กรมการขนส่งทางบก กับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในด้านวิชาการและข้อมูล เพื่อพัฒนาระบบการขนส่งทางถนนของประเทศ และสนับสนุนวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจการเงินจากฐานข้อมูลในเชิง Big data จากสถิติ GPS “รถบัส-รถบรรทุก”
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และ นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในด้านวิชาการและข้อมูล เพื่อยกระดับความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ทางด้านวิชาการ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบการขนส่งทางถนนของประเทศ อีกทั้งเพื่อประโยชน์ในการติดตามและวิเคราะห์ทิศทางของเศรษฐกิจ รวมถึงการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจการเงิน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานตามภารกิจของทั้งสององค์กรและต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบกได้กำหนดให้รถโดยสารและรถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป ต้องติดตั้งเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถ (GPS) และส่งข้อมูลการใช้รถมายังศูนย์บริหารจัดการเดินรถระบบ GPS ได้แบบเรียลไทม์ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2559 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันติดตั้งครบถ้วนแล้ว จำนวน 440,611 คัน ระบบสามารถแสดงข้อมูลการติดตามด้วยความแม่นยำสูง ประกอบด้วย การใช้ความเร็ว เส้นทางที่ใช้ ระยะทาง ตำแหน่งพิกัดของรถ ชั่วโมงการขับรถและเวลาหยุดพัก เป็นต้น เพื่อประโยชน์ในการควบคุมกำกับดูแลผู้ขับรถให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างปลอดภัย เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนในทุกมิติ
สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในด้านวิชาการและข้อมูล ที่กรมการขนส่งทางบกและธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดทำขึ้นนั้นเป็นการต่อยอดใช้ประโยชน์จากการเชื่อมต่อระบบ GPS Tracking โดยกรมการขนส่งทางบก จะให้การสนับสนุนข้อมูลหรือรายงานการวิเคราะห์สถิติเกี่ยวกับการดำเนินการด้านทะเบียนรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์และกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ข้อมูลหรือรายงานผลการดำเนินการของศูนย์บริหารจัดการเดินรถด้วยระบบ GPS ข้อมูลหรือรายงานการดำเนินการสถานีขนส่งสินค้าและการขนส่งผู้โดยสาร เพื่อประโยชน์ในการศึกษา วิเคราะห์ และติดตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ตามภารกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล และปกป้องความเป็นส่วนตัวของเจ้าของข้อมูล
ด้าน นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการขนส่งทางบก และธนาคารแห่งประเทศไทย เห็นถึงประโยชน์ของความร่วมมือระหว่างองค์กรในครั้งนี้ เพราะจะช่วยให้มีฐานข้อมูลที่ใช้วิเคราะห์ ติดตามภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มที่ละเอียดและหลากหลายยิ่งขึ้น สามารถจัดทำสถิติเครื่องชี้วัดด้านเศรษฐกิจที่หลากหลาย โดยเฉพาะเครื่องชี้วัดด้านการขนส่งที่สามารถสะท้อนภาวะของภาคบริการ และมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ อย่างเช่น ภาคการเกษตร และภาคการผลิต และที่สำคัญ ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ ยังมีความร่วมมือทางด้านวิชาการระหว่างองค์กร ซึ่งจะช่วยพัฒนาองค์ความรู้ในเชิงวิชาการและเทคนิคต่าง ๆ ให้แก่บุคลากรทั้งสองฝ่ายได้มากยิ่งขึ้น นำไปสู่การใช้ประโยชน์ของข้อมูลได้อย่างเต็มศักยภาพ สร้างประโยชน์ต่อส่วนรวมได้ดียิ่งขึ้น