เกิดโศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญและอารมณ์ตั้งแต่เช้าสำหรับอุบัติเหตุรถไฟขนส่งตู้สินค้าพุ่งชนรถบัสแสวงบุญทอดกฐินจนมีผู้เสียชีวิตเกลื่อนมากถึง 18 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีกอื้อ
ช่วงเช้าวันนี้ 10 ต.ค.63 ช่วงเวลาประมาณ 08.05 น.เกิดเหตุรถไฟขนตู้คอนเทนเนอร์ชนรถบัสเข้าอย่างจังสภาพรถบัสแหลกทั้งคัน ทำให้มีผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก และที่น่าสลดและสะเทือนอารมณ์มีผู้เสียชีวิตในที่เหตุเกิดเหตุเบื้องต้นตามรายงานข่าวมีมากถึง 18 ราย ร่างผู้เสียชีวิตมีทั้งติดในซากรถบัส บางรายกระเด็นออกจากตัวรถบัสตกอยู่ตามรางรถไฟในสภาพศพบางรายมีอวัยวะร่างกายขาดวิ่นน่าสยดสยอง และบางรายที่ติดไปกับหัวรถจักร โดยจุดเหตุเกิดที่สถานีรถไฟคลองแขวงกลั่น ต.บางเตย จ.ฉะเชิงเทรา
สาเหตุการเกิดโศกนาฏกรรมหมู่ในครั้งนี้ เบื้องต้นทราบว่ารถบัสคันดังกล่าวกำลังพาผู้โดยสารกว่า 60 ชีวิตออกจากสำโรง จ.สมุทรปราการ เพื่อไปทอดกฐิน ณ วัดบางปลานัก จ.ฉะเชิงเทรา เหลืออีกไม่ถึง 3 กม.ก็จะถึงวัดอยู่รอมมะร่อ พอมาถึงจุดเกิดเหตุซึ่งเป็นจุดตัดข้ามทางรถไฟที่ไม่มีไม้กั้นมีเพียงสัญญาณไฟเท่านั้น คาดว่าคนขับอาจไม่ชินเส้นทางและไม่ทันระมัดระวังจึงได้ขับรถตัดหน้ารถไฟขนส่งตู้สินค้าซึ่งกำลังวิ่งเข้าสถานีพอดี จึงนำมาซึ่งเกิดเหตุสลดดังกล่าว
เป็นที่สังเกตว่าสำหรับจุดเกิดเหตุดังกล่าวซึ่งเป็น“จุดตัดทางรถไฟ”ไม่มีไม้กั้นแต่อย่างใดมีเพียงสัญญาณไฟเตือนเท่านั้น ที่หนักกว่านั้นจุดดังกล่าวสัญญาณไฟกระพริบดันมา“ขัดข้อง”ซะงั้น ถือเป็นจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุซ้ำซากเลยก็ว่าได้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งแล้วที่เกิดอุบัติเหตุก็มาจากจุดตัดรถไฟเจ้ากรรมนายเวรนี้
แม้“จุดลักผ่าน”บางจุดรวมจุดดังกล่าวนี้ที่การรถไฟฯอ้างเป็นจุดที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนของการรถไฟฯว่าต้องเป็นจุดต้องมีไม้กั้น และเป็นจุดตัดปัญหาที่ถกเถียงกันมานานและยังไร้ข้อสรุปว่าต้องเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของใครที่จะต้องติดตั้งไม้กั้นกันแน่ระหว่างการรถไฟฯหรือเอกชน หรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น
ถามว่าแล้วทำไมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเกี่ยงความรับผิดขอบ?และทำไมไม่มีการพูดคุยและร่วมกันหากทางออกในการแก้ไขปัญหาให้สะเด็ดน้ำ?ปล่อยให้เป็นปมปัญหาที่กลายเป็นจุดเสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำซากนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินในแต่ละปีได้อย่างไร?
แต่อีกปัจจัยหรือสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ที่ต้องพูดถึงก็คือผู้ใช้รถใช้ถนนอย่าประมาทและต้องพึงระวังให้มากๆเมื่อต้องผ่านจุดตัดรถไฟที่ไม่มีไม้กั้นมีเพียงสัญญาณไฟเตือน โดยหลักปฏิบัติแล้วผู้ขับขี่ต้องลดความเร็วรถและหยุดรถให้ห่างจากทางรถไฟไม่น้อยกว่า 5 เมตรเมื่อเห็นว่ารถไฟผ่านไปแล้ว และมีเครื่องหมายหรือสัญญาณให้รถผ่านได้ผู้ขับขี่จึงจะขับรถผ่านไปได้
จากคลิปอุบัติเหตุครั้งนี้ เห็นได้ว่าคนขับรถบัสมรณะดังกล่าวอาจไม่คุ้นชินเส้นทางและไม่ทันระวังไม่ชะลอความเร็วลงและหยุดรถเพื่อให้มั่นใจซะก่อนว่าปลอดภัยแล้วกลับดันทุรันขับผ่านจุดตัดแล้วก็ถูกรถไฟที่พุ่งชนอัดเข้าอย่างจังจนนำมาซึ่่งความสูญเสียครั้งใหญ่อีกครั้งกับอุบัติเหตุครั้งนี้
ขณะที่ผู้ประกอบการขนส่งเจ้ารถของรถบัสก็ควรคัดกรองคนขับที่ไว้ใจได้ เพราะคนขับ 1 คนต้องแบกความรับผิดชอบกับอีก 60 ชีวิตบนรถไปถึงจุดหมายและกลับมาที่ต้นทางอย่างปลอดภัย และที่สำคัญต้องนำรถเข้าตรวจสภาพรถตามข้อกำหนดของกรมการขนส่งทางบกอย่างเคร่งครัด
จริงอยู่แม้จะไปโทษและโยนความผิดให้กับองค์กรม้าเหล็กไทยอยู่ฝ่ายเดียวก็ดูจะไม่เป็นธรรมเท่าไหร่นัก แต่หากพินิจถึงปัญหาความพร้อมด้านกายภาพ การรถไฟฯก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ซึ่งความรับผิดชอบในการแก้ปัญหา“จุดบอด”นี้ให้ครบทุกจุดทั่วประเทศ จริงอยู่“ไม้กั้น”แม้ไม่ใช่“ไม้กายสิทธิ์”ปิดทางการเกิดอุบัติเหตุได้ทุกกรณี แต่ก็เป็นด่านแรก“กั้นรถ-ดึงสติ”คนขับไม่ให้ผ่านไปได้โดยสะดวก
กับปมปัญหานี้ผ่านผู้ว่าฯไปกี่คนแล้ว?สูญงบประมาณในการแก้ปัญาหาไปเท่าไหร่แล้ว?ก็ยังไม่สามารถแก้ปมปัญหานี้ได้เบ็ดเสร็จครอบคลุมทุกจุดซะที ก็ไม่รู้จะรอให้เกิดอุบัติเหตุสุดสลดคร่าชีวิตประชาชนอีกกี่สิบศพ?องค์กรม้าเหล็กไทยถึงจะแก้ปัญหานี้ได้!
อย่างไรก็ดี ก็ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตกับโศกนาฎกรรมหมู่ครั้งนี้ด้วยครับ!และวิงวอนทุกภาคส่วนนำมาเป็น“บทเรียนราคาแพง”เร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดเหตุสะเทือนขวัญ…ซ้ำซากอีกต่อไป!
ไม่ใช่ได้แค่เกิดอุบัติเหตุทีผู้ว่ารถไฟฯก็“ล้อมคอก”ทีด้วยการติดตั้งไม้กั้นในจุดเกิดเหตุดังกล่าว พร้อมเร่งเตรียมดำเนินการศึกษาเพื่อลดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟพอเป็นข่าวตามหน้าสื่อแล้วก็เงียบหายไปกับสายลมและแสงแดด
…ถ้าเป็นเยี่ยงนี้อาตมาขอบิณฑบาตเถอะโยม!
:วิหคไพร