ท่ามกลางการพุ่งทะยานเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซเมืองไทย ส่งอานิสงส์ให้ธุรกิจโลจิสติกส์และการจัดส่งสินค้ามีอัตราการเติบโตพุ่งสูงเป็นเงาตามตัว โดยมีการคาดการณ์ว่าภาพรวมธุรกิจโลจิสติกส์ในปี 2561 นี้ น่าจะมีการเติบโตไม่ต่ำกว่า 5% โดยเฉพาะธุรกิจขนส่งสินค้าทางบกที่คาดการณ์กันว่าจะมีมูลค่ากว่า 1.4 แสนล้านบาท ทะยานเติบโต 5.3-7% เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 1.3 แสนล้านบาท
ทิศทางลมดังกล่าวส่งแรงกระเพื่อมให้สมรภูมิธุรกิจโลจิสติกส์มีอัตราการแข่งขันดุเดือดต่อเนื่องทุกปี อีกทั้งยังมีพลังดูดผู้ประกอบการทั้งไทยและเทศเข้าสู่วงจรธุรกิจโลจิสติกส์ในหลายรูปแบบ การแข่งขันที่รุนแรงดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันตลาดธุรกิจโลจิสติกส์ไทยอยู่ในสถานการณ์ “Extreme Red Ocean”
ต้องยอมรับว่าตลาดธุรกิจโลจิสติสก์ไทยมีขาใหญ่อย่าง “ไปรษณีย์ไทย” Local Brand ที่คนไทยรู้จักกันดีและตะบันธุรกิจคู่วงล้อธุรกิจโลจิสติกส์ไทยมากกว่าหนึ่งศตวรรษแล้ว ทำให้ในอดีตหากใครอยากส่งของหรือสินค้าใกล้-ไกลก็ต้องนึกถึงชื่อ“ไปรษณีย์ไทย” เป็นอันดับแรก กลายเป็นขาใหญ่เจ้าประจำที่ “กวาดกินเรียบนิ่มๆ” และใหญ่พอที่ใครทะยานเทียบรัศมีและรุมแย่งเค้กก้อนมหีมาของตลาดนี้ได้
ทว่า เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไปเทรนด์การซื้อ -ขายในโลกออนไลน์ขยายตัวขึ้นชนิด “เร็วและแรง” ทะลุทุกซอกหลืบสังคมไทยแล้วในเวลานี้ จนบูมสุดขีดยากที่จะทัดทานการเติบโตได้ และกลายเป็นว่า “เค้กตลาดส่งพัสดุ” ก็ยิ่งเป็นเค้กที่ใหญ่มากยิ่งขึ้น ผลที่ตามมาคือคู่แข่งทั้งไทย-เทศกระโจนเข้าร่วมวงศ์ไพบูลย์หวัง “แบ่งเค้กก้อนโต”อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น นิ่ม เอ็กเพรส, SCG EXPRESS, DHL และรายอื่นๆอีกบาน
แต่คู่แข่งที่น่าจับตาและกลายเป็น “ผู้ท้าชิงตัวจริง” ที่น่ากลัวและสร้างความกังวลใจให้แก่ขาใหญ่อย่าง “ไปรษณีย์ไทย” มากที่สุดนั้น ไม่ใช่ใครที่ไหน เพราะเขาคือ “ Kerry express” ที่มาเร็วและแรงแซงทุก “โค้งส่งพัสดุ”ชนิดไล่จี้ติดๆในเวลานี้เลยก็ว่าได้ จนผู้คว่ำหวอดในวงการต่างฟันธงตรงกันว่าหากขาใหญ่อย่าง “ไปรษณีย์ไทย” ยังไม่ตื่นตัวและยังหลงลำพองความยิ่งใหญ่ของตัวเองในอดีต จะถูก Inter Brand อย่าง Kerry express ล้มช้างใหญ่อย่าง ไปรษณีย์ไทย ให้หงายท้องตึงได้ในที่สุด
Trans Time ขอใช้เวทีนี้วัดแผนการลงทุนและความแข็งแกร่งของทั้ง 2 แบรนด์ชนิดหมัดต่อหมัดว่าใครจะหนักกว่ากัน หรือใครได้เปรียบ-เสียเปรียบในแง่มุมไหนอย่างไรบ้าง?
ไปรษณีย์ไทย ยกเครื่อง “คุณภาพบริการ”ครั้งใหญ่
คุณสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ได้ฉายภาพถึง ของขอบเขตและเทรนด์ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ในวันนี้ที่เปลี่ยนแปลงไปว่าทุกธุรกิจในโลกนี้ย่อมมีการแข่งขันเป็นเรื่องธรรมดา เพราะมันเป็นโลกเสรี และไปรษณีย์ไทย (ปณท) เป็นรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้ผูกขาด ดังนั้น เราแข่งขันมาโดยตลอด เพียงแต่ในอดีตที่ผ่านมาคู่แข่งยังไม่ค่อยเข้ามา เพราะการส่งของยังน้อยอยู่ แต่วันนี้เมื่อเทคโนโลยีเจริญมากขึ้น ผนวกกับเทรนด์และพฤติกรรมผู้ซื้อเปลี่ยนไป ทำให้ปริมาณการค้าออนไลน์มีมากขึ้น จึงเป็นโอกาสธุรกิจที่ทำให้มีบริษัทขนส่งและโลจิสติกส์ทั้งไทยและเทศไหลบ่าเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น
“ความได้เปรียบของเอกชน คือความคล่องตัว ขณะที่ ไปรษณีย์ไทยเป็นหน่วยงานของรัฐมีกฎระเบียบ ทำให้การขยับแต่ละอย่าง สู้เอกชนไม่ได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ทำให้ธุรกิจอยู่ได้ จากเมื่อก่อนเคยมีคำกล่าวกันว่าปลาใหญ่ กินปลาเล็กต่อมาเป็นปลาเร็ว กินปลาช้าแต่วันนี้องค์กรที่จะอยู่ได้ยืนยาวและเติบโตต่อไป คือ องค์กรที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ ไปรษณีย์ไทย จะลำพองตัวเองไม่ได้แล้วต้องยกเครื่องการบริหารจัดการทั้งองค์กรและบุคลากรครั้งใหญ่ เพื่อทำให้เรามีศักยภาพเดินหน้าต่อได้อย่างเข้มแข็งได้”
กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปณท ระบอีกว่าท่ามกลางคู่แข่งภาคเอกชนที่มากขึ้น เราจำเป็นต้องปรับตัวและยกระดับคุณภาพบริการสู่ “ไปรษณีย์ไทย 4.0” เน้นแผนงานที่ต้องทำให้สำเร็จใน 3 ด้าน อย่างแรกเลยต้องพัฒนาคุณภาพการให้บริการ ที่ทำการไปรษณีย์อนุญาต และการนำจ่าย ถัดมาต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ทั้งระบบตั้งแต่การรับฝาก – คัดแยก – ส่งต่อ – นำจ่าย เพื่อให้รองรับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น และสุดท้ายต้องพัฒนาศักยภาพด้านโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ระยะยาว โดยร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ เช่น เปิดจุดให้บริการรับฝากในพื้นที่ห้างสรรพสินค้า และสถานีบริการน้ำมัน พร้อมทั้งปรับปรุงระบบการบริหารจัดการองค์กร ด้วยการวางระบบกระจายอำนาจในลักษณะ Area Coach เพื่อควบคุณคุณภาพ และการให้บริการของที่ทำการไปรษณีย์
ตั้ง “ศูนย์ไปรษณีย์แห่งใหม่” รุกเจาะลูกค้าธุรกิจ e-Commerce
นอกจากนี้ คุณสมร เผยถึงแผนการรองรับการเติบโตธุรกิจ e-Commerce ว่า ปณท กำลังเตรียมจัดตั้งศูนย์ไปรษณีย์แห่งใหม่ใช้ระบบ Full Automation 2 แห่ง คือ จังหวัดชลบุรี ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) และจังหวัดอยุธยา เพื่อรองรับปริมาณงานที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต และจะเปิด ศูนย์ไปรษณีย์ e-Commerce เพื่อแยกระบบการขนส่งสินค้า e-Commerce ออกจากระบบงานขนส่ง EMS ปกติ เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ e-Commerce โดยเฉพาะ
“ปณท มีบริการรองรับกลุ่มธุรกิจ e-Commerce ซึ่งถือเป็นลูกค้ากลุ่มหลักอีกกลุ่มหนึ่งของเราด้วย ไม่ว่าจะเป็นบริการ Prompt Post เตรียมการฝากส่งล่วงหน้า บริการเรียกเก็บเงินปลายทาง (COD) เป็นบริการเสริมใช้ควบคู่กับบริการ EMS โดยจัดทำจ่าหน้าผ่านระบบ Prompt Post ผู้รับปลายทางสามารถชำระเงินค่าสินค้าผ่าน Wallet@Post ของไปรษณีย์ไทย อีกกทั้งยังได้ติดตั้ง GPS ที่รถขนส่งไปรษณีย์กว่า 1,000 คัน แล้ว เพื่อควบคุมคุณภาพการขนส่งให้ทันเวลา สามารถติดตามรถขนส่งได้แบบ Real Time ลดปัญหาความล่าช้า ซึ่งก็ทำให้การควบคุมการส่งต่อไปรษณียภัณฑ์เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดตรงเวลา”
อย่างไรก็ดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปณท ย้ำถึงความได้เปรียบของไปรษณีย์ไทยว่าแตกต่างจากผู้ให้บริการขนส่งและโลจิสติกส์รายอื่น คือเรารู้จริงในพื้นที่ ความชำนาญในการส่ง และความเป็นมิตรกับคนในชุมชนที่ยังเชื่อใจพนักงานนำจ่าย ซึ่งปัจจุบันไปรษณีย์ไทยมีพนักงานนำจ่ายมากกว่า 10,000 คน จากพนักงานทั้งหมด 36,000 คน โดยเราเพิ่มพนักงานนำจ่ายมากขึ้น เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนครัวเรือนในไทย
Kerry Express ส่งของอย่างไรให้กลายเป็นผู้นำด้าน Logistics
คุณอเล็กซ์ อึ้ง ผู้อำนวยการบริหาร สายงานธุรกิจรับ-ส่งพัสดุ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด สะท้อนภาพรวมธุรกิจว่า Kerry Express เป็นบริษัทลูกของ Kerry Logistics ที่ทำธุรกิจในไทยมาเกือบ 40 ปี ต่อมาขยายธุรกิจสู่ตลาดที่ไซส์เล็กลง แต่มียอดการเติบโตอย่างมหาศาล นั่นคือ การจัดส่งพัสดุแบบถึงมือผู้บริโภค (Door-to-Door)”
“Kerry Express ก่อตั้งขึ้นในปี 2549 โดยให้บริการโลจิสติกส์สำหรับลูกค้ารายย่อย เรื่อยไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ ตั้งแต่จัดเก็บสินค้า การขนส่งสินค้า การติดตามสินค้า และการรับชำระเงินปลายทาง ตอบโจทย์ครอบคลุมทุกความต้องการ ซึ่งกลุ่มลูกค้าของ Kerry Express แยกออกเป็น 3 เซ็กเมนท์หลักๆ ได้แก่ 1.ธุรกิจ-ส่งถึง-ธุรกิจ (B2B) 2. ธุรกิจ-ส่งถึง-บุคคล (B2C) และ 3. บุคคล-ส่งถึง-บุคคล (C2C)”
คุณอเล็กซ์ ระบต่อไปว่าปัจจุบันการส่งของจากผู้บริโภคสู่ผู้บริโภคเป็นพลวัตสำคัญที่สร้างรายได้ และเสริมแกร่งให้ Kerry Express เติบโตขึ้นอย่างมากในรอบหลายปี ดังนั้น เราจึงมุ่งมั่นจะพัฒนาบริการ โดยมีเป้าหมายให้ผู้บริโภคชาวไทยสามารถเข้าถึงบริการของ Kerry Express ได้ทุกที่ทั่วไทย
“ปี 2561 นี้ Kerry Express ตั้งเป้าจะขยายจุดรับของ (Parcel Shop) ให้มากขึ้น 2 เท่า จากเดิม 1,000 จุด เป็น 2,500 จุด ช่วยให้ครอบคลุมแทบจะทุกพื้นที่ในไทย และอีก 3 ปีข้างหน้า บริษัทฯ ยังตั้งเป้าที่จะขยายจุดบริการเพิ่มเป็น 5,000 จุด ภายในปี 2563 ขณะที่แผนการขยายจุดรับของ Kerry Express จะช่วยให้ผู้บริโภคที่อยู่ไกลจากตัวเมือง สามารถเข้าถึงบริการจัดส่งพัสดุด่วนของ Kerry Express ได้ง่ายขึ้น และเมื่อสาขาเยอะขึ้น เราก็จัดการส่งต่อสินค้าได้รวดเร็วขึ้นเช่นกัน นอกจากนั้น Kerry Express เตรียมที่จะเพิ่มจำนวนศูนย์กระจายสินค้า (small distribution center) เป็น 500 สาขา และเพิ่ม Hub สำหรับคัดแยกสินค้า ซึ่งมีขนาดพื้นที่อย่างน้อย 10,000 ตารางเมตร จากเดิมมีอยู่ 12 สาขา เราก็ตั้งเป้าว่าจะขยายเป็น 109 สาขา ภายในปี 2563”
Inter Brand ไล่จี้ Local Brand ได้จริงหรือ?
ท่ามกลางการแข่งขันดุเดือดทั้ง 2 แบรนด์นี้ กูรูในแวดวงธุรกิจโลจิติกส์เมืองไทยถึงข้ามช็อตถึงความน่ากลัวของ Kerry express บริษัท Logistics สัญชาติฮ่องกงที่ใช้เวลาเพียงแค่ 12 ปี สามารถอัพเกรดบริการของตัวเองได้อย่างรวดเร็ว แถมยังกระจายสาขาปักหมุดแบบสุดซอย กล้าทุกคลัง 800 ล้านบาทขยายจุดบริการจากเดิม 1,500 สาขาเพิ่มเป็น 2,500 สาขาในปีนี้ ซึ่งเป็นการเพิ่มสาขาเกือบๆ เท่าตัวภายใน 1 ปี เพ
“ Kerry express เชื่อว่าพฤติกรรมการส่งพัสดุของคนไทยทั่วประเทศ ก็ไม่ต่างจากพฤติกรรมการเข้าร้านสะดวกซื้อ ขอร้านที่สะดวกใกล้บ้าน ยิ่งชื่อชั้นแบรนด์ตัวเอง ณ เวลานี้ บ่มเพาะมานานจนแข็งแกร่งใกล้เคียงกับ ไปรษณีย์ไทย หากมีสาขาที่ครอบคลุมมากขึ้นก็เปรียบเสมือนมีแม่เหล็กดูดลูกค้ามาจากมือ ไปรษณีย์ไทยให้มาเป็นลูกค้าตัวเองได้ไม่ยาก เมื่อมีสาขาเพิ่มมากขึ้น Kerry express ก็ต้องเพิ่มจำนวนยานพาหนะให้มากขึ้นเป็นอีก 2 เท่าจากเดิมที่มีอยู่ และเตรียมเปิดศูนย์กระจายสินค้าย่อยเพิ่มอีกกว่า 300 แห่ง สุดท้ายคือการเพิ่มจำนวนพนักงานที่จะต้องเพิ่มขึ้นอย่างต่ำๆ อีก 1 เท่าตัว”
หากเทียบกันต่อตารางเมตรในพื้นที่ต่างจังหวัด Kerry Express ยังคนละชั้นกับ “ไปรษณีย์ไทย”หาก Kerry Express คิดว่าเวลานี้ตัวเองเทียบชั้น “ไปรษณีย์ไทย” ได้แล้วคงต้องบอกว่า เป็นอะไรที่ Inter Brand รายนี้อาจ “คิดผิด” เพราะไปรษณีย์ไทยยังครองความเป็นแบรนด์มีรายได้มหาศาลใน “เจ้าพ่อตลาดพัสดุเมืองไทย”
โดยไปรษณีย์ไทยมีรายได้ 2.6 หมื่นล้านบาทในปี 2559 และในปี 2560 มีรายได้เติบโตเพิ่มขึ้นเกือบๆ 10%หากใครที่กำลังคิดว่า ไปรษณีย์ไทย กำลังหลังพิงฝา เจอ “คู่แข่ง” รุมกินโต๊ะแย่งชิงลูกค้าไปจากมือ กำลังคิดผิดถนัด ถ้าลองแยกรายได้เฉพาะส่งพัสดุ EMS จะประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท เป็นรายได้ที่ “ทิ้งห่าง” Kerry Express อยู่พอตัว สิ่งที่ทำให้ “ไปรษณีย์ไทย” เหนือชั้นกว่า “คู่แข่ง” ทุกรายนั้นคือ เครือข่ายที่มีมากกว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศ ยังไม่รวมร้านค้าอิสระที่รับ – ส่งสินค้าที่ไม่ได้ขึ้นตรงกับ “ไปรษณีย์ไทย” ที่อยู่ตามตรอกซอยทั่วประเทศโดยเฉพาะพื้นที่ “ต่างจังหวัด” ที่คู่แข่งอย่าง Kerry Express ยังมีเครือข่ายสาขาน้อยนิด ซึ่งกำลังบ่มเพาะเพื่อให้ใกล้เคียงกับผู้นำตลาดอย่างไปรษณีย์ไทย
“เป็นความมั่นใจที่ไปรษณีย์ไทยจึงกล้าประกาศว่าพื้นที่ต่างจังหวัดตัวเองมีส่วนแบ่งการตลาดมากเกือบๆ 75% ในขณะที่กรุงเทพมีส่วนแบ่งตลาด 50 -55%เป็นชัยชนะใสๆ แบบผูกขาดของไปรษณีย์ไทยแต่ก็ไม่ได้หลงระเริงตัวเองว่าในอนาคตจะไม่มีใครสามารถมีรายได้แซงหน้าได้ เพราะคู่แข่งหน้าใหม่-เก่าต่างก็มีเงินทุนที่หนาแถมยังอัพเกรดการบริการตัวเองอย่างสม่ำเสมอ”
ถึงกระนั้น ไปรษณีย์ไทย ต้องไม่ลำพองตัวเองเต็มประดา และต้องเดินหน้าปฏิรูปไปรษณีย์ไทย 4.0 เพื่อพัฒนาพนักงานตัวเองให้มีความมืออาชีพมากขึ้น ปรับปรุงระบบปฏิบัติงานให้มีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ คู่ขนานกับการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆในองค์กรและภาคบริการ เพื่อรักษาความเป็น “ราชันตลาดส่งพัสดุเมืองไทย”ให้ตลอดรอดฝั่ง
และต้องย้ำเตือนสติตัวเองอยู่เสมอด้วยว่าในโลกของธุรกิจมีให้เห็นมานักต่อนักแล้ว หากเบอร์หนึ่งยังมัวลำพองตัวเองว่าคู่แข่งยังห่างไกลจากตัวเองอีกไกล พร้อมกับนิ่งนอนใจไม่พัฒนาตัวเองหรือปรับตัวเข้ากับการแข่งขัน
แค่พริบตาเดียวเท่านั้นอาจกลายเป็น“แบรนด์รอง”หรือหายสาบสูญไปจากตลาดก็มีให้เห็นเป็นบทเรียนสอนใจมาแล้ว