรียบร้อยโรงเรียนพนัสแล้วสำหรับโครงการ Panus Thailand LogTech Award 2019 เวทีเฟ้นสตาร์ทอัพด้านธุรกิจโลจิสติกส์ (LogTech) รายแรกประเทศไทย ชิงเงินรางวัลมูลค่ามากกว่า 1 ล้านบาท พร้อมได้ทีมผู้ลชนะเลิศในแต่ประเภทเมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา
ทว่า Trans Time ขอเก็บสาระน่ารู้ด้านโลจิสติกส์ช่วงเปิดเวทีเสนาภายใต้หัวข้อ “The Adventures in Logistics’ ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์สุดเก๋ของโครงการฯนี้ก่อนถึงช่วงประกาศผลผู้ชนะเลิศในแต่ละประเภท เผื่อเป็นองค์ความรู้ที่อาจเอื้อประโยชน์ต่อวงการโลจิสติกส์เมืองไทยได้บ้าง
โดยได้ 4 กูรูในแวดวงโลจิสติกส์และซัพพลายเชนขึ้นเวทีเสวนาสะท้อนมุมมองภายใต้หัวข้อดังกล่าวได้อย่างน่าขบคิด ไม่ว่าจะเป็นคุณอรรณพ หาญกิจ ผอ.สำนักงานวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก คุณพนัส วัฒนชัย CEO บจก.พนัส แอสเซมบลีย์ ยักษ์ใหญ่ตลาดผู้ผลิตยานยนต์ภาคขนส่งและโลจิสติกส์เมืองไทย อาจารย์อัครพงศ์ ผ่องสุวรรณ CCO บจก.พนัส แอสเซมบลีย์ และคุณวราวุธ นาถประดิษฐ์ กรรมการบริหารสายงานพัฒนาธุรกิจการค้า จากยักษ์ใหญ่ธุรกิจส่งด่วนอย่าง Kerry ประเทศไทย
กับคำถามที่ว่าอะไรคือความท้าทายและการปรับตัวภาคขนส่งและโลจิสติกส์ยุคปัจจุบัน? คุณอรรณพ หาญกิจ ผอ.สำนักงานวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก สะท้อนมุมมองว่าภาคการขนส่งและโลจิสตกส์ไทยถือเป็นภาคธุรกิจที่มีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย การท้าทายและอุปสรรคย่อมมีทุกๆด้านซึ่งต้องมีการปรับตัวในทุกภาคส่วน
“การขนส่งถูกต้องตามเวลาหรือไม่ ส่วนนี้ผู้ประกอบการเองก็ต้องมีการปรับตัวเพื่อให้เกิดศักยภาพทางการแข่งขัน ส่วนภาคราชการก็ยังมองเห็นสำคัญเรื่องนี้ ก็ต้องพยายามสนับสนุนไม่ว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายต่างๆเพื่อเอื้อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ประกอบการขนส่ง และไม่เกิดปัญหาและอุปสรรคของการแข่งขัน”
ส่วนคุณพนัส วัฒนชัย CEO บจก.พนัส แอสเซมบลีย์ ให้ทัศนะในฐานะเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมโลจิสติกส์มาอย่างยาวนาน และเป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้ด้วย มีมุมมองด้านโลจิสติกสที่ดีในปัจจุบันในแง่การผลิตและการจัดการควรจะเป็นอย่างไรบ้าง?
