สนข.เทงบ 33 ล้าน ผุดแผนแม่บท W-MAP พัฒนาเส้นทางเดินเรือโดยสาร “กทม.-ปริมณฑล” คลองเชื่อมเจ้าพระยา 492 กม. จ่อชง ครม.ไฟเขียวภายในปีนี้ เล็งนำร่อง “คลองขุดมหาสวัสดิ์” ระยะทาง 28 กม. เชื่อมนครปฐม-กทม. พ่วงส่งต่อระบบรถไฟฟ้า ลุ้นเอกชนสนใจ ตั้งธงเปิดให้บริการปี 65 หวังแก้จราจร ถ.บรมราชชนนี เพิ่มทางเลือกประชาชน
นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงโครงการศึกษาจัดทำแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และการเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น (W-MAP) ครั้งที่ 1 ว่า ตามที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พิจารณาเพิ่มบริการการขนส่งในแม่น้ำ ลำคลอง เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชนนั้น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้ สนข. ดำเนินการ
เทงบ 33 ล้าน อัพเกรดการเดินทางด้วยเรือ
ดังนั้น สนข. จึงได้ใช้งบประมาณ 33 ล้านบาท นำมาดำเนินการศึกษาจัดทำแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และการเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในเขต กทม. และปริมณฑล รวมถึงเพิ่มเส้นทางการเดินทางทางน้ำ และเป็นอีกทางเลือกในการเดินทางให้กับประชาชน อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่าย เนื่องจากการเดินทางโดยเรือ มีค่าใช้จ่ายที่ประหยัดที่สุด มีความสะดวก และตรงเวลา นอกจากนี้ ยังจะเป็นส่วนช่วยในการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวด้วย พร้อมทั้งจะเป็นอีกระบบขนส่งที่จะใช้ระบบตั๋วร่วม เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทาง ถือเป็นการยกระดับการเดินทางทางน้ำ ให้ทางเลือกในการสัญจร และท่องเที่ยว รองรับความต้องการเดินทาง และการเติบโตของเมืองอย่างยั่งยืน
คาดเสนอ ครม.ไฟเขียว ปลายปี 64
สำหรับโครงการศึกษาจัดทำแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำนั้น จะใช้ระยะเวลาศึกษา 14 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่ ก.ย. 2563 และจะศึกษาแล้วเสร็จภายใน พ.ย. 2564 ทั้งนี้ เมื่อศึกษาแล้วเสร็จ จะเสนอแผนฯ ไปยังกระทรวงคมนาคม ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณา จากนั้นคาดว่าภายในปี 2564 จะเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป
นายปัญญา กล่าวต่ออีกว่า หลังจาก ครม. อนุมัติแผน W-Map นั้น จะนำมาดำเนินการพัฒนาคลองขุดมหาสวัสดิ์ เป็นโครงการนำร่อง มีระยะทางรวม 28 กม. แบ่งเป็น ด้านตะวันตกเชื่อมแม่น้ำท่าจีน 20 กม. และด้านตะวันออกเชื่อมถึงคลองบางกอกน้อย 8 กม. จะพัฒนาจากประตูน้ำมหาสวัสดิ์-วัดชัยพฤกษมาลาราชวรวิหาร โดยเส้นทางดังกล่าว เป็นเส้นทางที่มีประชาชนอาศัยหนาแน่น ทั้งชุมชนต่างๆ รวมถึงนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล และผู้ที่ทำงานอยู่ใน กทม. แต่อาศัยอยู่ที่จังหวัดปริมณฑล ซึ่งจะเป็นการเพิ่มทางเลือกการเดินทางระหว่างจังหวัดนครปฐม-กทม. ทั้งยังช่วยลดปริมาณการจราจรติดขัดบริเวณถนนบรมราชชนนี พระราม 8 ก่อนเข้าสู่ กทม.
เล็งเชิญเอกชนร่วมทุน PPP
ขณะเดียวกัน ยังเป็นเส้นทางที่เชื่อมการขนส่งสาธารณะระบบราง ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันอีกด้วย อย่างไรก็ตาม จะสามารถเปิดให้บริการได้เมื่อไหร่นั้น จะต้องรอผลการศึกษาแล้วเสร็จก่อน เบื้องต้นประเมินว่า จะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2565 แต่ทั้งนี้ จะต้องพิจารณาถึงความสนใจของภาคเอกชนด้วย ในส่วนแนวทางการดำเนินการนั้น จะเป็นการออกใบอนุญาตให้เอกชนมาดำเนินการเดินเรือ พร้อมทั้งพิจารณาการให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน (PPP) ในส่วนของการพัฒนาท่าเรือ และพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์
โครงค่าย W-MAP ยาวกว่า 492 กม.
สำหรับโครงข่ายการเดินทางทางน้ำ (W-MAP) เกิดจากการเชื่อมต่อแม่น้ำเจ้าพระยากับคลอง จำนวน 31 คลอง ระยะทางรวม 492.2 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งเป็นทั้งคลองในการกำกับดูแลของ กทม., กรมเจ้าท่า (จท.) และกรมชลประทาน โดยในปัจจุบันมีเรือโดยสารสาธารณะให้บริการในเขต กทม. และปริมณฑล จำนวน 5 เส้นทาง ระยะทางรวม 77 กม. ประกอบด้วย 1.เส้นทางของเรือด่วนเจ้าพระยา และเรือไฟฟ้าให้บริการในแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 34.8 กม.
2.เส้นทางในคลองแสนแสบ ระยะทาง 17-2 กม. 3.เส้นทางในคลองผดุงกรุงเกษม ระยะทาง 4.4 กม. 4.เส้นทางในคลองภาษีเจริญ 11.5 กม. และ 5.เส้นทางในคลองประเวศบุรีรมย์ (คลองพระโขนง) ระยะทาง 9 กม. มีจำนวนท่าเรือทั้งหมด 119 ท่าเรือ มีจุดเชื่อมต่อเดินทาง ล้อ-ราง-เรือ 12 จุด และมีผู้โดยสารใช้บริการทั้งหมดวันละ 200,000 คน หรือ 70 ล้านคนต่อปี
เชื่อมการเดินทางเรือสู่ราง
ทั้งนี้ ใน 5 เส้นทางที่เปิดให้บริการเดินเรือนั้น มีท่าเรือที่สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบันในรัศมี 500 เมตร จำนวน 12 จุด ประกอบด้วย ท่าเรือที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) จำนวน 10 สถานี ได้แก่ สถานีอโศก, สถานีหัวลำโพง, สถานีบางไผ่, สถานีบางหว้า, สถานีเพชรเกษม 48, สถานีภาษีเจริญ, สถานีสะพานพระนั่งเกล้า, สถานีบางโพ, สถานีสนามไชย, สะพานตากสิน
รวมถึงท่าเรือที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส (สายสีเขียว) จำนวน 2 สถานี ได้แก่ สถานีราชเทวี, สถานีบางหว้า และท่าเรือที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) จำนวน 2 สถานี ได้แก่สถานีมักกะสัน, สถานีรามคำแหง โดยอนาคต เมื่อดำเนินการตาม W-MAP นั้น จะเพิ่มจุดเชื่อมต่อทางเรือกับระบบรถไฟฟ้าอีก 15 จุด รวมทั้งสิ้นเป็น 27 จุด
อย่างไรก็ตาม การให้บริการเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำและคลอง ยังมีความจำเป็นต้องปรับปรุงสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านกายภาพที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือ เช่น การรุกล้ำลำคลอง ปัญหาของประตูระบายน้ำ หรือสะพานกีดขวางการเดินเรือ ปัญหาด้านการให้บริการเดินเรือโดยสาร เช่น เรือวิ่งเสียงดัง เรือปล่อยควันดำ หรือปัญหาด้านความปลอดภัยกรณีมีผู้โดยสารหนาแน่นในช่วงเวลาเร่งด่วน
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านท่าเรือโดยสาร เช่น ท่าเรือชำรุด ขาดสิ่งอำนวยความสะดวกที่ท่าเรือ ตลอดจนปัญหาด้านการเข้าถึงท่าเรือและเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งสาธารณะอื่น เช่น ทางเดินเข้าออกท่าเรือมีสิ่งกีดขวางแสงสว่างไม่เพียงพอ ไม่ปลอดภัย ไม่มีป้ายบอกเส้นทางเข้าออกท่าเรือ และจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะอื่นห่างไกลจากท่าเรือ