ข้อเท็จจริงกรณี BTSC ให้ข้อมูลข้อเสนอทางด้านการลงทุนและผลตอบแทน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
ตามที่ปรากฏข่าวเผยแพร่ทางสื่อมวลชน โดยสรุปว่า บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) ได้ให้ข้อมูลว่า บริษัทมีข้อเสนอทางด้านการลงทุนและผลตอบแทน ที่ใช้ในการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2563 โดยขอรับเงินสนับสนุนค่างานโยธารวม 79,820.40 ล้านบาท และจ่ายเงินตอบแทนให้แก่ รฟม. รวม 70,144.98 ล้านบาท รวมยอดเงินขอสนับสนุนจากภาครัฐ รวม 9,676 ล้านบาท นั้น
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขอเรียนว่า แม้ว่าข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนของ BTSC ตามที่เป็นข่าวนั้น จะมีมูลค่าการให้ผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ค่อนข้างสูง แต่ในขั้นตอนการคัดเลือกเอกชน จะต้องมีการประเมินซองข้อเสนออื่นๆ ของผู้ยื่นข้อเสนอ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการประเมินซองข้อเสนอด้านคุณสมบัติ และซองข้อเสนอด้านเทคนิค เพื่อให้ รฟม. มั่นใจได้ว่าผู้ยื่นข้อเสนอจะสามารถดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่จะเกิดต่อประเทศชาติและประชาชนได้จริง ซึ่งมิใช่การพิจารณาเพียงตัวเลขสรุปผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐเท่านั้น ดังนั้น แม้บริษัทฯ จะนำข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนในการยื่นข้อเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เมื่อปี 2563 มาแสดง แต่ข้อมูลดังกล่าวไม่สามารถนำตัวเลขมาเปรียบเทียบผลการยื่นข้อเสนอในการคัดเลือกเอกชนปัจจุบันได้ เนื่องจากไม่ทราบว่าข้อเสนอด้านคุณสมบัติ และข้อเสนอด้านเทคนิคของบริษัทฯ จะผ่านเกณฑ์การพิจารณาหรือไม่ รวมทั้งข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนมีความเป็นไปได้ ถูกต้อง และน่าเชื่อถือเพียงใด จึงไม่อาจชี้ชัดได้ว่าข้อเสนอของ BTSC จะเป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐจริงตามที่ได้ปรากฏเป็นข่าวที่ได้เผยแพร่ทางสื่อมวลชน ทั้งนี้ รฟม. มีข้อสังเกตว่า ตัวเลขดังกล่าวของ BTSC มีความแตกต่างจากผลการศึกษาที่ รฟม. นำเสนอขออนุมัติโครงการต่อคณะรัฐมนตรีไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งผลการศึกษาก็ได้ใช้สมมติฐานทางการเงินตาม MRT Assessment Standardization ที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นสมมติฐานที่น่าเชื่อถือ และใช้ในทุกโครงการของ รฟม. รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ และ สายสีเหลืองฯ ที่เอกชนรายดังกล่าวก็ได้ยื่นข้อเสนอโดยเสนอขอรับการสนับสนุนสุทธิเป็นไปตามผลการศึกษา จนกระทั่งได้รับคัดเลือกเป็นผู้รับสัมปทานด้วย
นอกจากนี้ รฟม. ขอเรียนเพิ่มเติมว่าการคัดเลือกเอกชนในปัจจุบันตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 มีลักษณะเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วมในการคัดเลือกมากขึ้น มิได้มีลักษณะกีดกันเอกชนรายใด ตามที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการ ศาลปกครองกลางได้มีคำวินิจฉัยและมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ยกคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามที่ BTSC ร้องขอให้กำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวห้ามการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ ซึ่งการที่เอกชนบางรายไม่เข้าร่วมยื่นข้อเสนอการคัดเลือกนั้น น่าจะแสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมในการเข้าร่วมดำเนินการโครงการฯ
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)