โลจิสติกส์ที่ดี ไม่ว่าจะเป็นส่วนภาครัฐ หรือแม้แต่ภาคเอกชนเองก็เร่งพัฒนาตัวเอง สุดท้ายแล้วผลดีก็ตกไปที่ผู้บริโภค การขนส่งที่รวดเร็วและได้ประสิทธิภาพ แน่นอนว่าหากพูดถึงในแง่มุมการแข่งขัน วงการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนมันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เริ่มตั้งแต่ผู้ใช้ไล่มาถึงห่วงโซ่ผู้ผลิตต่างๆ ในอนาคตหากมีการแข่งขันถึงขั้นรุนแรงมากขึ้น ซัพพลายเชนต่างๆก็จะถูกบีบให้สั้นลง หมายความว่าห่วงโซ่ในแต่ละอย่างจะเล็กลงแต่จะรวดเร็วมากขึ้น
“ขณะที่ยานพาหนะ ระบบ และการจัดการการต่างๆตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ผู้ผลิตเองก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงและมีการปรับตัว ต้องมีการออกแบบเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ที่ต้องการความรวดเร็ว ตลอดถึงให้ผู้บริโภคมีการใช้งานที่ง่าย ช่วยลดต้นทุน และมีความปลอดภัยสูง” คุณพนัส กล่าว
ขณะที่อาจารย์อัครพงศ์ ผ่องสุวรรณ CCO บจก.บจก.พนัส แอสเซมบลีย์ ตอบคำถามถึงแนวคิดทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีอะไรที่น่าจับตามองและมีประโยชน์และโดดเด่นต่อวงการโลจิสติกส์ในเวลานี้
เมื่อก่อนใครต่อใครก็อาจคิดว่าระบบโลจิสติกส์เป็นเรื่องไกลตัว มักจะคิดถึงภาคขนส่งขนาดใหญ่ แต่พอถึงปัจจุบันที่เราเริ่มซื้อของตามบ้านทำให้ระบบโลจิสติกส์เข้าใกล้ตัวเรามากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าทั้งจาก B 2 B หรือจะเป็น B 2 C รูปแบบการขนส่งในทุกโหมดการขนส่งก็เริ่มมีการพัฒนาการขึ้นเรื่อยๆโดยมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาส่วนสำคัญในการบริการจัดการขนส่ง
อีกอย่างบริษัทโลจิสติกส์ยักษ์ใหญ่ต่างๆเริ่มหันมาสนใจและให้การสนับสนุน SMEs และบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพต่างๆ ซึ่งจะได้ไอเดียใหม่ๆแปลกๆจากเด็กรุ่นใหม่ และช่วยกันผลักดันไอเดียใหม่ๆเหล่านั้นให้ออกมาเป็นธุรกิจได้ ถือว่าเป็นการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นคุณูปการต่อภาคขนส่ง ส่วนหนึ่งก็เป็นสนับสนุนให้เกิดการลดต้นทุนภาคการให้บริการ และที่สำคัญจะทำให้เข้าถึงผู้ใช้บริการได้เร็วกว่า และในที่สุดประสิทธิภาพต่างๆเหล่านี้ทำให้อีโค่ซิสเต็มระบบโลจิสติกส์มันแข็งแรงมากขึ้น
ฟากคุณวราวุธ นาถประดิษฐ์ กรรมการบริหารสายงานพัฒนาธุรกิจการค้า บจก.เคอรี่ ประเทศไทย สะท้อนมุมมองกับคำถามที่ว่าภาคการขนส่งควรจะต้องมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมอะไรเพื่อการสนับสนุนและการส่งเสริมการขนส่งให้ง่ายขึ้น
เคอรี่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่เป็นอย่างมาก เราพัฒนาทุกอย่างเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต เราทำธุรกิจการขนส่งวันหนึ่ง 2 ล้านชิ้น/วัน กับอีก 1 หมื่นจุดส่งพัสดุ เรื่องของไอทีจำเป็นมากๆ ระบบหลังบ้านก็ต้องอาศัยระบบคลาวด์บวกกับเซิร์พเวอร์อีกหลายร้อยตัวอัดเข้าไป เพื่อทุกอย่างต้องเชื่อมโยงกันให้ได้ด้วยระยะเวลาอันรวดเร็ว
