กรมขนส่งฯกำชับรถโดยสารประจำทางทุกประเภททุกเส้นทางต้องเก็บค่าโดยสารอัตราเดิมเท่านั้น เข้มหากฉวยโอกาสเก็บค่าโดยสารโดยใช้อัตราใหม่มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 5,000 บาท หากผิดซ้ำจะพิจารณาพักใช้เพิกถอนใบอนุญาตทั้งผู้ขับรถและผู้เก็บค่าโดยสาร รวมถึงผู้ประกอบการจะมีความผิดฐานไม่ควบคุมกำกับดูแลการให้บริการ มีผลต่อการพิจารณาต่ออายุใบอนุญาตประกอบการขนส่ง
นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางทุกประเภท ต้องปฏิบัติตามมติคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางอย่างเคร่งครัด ซึ่งให้เลื่อนการปรับขึ้นค่าโดยสารรถโดยสารประจำทางทุกประเภทออกไปจากกำหนดเดิมเป็นวันที่ 22 เมษายน 2562 โดยต้องจัดเก็บค่าโดยสารตามอัตราเดิมที่ทางราชการกำหนด
นายกมล บูรณพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้จัดผู้ตรวจการลงพื้นที่ตรวจสอบตามประเด็นร้องเรียนพบว่า มีผู้ประกอบการบางรายฉวยโอกาสเก็บค่าโดยสารโดยใช้อัตราใหม่ หากตรวจสอบพบจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ฐานเรียกเก็บอัตราค่าโดยสารผิดไปจากที่ทางราชการกำหนด มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 5,000 บาท พร้อมบันทึกประวัติการกระทำความผิด และหากกระทำผิดซ้ำจะพิจารณาพักใช้เพิกถอนใบอนุญาตผู้ประจำรถ ทั้งผู้ขับรถและผู้เก็บค่าโดยสาร รวมถึงผู้ประกอบการจะมีความผิดฐานไม่ควบคุมกำกับดูแลการให้บริการ ซึ่งจะมีผลต่อการพิจารณาต่ออายุใบอนุญาตประกอบการขนส่ง สำหรับอัตราค่าโดยสารรถโดยสารองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) คือ 6.50 บาท รถร่วม ขสมก. (บัสใหญ่และมินิบัส) 9 บาท รถโดยสารปรับอากาศ 12 – 20 บาท รถโดยสารปรับอากาศ (Euro) 13 – 25 บาท รถสองแถว 7 บาท และรถตู้โดยสารจัดเก็บในอัตราเดิม ในขณะที่รถโดยสารของ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และรถร่วมบริการ บขส. ที่ให้บริการในต่างจังหวัด แบ่งเป็น 4 ช่วง ประกอบด้วย ระยะทาง 40 กิโลเมตรแรก 0.49 บาทต่อกิโลเมตร ระยะทาง 40 – 100 กิโลเมตร 0.44 บาทต่อกิโลเมตร ระยะทาง 100 – 200 กิโลเมตร 0.40 บาทต่อกิโลเมตร และเกิน 200 กิโลเมตร 0.36 บาทต่อกิโลเมตร กรณีเป็นรถตู้และรถโดยสารขนาดเล็ก 0.67 บาทต่อกิโลเมตร
หากประชาชนพบรถโดยสารเก็บค่าโดยสารเกินกว่าที่กำหนด สามารถแจ้งผ่านช่องทางต่าง ๆ ดังนี้ 1) แจ้งกับผู้ตรวจการโดยตรง 2) ร้องเรียนผ่านสายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง 3) ทางเว็บไซต์ http://ins.dlt.go.th/cmpweb/ 4) ทาง E – mail : dlt_1584complain@hotmail.com 5) ทาง Facebook “1584 ร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะ” 6) ร้องเรียนด้วยตนเอง ณ ขบ. โดยระบุรายละเอียดรถและผู้ขับรถคันที่กระทำความผิด เช่น หมายเลขทะเบียนรถ ชื่อ – นามสกุลผู้ขับรถ วันเวลาและสถานที่เกิดเหตุให้ชัดเจน ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการติดตามตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษมีความรวดเร็ว