ปัจจุบัน อุตสาหกรรมเหล็กของไทยกำลังประสบปัญหาในการจัดจำหน่าย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแข่งขันกับกับสินค้าเหล็กนำเข้าราคาทุ่มตลาดจากประเทศจีน ส่งผลให้การบริโภคสินค้าเหล็กในประเทศมีจำนวนเพียง 3 ล้านตัน ในขณะที่กำลังการผลิตที่มีคุณภาพในประเทศไทยมีจำนวนทั้งหมด 10 ล้านตัน รวมทั้งราคาสินค้าเหล็กที่นำเข้ามีราคาที่ต่ำกว่าราคาจำหน่ายของสินค้าเหล็กที่ผลิตในประเทศไทย
ประกอบกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐยังไม่เอื้อต่อการส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถในการใช้เหล็กภายในประเทศ ทางสมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย เสนอให้ภาครัฐทบทวนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง (International Bidding) เนื่องจากการก่อสร้างของประเทศไทยที่ผ่านมาไม่ได้คำนึงถึงระยะเวลาในการก่อสร้าง ส่วนมากใช้แรงงานคนในการก่อสร้าง
ดังนั้น ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศจีนที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้ประหยัดเวลาในการก่อสร้าง เมื่อมีการประมูลในรูปแบบ International Bidding จึงทำให้ผู้รับเหมาไทยไม่สามารถสู้ราคาและระยะเวลาในการก่อสร้างได้
อุตสาหกรรมเหล็กไทยระส่ำ
สืบเนื่องจากจากสงครามการค้าที่ผ่านมา ทำให้เหล็กจีนทะลักเข้ามาในตลาดในประเทศไทยมากขึ้นผู้ผลิตไทยหลายสินค้า เช่น ท่อเหล็ก และงานแปรรูปเหล็กได้รับความเสียหายต้องลดการใช้กำลังการผลิตลงเหลือเพียง 30-40% ขณะที่เหล็กนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นถึง 80% โดยในปี 2561 มีการนำเข้าถึง 2 ล้านตันจากปริมาณความต้องการใช้เหล็ก 19.3 ล้านตัน แต่ไทยผลิตได้เพียง 7.3 ล้านตัน
นี่จึงเป็นเหตุให้ที่ผ่านมาผู้ประกอบการผู้ผลิตเหล็กในประเทศ ขอร้องต่อกรมการค้าต่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ ให้ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (เอดี) กับสินค้าเหล็กนำเข้ามากถึง 14 เคส และมีการใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) 1 เคส
ด้านอุตสาหกรรมผลิตเหล็กไทยซึ่งมีมูลค่ากว่า 73,000 ล้านบาท กำลังจะกลายเป็นอุตสาหกรรมดาวร่วงที่มีแนวโน้มว่าจะผลิตลดลงเรื่อยๆ
เหล็กจีนทุกเศรษฐกิจทั้งอาเซียน
ย้อนกลับไปดูข้อมูลศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดย รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ระบุว่า ในปี 2553 ความต้องการใช้เหล็กในอาเซียนมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 30 ล้านตัน เป็น 78 ล้านตันในปี 2559 และเป็น 82 ล้านตันในปี 2560 หรือเรียกว่าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในช่วงเวลาไม่ถึง 10 ปี และในจำนวนนี้ ประเทศไทยและเวียดนามเป็นประเทศที่มีความต้องการใช้เหล็กมากที่สุดปีละ 20 ล้านตัน ส่วนอินโดนีเซียปีละ 13 ล้านตัน มาเลเซีย 10 ล้านตัน
ด้านการผลิตเหล็กในอาเซียนผลิตได้เพียง 35 ล้านตัน เท่านั้น โดยมี “เวียดนาม” ที่มุ่งมั่นจะยกระดับการผลิตเป็นเบอร์หนึ่งอุตสาหกรรมเหล็กของอาเซียน โดยในปี 2560 ผลิตได้ 11.5 ล้านตัน และมีเป้าหมายจะเพิ่มเป็น 32.3 ล้านตันในปี 2563 นี้
ผลจากการที่เวียดนามได้มีการลงทุนอุตสาหกรรมถลุงเหล็กต้นน้ำในประเทศ โดยบริษัทที่มีชื่อว่า ฟอร์โมซา กรุ๊ป จากไต้หวันร่วมกับเจเอฟอีจากญี่ปุ่น และกลุ่มพอสโกจากเกาหลี
ขณะที่ฝั่งจีนได้มีการขยายการส่งออกเหล็กมายังอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปี จาก 6.5 ล้านตัน เป็น 37 ล้านตัน จากปริมาณเหล็กที่จีนผลิตได้ปีละ 850 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 50% ของโลก โดยเป็นการส่งออกมายังเวียดนามเป็นอันดับ 1 รองลงมา คือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทย เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา
ด้วยเหตุนี้หลายประเทศในอาเซียนจึงได้มีการฟ้องร้องและใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าจีน โดยล่าสุดรัฐบาลมาเลเซียเพิ่งพิจารณาเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) เหล็กรีดเย็นชนิดม้วนที่ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า ไม่เจือ ที่มีความกว้าง 1300 มิลลิเมตรจากจีนญี่ปุ่น เกาหลี ใต้และเวียดนาม นับตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2562-24 ธันวาคม 2567 ในอัตราตั้งแต่ 3.84% ไปจนถึง 26.39%
คมนาคม ศึกษาแนวทางการใช้สินค้าเหล็กภายในประเทศ
ล่าสุด นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อศึกษาแนวทางการใช้สินค้าเหล็กภายในประเทศกับโครงการต่างๆ ของกระทรวงคมนาคม โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนกลุ่ม 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย
ประกอบด้วย สมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย สมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า สมาคมการค้าผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี สมาคมโลหะไทย สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น และสมาคม ผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน เข้าร่วมการประชุมฯ ดังกล่าว จำนวนประมาณ 100 คน
โดยกระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ มีการดำเนินโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่หลายโครงการ และมีการใช้สินค้าเหล็กในการก่อสร้างโครงการต่างๆ ด้วย จึงเห็นควรให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่เป็นผู้ใช้ (User) ได้รับทราบรายละเอียดสินค้าเหล็กที่กลุ่มสมาคมฯ สามารถผลิตและจำหน่ายได้ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ออกแบบงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานโครงการต่างๆ
ประกอบกับเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ผลิตและผู้ใช้สินค้าจะได้ร่วมหารือกัน เพื่อทำให้ผู้ผลิตทราบถึงปริมาณความต้องการใช้เหล็กที่แท้จริง ซึ่งนำไปสู่การผลิตสินค้าเหล็กที่สอดคล้องกับชนิดและปริมาณความต้องการของผู้ใช้สินค้า
โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาว่า จะสามารถสนับสนุนการใช้สินค้าเหล็กในประเทศ ตามเงื่อนไขที่กลุ่มสมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทยเสนอได้มากน้อยเพียงใด โดยไม่ขัดต่อกฎระเบียบและกฎหมายอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางในการใช้สินค้าเหล็ก หรือเสนอเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจต่อไป
ทั้งนี้ จากการประชุมหารือการกำหนดนโยบายสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กที่ผลิตในประเทศ (Local Content) สำหรับงานโครงการภาครัฐ เมื่อวันพุธที่ 8 มกราคม 2563 ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม และมีผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย กลุ่มสมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และกระทรวงคมนาคม
โดยที่ประชุมมีมติให้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง พิจารณาศึกษาและกำหนดระเบียบปฏิบัติให้สอดคล้องนโยบายภาครัฐและไม่ขัดต่อกฎระเบียบและกฎหมายอื่นๆ