นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานงานวันคล้ายวันก่อตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ครบรอบ 48 ปี โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม และประธานกรรมการ กทพ. นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้าง กทพ. เข้าร่วมในพิธี ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ณ ห้องประชุม สำนักงานใหญ่ กทพ.
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เปิดเผยว่า กทพ. เป็นรัฐวิสาหกิจในการกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม ถือเป็นหน่วยงานที่มีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน และช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง โดยได้พัฒนาการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาให้บริการประชาชน เช่น การพัฒนาระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติด้วยบัตร Easy Pass ที่ในอนาคตจะปรับเป็นระบบ M-Flow รูปแบบและมาตรฐานเดียวกับกรมทางหลวง
นอกจากนี้ ได้เร่งขยายเส้นทางทางพิเศษสายใหม่ ทั้งทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ทางพิเศษฉลองรัช – นครนายก – สระบุรี รวมถึงทางพิเศษสายกระทู้ – ป่าตอง ซึ่งถือเป็นโครงการแรกในต่างจังหวัดของ กทพ. ถือเป็นการเปิดมิติใหม่ในการแก้ไขปัญหาจราจรที่ไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิมที่มุ่งเน้นเฉพาะในเมืองหลวง และ กทพ. ยังได้ดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เช่น การมอบพื้นที่ใต้ทางพิเศษเพื่อใช้เป็นสาธารณประโยชน์ การมอบทุนการศึกษาให้เยาวชนที่ด้อยโอกาส การมอบผ้าห่มให้ผู้ประสบภัยหนาว เป็นต้น
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 4 ทศวรรษ กทพ. ได้มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ที่มุ่งเน้นในการพัฒนาเครือข่ายระบบทางพิเศษให้เชื่อมโยงกันอย่างบูรณาการ ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน
โดยปัจจุบัน กทพ. ได้เปิดให้บริการทางพิเศษรวม 8 สายทาง ระยะทาง 224.6 กิโลเมตร ประกอบด้วย ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช ทางพิเศษฉลองรัช ทางพิเศษบูรพาวิถี ทางพิเศษอุดรรัถยา ทางพิเศษสายบางนา – อาจณรงค์ ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี – สุขสวัสดิ์) และทางพิเศษสายศรีรัช – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ
สำหรับการก้าวสู่ปีที่ 49 ของ กทพ. นั้น ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาเครือข่ายทางพิเศษให้เชื่อมโยงกันเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ประชาชน โดยปี 2564 กทพ. มีแผนผลักดันโครงการต่าง ๆ ดังนี้
1.โครงการก่อสร้างทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก ซึ่งจะเป็นโครงข่ายทางพิเศษที่เชื่อมโยงการเดินทางในแนวรัศมีระหว่างกรุงเทพฯ กับพื้นที่ทางด้านตะวันตกของกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงจากจังหวัดในภาคใต้ให้เดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2565
2.โครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา – อาจณรงค์ (S1) กับการท่าเรือแห่งประเทศไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม หลังจากสรุปผลการศึกษาความเหมาะสม คาดว่าจะใช้เวลาออกแบบรายละเอียดประมาณ 1 ปี ก่อสร้าง 2 ปี เริ่มก่อสร้างได้ในปี 2566 วงเงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 1,600 ล้านบาท โดยโครงการดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมและพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ พร้อมอำนวยความสะดวกรวดเร็วให้กับผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางเรือที่เป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ
3.โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันออก ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายงานขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
4.โครงการทางพิเศษสายกะทู้ – ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการในขั้นตอนการเสนอโครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และขออนุญาตใช้พื้นที่ของกรมป่าไม้ โดยได้รับความกรุณาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมช่วยผลักดันโครงการในการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้โครงการนี้เดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว ล่าสุดได้รับอนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้แล้ว 2 พื้นที่ คาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการได้ช่วงต้นปี 2564
5.การศึกษาโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช – นครนายก – สระบุรี โครงการทางเชื่อมต่อทางพิเศษบูรพาวิถีและถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี ตลอดจนศึกษาแผนแม่บททางพิเศษในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดขอนแก่น
นอกจากนี้ กทพ. ยังคงมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาจราจร ลดการสูญเสียพลังงานและน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนจะนำระบบกล้องอ่านป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติที่เชื่อมต่อข้อมูลกับกรมการขนส่งทางบกมาใช้ร่วมกับระบบชำระเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และบูรณาการทำงานในรูปแบบและมาตรฐานเดียวกัน (Single Platform System) โดยจะนำร่องใช้งานระบบ M-Flow ในโครงการทางพิเศษฉลองรัชและด่านฯ ที่เป็นจุดรองรับการจราจรทิศทางขาเข้าเมือง ที่มีปริมาณจราจรหนาแน่น อาทิ ด่านฯ บางนา กม.6 ขาเข้า ด่านฯ ดาวคะนอง
ทั้งนี้ คาดว่าจะเปิดให้บริการระบบ M-Flow ในระยะแรกที่ด่านฯ จตุโชติ ด่านฯ สุขาภิบาล 5-1 และด่านฯ รามอินทรา ของทางพิเศษฉลองรัช ประมาณเดือนกรกฎาคม 2564 รวมถึงนำไปใช้กับทางพิเศษที่ กทพ. อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง คือ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก และโครงการทางพิเศษฉลองรับ – นครนายก – สระบุรี อีกด้วย