กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ดำเนินการแก้ไขปัญหาถนนที่กรมทางหลวงชนบทถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามแนวทางและหลักเกณฑ์การแก้ไขปัญหาการถ่ายโอนภารกิจทางหลวงแผ่นดิน/ทางหลวงชนบทที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับการถ่ายโอนจากกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม อันนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนผู้ใช้เส้นทางสืบไป ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ)
นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า จากที่คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ได้มีมติเห็นชอบแนวทางและหลักเกณฑ์การแก้ไขปัญหาการถ่ายโอนภารกิจทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบทที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับการถ่ายโอนจากกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยมีหลักเกณฑ์การถ่ายโอน แบ่งออกเป็น 3 กรณี ดังนี้
1.กรณีการถ่ายโอนภารกิจทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบท ที่ไม่เป็นไปตามขอบเขตการถ่ายโอน ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติ ตามแผนปฏิบัติการฯ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2545 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551 กำหนดไว้ให้ อปท. หรือส่วนราชการที่ถ่ายโอนภารกิจ นำเรื่องเสนอคณะอนุกรรมการอำนวยการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัดพิจารณาดำเนินการโอนภารกิจและส่งมอบทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องให้แก่ส่วนราชการที่ถ่ายโอนภารกิจนั้น เพื่อให้ส่วนราชการนั้นพิจารณาถ่ายโอนภารกิจให้แก่ อปท. ที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องและเป็นไปตามขอบเขตการถ่ายโอน ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติ ตามแผนปฏิบัติการฯ กำหนดไว้
2.กรณีการถ่ายโอนภารกิจทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบท โดยถูกต้องและเป็นไปตามขอบเขตการถ่ายโอน ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติ ตามแผนปฏิบัติการฯ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2545 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551 กำหนดไว้ หากแต่ด้วยระยะเวลาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นเหตุให้ภารกิจดังกล่าวไม่อยู่ในขอบเขตการถ่ายโอนภารกิจ เช่น ในขณะถ่ายโอนภารกิจถนนมีสภาพเป็นถนนสายรอง ต่อมาสภาพถนนเปลี่ยนแปลงไปเป็นถนนสายหลักและ/หรือเป็นถนนสายทางเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดที่สำคัญ ดังนี้ ให้ อปท. หรือส่วนราชการที่ถ่ายโอนภารกิจ นำเรื่องเสนอคณะอนุกรรมการอำนวยการฯ ระดับจังหวัดพิจารณาดำเนินการโอนภารกิจและส่งมอบทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องให้แก่ส่วนราชการที่ถ่ายโอนภารกิจนั้น เพื่อให้ส่วนราชการนั้น พิจารณาดำเนินการภารกิจดังกล่าว
3.กรณีการถ่ายโอนภารกิจทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบท โดยถูกต้องและเป็นไปตามขอบเขตการถ่ายโอน ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติ ตามแผนปฏิบัติการฯ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2545 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551 กำหนดไว้ หากแต่เกินขีดความสามารถของ อปท. นั้น และ อปท. ไม่สามารถดำเนินภารกิจได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ดังนี้ ให้ อปท. นั้น ร้องขอความช่วยเหลือจาก อปท. อื่น หรือส่วนราชการที่ถ่ายโอนภารกิจดำเนินการแทนไปพลางก่อน โดยยังถือเป็นทรัพย์สิน กรรมสิทธิ์ หรือหน้าที่ความรับผิดชอบของ อปท. นั้นอยู่ และห้ามส่วนราชการและ อปท. รับถ่ายโอนภารกิจคืนไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ และกรณีเกินขีดความสามารถของ อปท. อื่น และส่วนราชการที่ถ่ายโอนภารกิจ ให้ร้องขอต่อ ก.ก.ถ. เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาต่อไป
ทั้งนี้ ในส่วนของ ทช.ได้กำชับให้สำนักงานทางหลวงชนบทที่ 1-18 และแขวงทางหลวงชนบททั่วประเทศ ดำเนินการประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และคณะอนุกรรมการอำนวยการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในการถ่ายโอน-รับโอนภารกิจและทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องด้านงานทางให้กรมทางหลวงชนบทเป็นผู้ดำเนินการภารกิจดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันคณะอนุกรรมการอำนวยการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัด มีมติเห็นชอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถ่ายโอนภารกิจและส่งมอบทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องให้แก่ ทช. แล้ว จำนวน 22 สายทาง ระยะทางรวม 277.81 กิโลเมตร ประกอบด้วย 5 จังหวัด (ข้อมูล ณ วันที่ 17 กันยายน 2563) ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 4 สายทาง ระยะทาง 39.519 กิโลเมตร, จังหวัดพะเยา จำนวน 5 สายทาง ระยะทาง 30.665 กิโลเมตร, จังหวัดราชบุรี จำนวน 2 สายทาง ระยะทาง 38.382 กิโลเมตร, จังหวัดพังงา จำนวน 4 สายทาง ระยะทาง 23.923 กิโลเมตร และ จังหวัดชัยภูมิ จำนวน 7 สายทาง ระยะทาง 145.321 กิโลเมตร
สำหรับแผนการดำเนินงานในอนาคต ทช.จะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาถนนที่กรมทางหลวงชนบทถ่ายโอนให้ อปท.ให้แล้วเสร็จทั้งหมด พร้อมทั้งเร่งดำเนินการจัดทำแผนเพื่อพัฒนาบำรุงรักษา ถนนในส่วนที่กรมทางหลวงชนบทรับโอนภารกิจและส่งมอบทรัพย์สินแล้ว ให้อยู่ในสภาพที่ดี เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไป