สนพ. ชี้การผลิตน้ำมันในตลาดโลกยังเกินความต้องการ แม้กลุ่ม OPEC และพันธมิตรจะสามารถบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นในการทยอยปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันก็ตาม เผยแม้ราคาน้ำมันดิบที่ดูไบและเท็กซัสปรับขึ้น 1.40 และ 1.48 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ปัจจัยเสี่ยงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังทำให้มีปัญหาอุปทานน้ำมันล้นตลาด และราคาต่ำสุดในรอบ 20 ปี
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดเผยว่า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกในช่วงวันที่ 6-12 เมษายน 2563 ที่ผ่านมาพบว่า ราคาน้ำมันตลาดโลกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากกลุ่ม OPEC และพันธมิตรบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นการลดกำลังการผลิต แต่ตลาดยังไม่หลุดพ้นปัญหาอุปทานน้ำมันล้นตลาด โดยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ดูไบและเวสต์เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 24.16 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 24.39 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.40 เหรียญสหรัฐ และ 1.48 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ
National Oil Corp. หรือ NOC ของลิเบียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2563 อยู่ที่ 90,000 บาร์เรล/วัน ลดลงหลังนายพล Khalifa Haftar ผู้นำกลุ่ม LNA ปิดล้อมท่าส่งออกและแหล่งผลิต ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2563 (เดือน ธ.ค. 62 ผลิตที่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน)
EIA ปรับลดประมาณการปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปี 63 มาอยู่ที่ 11.76 ล้านบาร์เรล/วัน ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 12.99 ล้านบาร์เรล/วัน
มร. Fatih Birol ผอ. IEA คาดการณ์กลุ่มประเทศผู้นำเข้าน้ำมันจะช่วยพยุงอุปสงค์น้ำมันโลก โดยการซื้อน้ำมันดิบเพื่อเก็บเป็นน้ำมันสำรองเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อบรรเทาปัญหาอุปทานล้นตลาดจาก COVID-19 ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมัน
Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมัน (Oil Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด เมื่อวันที่ 9 เดือนเมษายน 2563 ลดลง 58 แท่น มาอยู่ที่ 504 แท่น ต่ำสุดตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 จากผู้ผลิตหลายรายตัดงบประมาณสำหรับการขุดเจาะใหม่ในปีนี้จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลง
สำหรับราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปตลาดภูมิภาคเอเชีย ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และ 92 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 21.77 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 21.28 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.90 เหรียญสหรัฐ ต่อบาร์เรล และ 1.14 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ
จากปริมาณเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตามตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากการปริมาณเบนซินที่ยังอยู่ในระดับสูง
Insights Global รายงานปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ที่ Amsterdam-Rotterdam-Antwerp (ARA) ในยุโรป สัปดาห์สิ้นสุดเมื่อวันที่ 9 เดือนเมษายน 2563 ลดลง 1.27 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 8.81 ล้านบาร์เรล
IES รายงานปริมาณส่งออกของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด เมื่อวันที่ 1 เดือนเมษายน 2563 ลดลง โดยอยู่ที่ระดับ 2.23 ล้านบาร์เรล (-53% WoW)
EIA รายงานปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด เมื่อวันที่ 27 เดือนมีนาคม 2563 เพิ่มขึ้น 7.5 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 246.8 ล้านบาร์เรล
ส่วนราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 36.67 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.39 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มีการส่งออกดีเซลไปยังภูมิภาคยุโรปได้ อย่างไรก็ตามความต้องการใช้ในเอเชียยังคงซบเซา
IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดเมื่อวันที่ 8 เดือนเมษายน 2563 ลดลง 0.51 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 12.42 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์
PAJ รายงานปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด เมื่อวันที่ 4 เดือนเมษายน 2563 ลดลง 1.40 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 7.41 ล้านบาร์เรล
ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.03 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 32.9722 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ต้นทุนน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 0.18 บาท/ลิตร ในขณะที่ต้นทุนน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.07 บาท/ลิตร ทำให้ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล และน้ำมันดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.09 บาท/ลิตร และค่าการกลั่น เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 0.58 บาท/ลิตร
ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อวันที่ 12 เดือนเมษายน 2563 กองทุนน้ำมันมีสินทรัพย์รวม 56,540 ล้านบาท หนี้สินกองทุน 20,391ล้านบาท โดยฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิ 36,149 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีน้ำมัน 41,837 ล้านบาท และบัญชี LPG -5,688 ล้านบาท
แนวโน้มราคาน้ำมันปรับตัวลดลง แม้ว่ากลุ่ม OPEC และพันธมิตร จะสามารถบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นในการทยอยปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน โดยจะปรับลดการผลิตลง 10 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2563 จากนั้นจะปรับลดลง 8 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือนกรกฏาคม-ธันวาคม 2563 และปรับลดลง 6 ล้านบาร์เรล/วัน ในช่วงเดือน มกราคม 2564 ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2565 โดยซาอุฯ และรัสเซียจะลดกำลังการผลิตประเทศละ 2.5 ล้านบาร์เรล/วัน
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ต่างคาดว่าการลดปริมาณการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC + และผู้ผลิตรายอื่น จะยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ตลาดหลุดพ้นจากปัญหาอุปทานน้ำมันล้นตลาด จากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ล่าสุดบริษัท Trafigura คาดว่าในเดือนเมษายน 2563 อุปสงค์น้ำมันจะลดลงจากผลกระทบของไวรัส COVID-19 ประมาณ 35 ล้านบาร์เรล/วัน หรืออาจจะต่ำสุดในรอบ 20 ปี นอกจากนี้ ผลของราคาน้ำมันที่ตกต่ำอาจทำให้อุตสาหกรรมพลังงานในสหรัฐฯ ต้องประสบปัญหาอีกครั้ง