“เมื่อไหร่ก็ตามที่ทุกคนส่งของพร้อมกันทุกที่ นี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการโหลดรูปหลายรูปในเฟสบุ๊กพร้อมๆกัน ในส่วนนี้เราก็ต้องใช้ไอทีที่สามารถรองรับกับศักยภาพที่มากขึ้น อย่างน้อยก็ต้องมากกว่า 5 เท่าขึ้นไป เพื่อให้ของจากต้นน้ำถึงปลายน้ำอย่างไร้รอยต่อและเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น”
โฉมหน้าวงการโลจิสติกส์ไทยอีก 10 ปีข้างหน้า
ต่อคำถามที่ว่าอีก 10 ข้างหน้าของวงการโลจิสติกส์บ้านเราจะมีการพัฒนาไปถึงขั้นไหนอย่างไร? คุณอรรณพ หาญกิจ ผอ.สำนักงานวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก ให้ความเห็นว่าผมมองว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีล้วนๆว่าจะตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้อย่างไร ซึ่งถือว่าเป็นโจทย์ใหญ่ของวงการโลจิสติกส์ ส่วนวิธีการนั้นก็ต้องมาขบคิดว่าต้องใช้วิธีการไหนที่เหมาะสมกับพฤติกรรมผู้บริโภค
“ผมมองอีก 10 ปีข้างหน้าการแข่งขันวงการนี้จะรุนแรงอย่างมาก การปรับตัว เทคโนโลยี และวิธีการเป็นสิ่งที่เราต้องดำเนินการไปพร้อมๆกันเพื่อให้ผู้บริโภคพึงพอใจกับการบริการ อีกเรื่องหนึ่งก็คือแพลตฟอร์มใครก็ตามที่มีก่อนสร้างก่อนก็จะเป็นเจ้าของตลาดได้ก่อนคนอื่น”
ส่วนคุณพนัส บอกว่ายุคสมัยนี้การเปลี่ยนแปลงมันรวดเร็วมากสำหรับวงการขนส่งและโลจิสติกส์ จะว่าไปแล้วก็เกิดมาได้ซักระยะแล้วไม่ว่าจะเป็นโหมดขนส่งทางอากาศที่มีโลว์คอร์สมาจนต้องหนีตาย หรือแม้การขนส่งทางเรือก็เหมือนกัน ส่วนภาคถนนไม่ว่าจะทางรางหรือรถบรรทุกผมมองว่าอีก 10 ปีข้างหน้าน่าจะมีการถ่ายโอนกันเร็วมากขึ้น แต่ก็ต้องดูด้วยว่าโครงสร้างพื้นฐานบ้านเราจะพัฒนาไปได้ขนาดไหน
“ในอนาคตยานพาหนะไร้คนขับจะเข้ามาแทนที่แน่นอน แม้ปัจจุบันอาจดูยังมาไม่ถึง แต่ทุกๆปีเราจะมองว่ามันไม่ไกลตัวอีกแล้ว เพราะเรารับรู้ความเคลื่อนไหวของเทคโนโลยีเหล่านี้มากขึ้นทุกปีจากทุกมุมโลก และอีกไม่ถึง 5 ปีข้างหน้านี้ รถ EV ก็จะเข้ามามีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีบ้านเราแน่นอน โดยเห็นได้จากความคืบหน้าจากประเทศชั้นนำโลกที่ประกาศ”คุณพนัส กล่าวย้ำ
“ผมให้ 4 คำ อย่างแรกคือความรวดเร็วถือเป็นหัวใจและมีบทบาทอย่างมากในวงการโลจิสติสก์ไม่ว่าจะเป็น B2B และ B2C ต่อมาเป็นเรื่องของการเข้าถึงซึ่งอาจจะสื่อถึงหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ หรือพื้นชนบทห่างไกล ที่ปัจจุบันการขนส่งอาจจะยังลำบากและถึงช้าอยู่บ้าง แต่อีก 10 ปีข้างหน้ามันจะรวดเร็วมากขึ้น บางทีอาจจะไม่มีอุปสรรคใดๆเลยสั่งของเช้าเย็นได้รับเลย เรื่องที่สามผมมองว่าเป็นเรื่องประสิทธิภาพทั้งการบริหารต้นทุน การใช้จ่าย และการใช้เทคโนโลยี สุดท้ายคือการทำให้รู้จักตัวตนลูกค้าแต่ละคนอย่างแท้จริงในข้อมูลและพฤติกรรมส่วนตัวต่างๆ”อาจารย์อัครพงศ์ กล่าว
ขณะที่คุณอรรณพ ตบท้ายกับคำถามนี้ว่าผมมองว่าอีก 10 ปีข้างหน้า AI จะมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงวงการโลจิสติกส์บ้านเราอย่างมาก ซึงจะเข้ามาตอบสนองการบริการจัดการด้านต่างๆของผู้ผลิต รวมไปถึงตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป