ที่ปรึกษากฎหมายฯ แนะหน่วยงานรัฐตรวจสอบเอกสารและโรงงานผลิตก่อนสั่งซื้อรถ EV พบมหาวิทยาลัยรัฐชื่อดังย่านปทุมฯ ร้องสื่อตีแผ่หวังเป็นอุทาหรณ์ให้สังคม หลังซื้อรถโดยสารไฟฟ้านำเข้าจากจีนทั้งคัน ไร้อะไหล่ในไทยรองรับ ประสบปัญหาซ่อมบำรุงต้องจอดรถทิ้ง
นายวีระศักดิ์ ยอดอาจ ที่ปรึกษากฎหมายชมรมสื่อออนไลน์ เปิดเผยว่า ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริหารของมหาวิทยาลัยรัฐชื่อดังย่านปทุมธานี กรณีมหาวิทยาลัยได้มีการจัดซื้อจัดจ้างรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า (EV) ตามโครงการ Green University หรือ มหาวิทยาลัยสีเขียว เพื่อจัดบริการรับส่งนักศึกษาของมหาวิทยาลัย จำนวน 7 คัน เป็นรถไมโครบัสขนาด 20 ที่นั่ง นำเข้าจากประเทศจีนทั้งคัน เป็นเงินงบประมาณปี 2561 รวมเป็นกว่า 15 ล้านบาท แต่เวลานี้ประสบปัญหาไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากชิ้นส่วนของระบบต่างๆภายในตัวรถ อาทิ ระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ ระบบส่งกำลังขับเคลื่อน และระบบประมวลผลการช่วยขับขี่ ไม่มีอะไหล่ในไทยมาทดแทนต้องนำเข้าจากจีนเท่านั้น
โดยที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้ทำหนังสือแจ้งไปยังบริษัทผู้จัดจำหน่ายและนำเข้ารถโดยสาร EV ให้กับมหาวิทยาลัย เพื่อขอให้ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข เพราะต้องสั่งซื้อชิ้นส่วนจากจีนอย่างเดียว ขณะที่มหาวิทยาลัยต้องเสนอขอตั้งงบฯ เพื่อนำมาใช้ในการซ่อมบำรุง เพราะไม่ได้ตั้งงบฯไว้ล่วงหน้า เนื่องจากไม่คาดคิดว่าจะพังเร็วขนาดนี้ทำให้ต้องจอดรถทิ้งไว้ ส่งผลให้สิ้นเปลืองงบฯและไม่คุ้มค่าต่อการใช้งาน ดังนั้นจึงต้องการให้เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์กับมหาวิทยาลัยอื่นๆ รวมทั้งส่วนราชการที่กำลังจะจัดซื้อยานยนต์พลังงานไฟฟ้า ขอให้ตรวจสอบบริษัทที่จัดจำหน่ายและนำเข้าให้ดีว่ามีโรงงานชิ้นส่วนในไทยหรือไม่ ไม่เช่นนั้น จะเกิดความเสียหาย และไม่คุ้มทุนเช่นเดียวกัน
ขณะนี้ได้รับข้อมูลว่ามีบริษัทนำเข้ายานยนต์พลังงานไฟฟ้าหลายรายไปเสนอขายรถโดยสารไฟฟ้าให้กับส่วนราชการและมหาวิทยาลัยหลายแห่งตามนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนให้นำรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเข้ามาใช้ในราขการแทนรถเดิมที่หมดอายุการใช้งาน หรือที่ต้องจัดซื้อจัดจ้างเพื่อรองรับภารกิจใหม่หรือผู้ดำรงตำแหน่งใหม่ โดยให้ส่วนราชการที่ตั้งอยู่ในเขต กทม.ถือปฎิบัติอย่างเคร่งครัด โดยอ้างว่ามีโรงงานผลิตในไทย ทั้งที่นำเข้าจากจีนทั้งคัน พร้อมแจ้งว่ามีการรับประกันและดูแลหลังการขาย แต่ความจริงไม่มีอะไหล่ในไทยรองรับ จึงขอให้หน่วยงานตรวจสอบให้ดีโดยเฉพาะเอกสารโรงงานที่ผลิต ว่ามีใบรับรองจากสภาอุตสาหกรรม หรือกรมศุลกากร หรือสถาบันยานยนต์ หรือกระทรวงพาณิชย์หรือไม่ ซึ่งการนำเข้ารถทั้งคันจะจ่ายภาษีต่ำกว่าความเป็นจริงหรือที่เรียกว่า Under value ทำให้รัฐเสียประโยชน์ ซึ่งเรื่องนี้กรมศุลกากรสามารถที่จะตรวจสอบย้อนหลังได้แม้เวลาจะผ่านไปกี่ปีก็ตาม ดังนั้นขอให้หน่วยงานตรวจสอบอย่างละเอียด หรือถ้าให้ดีควรไปดูโรงงานจริงเพื่อความมั่นใจ
นอกจากนี้แนวปฎิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 ระบุว่า หน่วยงานของรัฐต้องใช้วัสดุหรือครุภัณฑ์ที่ผลิตภายในประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของวัสดุหรือครุภัณฑ์ที่จะใช้ในงานจ้าง กรณีที่หน่วยงานของรัฐจะไม่ใช้พัสดุที่ผลิตภายในประเทศ หรือใช้ไม่ครบร้อยละ 60 ให้หน่วยงานของรัฐเสนอผู้มีอำนาจเหนือขึ้นไปหนึ่งขั้นเพื่อพิจารณาเห็นชอบก่อน รวมทั้งให้จัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ได้รับการรับรองและออกเครื่องหมายสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย ซึ่งโรงงานผลิตในไทยต้องมีมาตรการ ISO 9001 ต้องใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ต้องมีการชุบสีผ่านกระบวนการ EDP เพื่อป้องกันสนิท และศูนย์บริการต้องได้มาตรฐาน ISO 9001 ดังนั้นนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้ซื้อสินค้าภายในประเทศถือว่าเป็นทางออกที่ดี ทั้งยังช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศไทยด้วย