กรมการขนส่งทางบก เผย!! ครม. ไฟเขียวร่างพระราชกฤษฎีกา ปรับลดภาษีรถประจำปี 90% สำหรับกลุ่มรถยนต์รับจ้าง “แท็กซี่–สามล้อ–วิน” หลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพให้บริการรถสาธารณะจากโควิด-19
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า วันที่ 16 สิงหาคม 2565 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา ลดภาษีประจำปีสำหรับรถยนต์รับจ้าง(แท็กซี่) รถยนต์รับจ้างสามล้อ และรถจักรยานยนต์สาธารณะที่ครบกำหนดเสียภาษีประจำปี หลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ โดยให้ลดภาษีลงร้อยละ 90 จากอัตราที่กำหนดท้ายพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 เพื่อช่วยเหลือเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบอาชีพขับรถสาธารณะ อันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติพุ่งสูงขึ้น
ทั้งนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโนบายและกำชับให้กระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางบก ออกมาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบอาชีพให้บริการรถสาธารณะ ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2563 ซึ่งกระทบต่อการใช้บริการรถสาธารณะ ประกอบกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติพุ่งสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการประกอบการของรถสาธารณะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วยทั้งรถรถยนต์รับจ้าง(แท็กซี่) รถยนต์รับจ้างสามล้อ และรถจักรยานยนต์สาธารณะ จนกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบอาชีพดังกล่าว ทำให้รายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ
ดังนั้นกระทรวงคมนาคม และกรมการขนส่งทางบก จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาลดภาษีประจำปีสำหรับรถรถยนต์รับจ้าง(แท็กซี่) รถยนต์รับจ้างสามล้อ และรถจักรยานยนต์สาธารณะ ที่ครบกำหนดเสียภาษีประจำปี หลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ โดยปรับลดภาษีลงร้อยละ 90 จากอัตราที่กำหนดท้ายพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 โดยอัตราภาษีประจำปีหลังปรับลดภาษีลงร้อยละ 90 ได้แก่
1.รถยนต์รับจ้าง(แท็กซี่) น้ำหนักรถ 1,300 กก. เดิมจัดเก็บภาษี 685 บาท ลดเหลือ 68.50 บาท/คัน
2.รถยนต์รับจ้าง (แท็กซี่) น้ำหนักรถ 2,100 กก. เดิมจัดเก็บภาษี 1,250 บาท/คัน ลดเหลือ 125 บาท
3.รถยนต์สามล้อรับจ้าง เดิมจัดเก็บภาษี 185 บาท/คัน ลดเหลือ 18.5 บาท/คัน
4.รถจักรยานยนต์รับจ้าง เดิมจัดเก็บภาษี 100 บาท/คัน ลดเหลือ 10 บาท/คัน
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมารัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคม ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะ เช่น มอบเงินช่วยเหลือกลุ่มอาชีพผู้ขับรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์สาธารณะ ที่มีอายุเกิน 65 ปี ที่ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และประกอบอาชีพขับรถอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (29 จังหวัด) การขยายอายุรถแท็กซี่จาก 9 ปี เป็น 12 ปี การอนุญาตให้ใช้เทคโนโลยีทางเลือกอื่นแทนเครื่องบันทึกการเดินทาง(GPS) ในรถแท็กซี่ พร้อมทั้งมีมาตรการเพิ่มรายได้ โดยให้ติดตั้งสื่อโฆษณาบนรถแท็กซี่ และกำหนดให้เรียกเก็บค่าสัมภาระได้ กรณีการให้บริการจากท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นต้น