การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคม ให้เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของจังหวัดภูเก็ตให้มีมาตรฐาน และมีประสิทธิภาพ รองรับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว อำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการจราจรของจังหวัดภูเก็ตอันเป็นผลกระทบจากการขยายตัวดังกล่าว
สำหรับโครงการที่มีความเหมาะสมในยุคปัจจุบันนี้ ก็คือการดำเนินก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนให้เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT/Tram) ที่มีทางวิ่งส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับพื้นดิน โดยบางช่วงของแนวเส้นทางเป็นทางลอด และเป็นโครงสร้างแบบยกระดับ (Viaduct) ที่บริเวณด้านหน้าท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต
ล่าสุด รฟม.ได้จัดงานสัมมนาการทดสอบความสนใจของภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Market Sounding) โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต เพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากตัวแทนเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อนำไปประกอบการศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการต่อไป
นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าฝ่ายกลยุทธ์และแผน การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า โครงการระบบขนส่งมวลขนจังหวัดภูเก็ต เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT/Tram) แบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง มีระยะทาง 41.7 กิโลเมตร และระยะที่ 2 ช่วงท่านุ่น – เมืองใหม่ ระยะทาง 16.8 กิโลเมตร ซึ่ง รฟม. จะเริ่มดำเนินการในระยะที่ 1 ก่อน มีจำนวนสถานีทั้งหมด 21 สถานี แบ่งเป็นสถานีระดับพื้นดิน 19 สถานี สถานียกระดับ 1 สถานี และสถานีใต้ดิน 1 สถานี มีกรอบวงเงินลงทุนโครงการประมาณ 34,827.28 ล้านบาท โดยกำหนดอัตราค่าโดยสารแบบตามระยะทาง สูงสุดประมาณ 100-137 บาทต่อเที่ยว โดยจากการวิเคราะห์โครงการ โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ตจะให้ผลตอบแทนการลงทุนทางเศรษฐศาสตร์ประมาณ ร้อยละ 12.51
ทั้งนี้ รฟม. ได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคมให้ดำเนินการในส่วนของการจัดเตรียมข้อมูลโครงการเพื่อนำเสนอขออนุมัติการดำเนินโครงการจากคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนที่กำหนดในพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ซึ่ง รฟม. จะนำข้อมูลและข้อคิดเห็นจากงานสัมมนาฯ ไปประกอบการพิจารณารูปแบบการร่วมลงทุนโครงการ ขออนุมัติดำเนินโครงการและรูปแบบการลงทุน และจัดเตรียมเอกสารโครงการ เพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในงานด้านต่างๆ เช่น งานโยธา ระบบรถไฟฟ้า การเดินรถ งานบำรุงรักษา และงานให้บริการต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถขออนุมัติดำเนินโครงการจากคณะรัฐมนตรีราวกลางปี 2562 เริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2563 และสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2566
อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวเป็นโครงการ PPP Fast Track และภาครัฐจะอุดหนุนค่าก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 1.78 หมื่นล้านบาท ค่างานที่เกี่ยวข้องกับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1.5 พันล้านบาท แต่ให้เอกชนลงทุนไปก่อน รวมทั้งลงทุนระบบรถไฟฟ้า และจัดหาขบวนรถไฟฟ้า การเดินรถและการซ่อมบำรุงรักษา ส่วนงานก่อสร้างคาดว่าจะใช้ระยะเวลา 3-3.5 ปี และให้ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี ในการให้บริการ โดยในช่วงเวลา 30 ปี (ปี 66-96) ประมาณการรายได้โครงการจากค่าโดยสารรวม 7.45 หมื่นล้านบาท
ปฏิเสธไม่ได้ว่า โครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ ส่งผลให้มีนักลงทุนจากไทยและต่างประเทศให้ความสนใจอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนจากประเทศอิตาลี ฝรั่งเศส จีน และญี่ปุ่น พร้อมกันนี้ ยังมีเอกชนจากประเทศไทยที่แสดงความสนใจร่วมลงทุน ได้แก่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอส) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีอีเอ็ม) นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการในกลุ่มรับเหมารายใหญ่ เช่น บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) บริษัท อิตาเลียนไทย จำกัด (มหาชน) รวมทั้งกลุ่มทุนท้องถิ่น อาทิ บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมืองจำกัด เป็นต้น
…นายสะพานโค้ง