รวดเร็วปานสายฟ้าฟาดพลางชื่นมื่นใน 3 โลกไปแล้วสำหรับการเซ็นสัญญาซื้อหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าครั้งประวัติศาสตร์ นน.กดเพลา 16 ตัน/เพลา พร้อมอะไหล่จำนวน 50 คันมูลค่ากว่า 6.5 พันล้าน ระหว่างองค์กรม้าเหล็กไทยอีกหนึ่งรัฐวิสาหกิจที่แบกหนี้จนไหล่ทรุดอย่าง “รฟท.” และผู้ชนะการประมูลอย่าง “กิจการร่วมค้าเอสเอฟอาร์” ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างบจก.ซานโฟโก อินเตอร์เนชั่นแนลและบจก.ริเวอร์เอ็นจิเนียริ่ง
โดยรถจักรและอะไหล่ทั้งหมดคือใหม่เอี่ยมอ่องอรทัยไฉไลในสมรรถนะสูงลิ่งที่ผลิตโดย CRRC QISHUYAN CO., LTD. ผู้ผลิตรถจักรชั้นนำจากแดนมังกร เพื่อนำมาทดแทนรถจักรเก่าที่ใช้งานมานานบางคันดีกรีความเก่าทะลุ 44-45 ปี ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร และช่วยสร้างโอกาสการหารายได้ในอนาคตให้กับ รฟท.
แม้การลงนามในสัญญาครั้งประวัติศาสตร์ชนิดเร็ว แรง และหนักหน่วงนี้จะถูกใจใครต่อใครแล้วล่ะก็ ทว่า พลันที่ข่าวนี้ถูกโยนเข้าไปในโลกข่าวสารยุคสื่อโซเชียลยึดครองมนุษย์ก็มิวายมีข้อกังขาพ่วงมาเป็นขบวนโบกี้ขยี้ดราม่าพาสังคมโซเชียลเกาะริมรั้วการรถไฟฯวิจารณ์สนั่นว่าเป็นการมุบมิบเซ็นสัญญาหรือไม่?หรืออะไรในก่อไผ่หรือไม่ อย่างไร?
ทั้งปมที่ทีมพี(ระ)อาร์ไม่ได้เชิญสื่อร่วมทำข่าวทั้งที่เป็นโครงการนี้มีความสำคัญมูลค่าโครงการระดับ 6.5 พันล้าน และเป็นจรดหมึกในสัญญาซื้อหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าครั้งประวัติศาสตร์ที่หาวรอมานานกว่า 4 ทศวรรษ แถมฤกษ์งามยามดีที่จรดหมึกเซ็นสัญญาตั้งแต่ 08.30 น.แต่ทำไม๊? ทำไม?และรออะไรอยู่?กว่าจะจัดส่งข่าวประชาสัมพันธ์พร้อมภาพข่าวแจกจ่ายให้กับสื่อทุกแขนงก็เลยเวลาเคารพธงชาติ 18.17 น.น่ะสิท่านเจ้าคุณ
พอสื่อซักถามไปทีมพี(ระ)อาร์การรถไฟฯก็พาไร้สัญญาณตอบรับจากหมายเรียกที่ท่านเรียก ชวนให้สงสัยว่าพากันไปเข้านั่งวิปัสสนากรรมฐานที่วัดไหนซักแห่งหรือไม่?ถึงได้ “เงียบกริบ”ได้ถึงเพียงนี้!
ตามมาติดๆกับประเด็นราคาที่ผู้ชนะประมูลได้ในครั้งนี้ 6,525 ล้านบาท ทำไมราคานี้ไม่ตรงต้องตามราคาที่เคยเสนอข่าวเมื่อครั้งรักษาการผู้ว่าฯ “วรวุฒิ มาลา” ระบุไว้ว่าผู้ชนะการประมูลเสนอราคาต่ำสุดที่ 5,019 ล้านบาท แล้ววันดีคืนดีโผล่มาอีกทีทะลุเพดานที่ 6,525 ล้านบาทได้ไง?แล้วส่วนต่างราคานี้พระเดชพระคุณท่านได้แต่ไหนมา?
และที่ร้อนระอุเผารางรถไฟก็คือประเด็นความเร็วของรถจักรใหม่เอี่ยมอ่องที่มาระบุไว้ในไส้ในข่าวประชาสัมพันธ์ที่แจกจ่ายให้กับสื่อมวลชน ที่ผู้ว่าฯอวดถึงสมรรถนะในการลากจูงขนส่งผู้โดยสารได้ 80 กม./ชม. และการขนส่งสินค้าที่ความเร็ว 55 กม./ชม. เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และเพื่อรองรับโครงการรถไฟทางคู่ที่จะทยอยเปิดใช้งานในอนาคตอะไรพันธุ์นั้นน่ะ
จนเกิด “มิติพิศวงงงงวย”ว่าเป็นข้อมูลจริงหรือมั่วตุ้ม?ที่บอกว่ารถจักรใหม่มีสมรรถนะในการลากจูงรถโดยสารได้ที่ 80 กม./ชม.ทั้งที่ในความเป็นจริงในเอกสาร TOR ของการรถไฟฯเองระบุชัดถึงคุณสมบัติไว้สูงถึง 120 กม./ชม. และในปัจจุบันหัวรถจักรรุ่นเก่ายังสามารถลากจูงขบวนรถโดยสารได้ถึง 90 กม./ชม.กันอยู่แล้ว
ทำไม?และทำไมล่ะ?พิกัดในสมรรถนะลากจูงรถโดยสารถึงได้ดูย้อนแย้งกันอย่างสิ้นเชิง?
ก็เป็นซะยังงี้ไงล่ะที่สังคมพากันตั้งข้อสงสัยในมิติพิลึกกึกกือในการลงนามสัญญาว่ามีอะไรแอบแฝงเป็นนิยายน้ำเน่ารักซ้อนซ่อนเงื่อนหรือไม่?และนอกเหนือจะเป็นการเซ็นสัญญาซื้อหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าครั้งประวัติศาสตร์ที่องค์กรม้าเหล็กไทยพรูพรั่งเอาไว้และพ่วงความมั่นใจในสมรรถนะ-การใช้งานไว้ซะล้นขบวนแล้วล่ะก็
อาจจะเป็นการเซ็นสัญญาที่ “มุบมิบ-กรุบกริบ-เงียบกริบ”….ที่สุดในโลก และถูกจารึกไว้ที่หมอนรถไฟแล้วทิ้งไว้เป็นซากประจานวงจรอุบาทว์ชั่วลูกชั่วหลาน ก็…อาจ…เป็น…ไป…ได้
…ว่าซั่นดอกหว่าพี่น้องชาวไทย!
:ขันธ์ธีร์