“เกียรติธนาขนส่ง”ทุ่ม 100 ล้าน ผนึกการรถไฟฯเจาะธุรกิจใหม่ขนส่งทางราง กางแผนกลยุทธ์ใหม่หวังชิงเม็ดเงินตลาดขนส่งรถบรรทุก พร้อมดึง “วีนีไทย” ประเดิมเส้นทางโคราช-มาบตาพุด
ลุยธุรกิจเชิงรุกเปิดความร่วมมือกับการรถไฟฯ เข้าใช้ประโยชน์เต็มพื้นที่สถานีบ้านกระโดน ดันแผนยุทธศาสตร์ขนส่งสินค้าทางราง โครงการรถไฟรางคู่ ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น เชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมขนส่งภาคอีสานและเส้นทางระหว่างประเทศ นำร่อง “วีนิไทย” สู่ระบบรางขนส่งวัตถุดิบเข้านิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดโดยตรง คาดการณ์รายได้รวมโตทะลุเป้า 15% เร่งขยายเส้นทางใหม่ลูกค้าแห่ติดต่อใช้บริการ
คุณมินตรา มนต์เสรีนุสรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เกียรติธนาขนส่ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทเร่งเดินหน้าธุรกิจเชิงรุก หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มผ่อนคลาย โดยล่าสุด บริษัทประกาศความพร้อมเปิดความร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เข้าใช้ประโยชน์พื้นที่สถานีรถไฟบ้านกระโดน ต.หนองไข่น้ำ อ.เมือง จ.นครราชสีมา สำหรับเป็นลานคอนเทนเนอร์และจุดขนถ่ายรองรับการขนส่งสินค้าทางรางในอนาคต
ที่สำคัญ สถานีรถไฟบ้านกระโดนถือเป็นจุดยุทธศาสตร์การขนส่งรองรับโครงการรถไฟรางคู่ ช่วงชุมทางถนน จิระ-ขอนแก่น เชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งผู้โดยสารและสินค้าในพื้นที่ชนบทกับเมืองและเส้นทางระหว่างประเทศ
ความร่วมมือดังกล่าว บริษัทใช้เม็ดเงินลงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท และนำร่องดึง บริษัท วินีไทย จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นคู่ค้ากับบริษัทมายาวนานกว่า 20 ปี เปลี่ยนโหมดการขนส่งจากรถบรรทุกมาเป็นราง เส้นทางบ้านกระโดน/โคราช – มาบตาพุด/ระยอง เพื่อขนส่งสินค้าเข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดโดยตรง
ขณะเดียวกัน บริษัทเตรียมวางแผนขยายการให้บริการขนส่งทางรถไฟในเส้นทางอื่นๆ ตามจุดขนส่งสำคัญๆทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลังเปิดตัว บริษัท เคที เทรน จำกัด (บริษัทย่อย) โดยถือเป็นบริการใหม่ล่าสุด และคาดหวังว่าจะเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพการเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่าการขนส่งทางรถไฟเป็นที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC – Eastern Economic Corridor ) ทั้งมีข้อได้เปรียบ ในเรื่องของราคาที่ต่ำกว่าและปริมาณการขนส่งที่มากกว่าการขนส่งทางรถบรรทุก ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยิ่งไปกว่านั้นบริษัทฯ จะถือเป็นผู้ให้บริการการขนส่งอย่างครบวงจรเป็นรายแรกอีกด้วย
ทั้งนี้เคยมีการประมาณการณ์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางบก(ศูนย์วิจัยกสิกรไทย) มีมูลค่าสูงถึง 145,100 -147,300 ล้านบาท อัตราเติบโต 5-7% โดยเปรียบเทียบสัดส่วนการขนส่งสินค้าทั้งระบบพบว่า การขนส่งทางถนนโดยรถบรรทุกประเภทต่างๆ ยังมีสัดส่วนมากสุดประมาณ 81% ส่วนการขนส่งทางรถไฟหรือระบบราง ซึ่งมีผู้ให้บริการเพียงรายเดียว คือ รฟท. ยังมีสัดส่วนเพียง 1.9% จึงมีช่องว่างการสร้างรายได้อีกจำนวนมาก ที่เหลือเป็นการขนส่งทางท่อ 8.7% การขนส่งทางน้ำ 8.5% และการขนส่งทางอากาศ 0.01%
“การจับมือกับ รฟท.ถือเป็นการรุกเซกเมนต์บริการขนส่งใหม่อย่างจริงจังและมีโอกาสเติบโตสูงมาก เนื่องจาก รฟท.มีโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่หลายสาย จะสามารถสร้างเครือข่ายการขนส่งให้กว้างขวางขึ้นอีกหลายเท่าตัว ซึ่งบริษัทมั่นใจว่า บริการการขนส่งทางรางจะกลายเป็นแหล่งรายได้มูลค่ามหาศาล โดยดูจากจำนวนลูกค้าที่สนใจติดต่อเข้ามามากขึ้น เพื่อเปลี่ยนโหมดมาใช้บริการทางรถไฟ เป็นสัญญาณที่ดีมาก โดยงานนี้คาดจะสามารถสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท และมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 10% ทุกปี”
ขณะที่บริการขนส่งทั่วไปด้วยรถบรรทุกของบริษัทยังมีกลุ่มลูกค้าหลักและกำลังเจรจาสัญญาใหม่กับลูกค้าอีกหลายราย
คุณมินตรา ย้ำว่า บริษัทไม่ได้กังวลกับสถานการณ์ต่างๆ โดยประเมินจากแนวโน้มธุรกิจขนส่งเคมีภัณฑ์และวัตถุอันตรายครึ่งหลังปี 2563 ยังอยู่ในทิศทางบวก แม้ครึ่งปีแรกประเทศไทยประสบปัญหาการแพร่ระบาดไวรัส โควิด-19 แต่ธุรกิจการขนส่งทั่วไปและขนส่งเคมีภัณฑ์ยังเติบโต ประกอบกับเคมีภัณฑ์บางชนิดเป็นวัตถุดิบผลิตสินค้าที่จำเป็นต้องใช้ ทำให้การขนส่งยังดำเนินการปกติและมีคอนแท็กต์ว่าจ้างการขนส่งระยะยาว 3-10 ปี นอกจากนี้ ยังเร่งขยายฐานการขนส่งเคมีภัณฑ์อันตรายไปต่างประเทศ เช่น ประเทศลาว ซึ่งมีโรงงานและโรงกลั่นเคมีภัณฑ์เกิดขึ้นจำนวนมาก
บริษัทมั่นใจว่า หากการดำเนินธุรกิจเป็นไปตามแผนที่วางไว้ รายได้ปีนี้จะเติบโต 15% จากปีก่อน ซึ่งในปีที่ผ่านมา (ปี 2562) มีรายได้รวม 955.19 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 110.10 ล้านบาท โดยไตรมาสที่ผ่านมาของปี 2563 มีรายได้แล้วถึง 247.24 ล้านบาท กำไรสุทธิ 56.96 ล้านบาท (ตัวเลขจากตลาดหลักทรัพย์)
ทางด้าน คุณฐากูร อินทรชม ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ กล่าวว่า สถานีรถไฟบ้านกระโดน ตำบลหนองไข่น้ำ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา อยู่ระหว่างสถานีหนองแมวกับสถานีบ้านเกาะ จะถูกยกระดับสถานีขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าที่สำคัญของภาคอีสาน เมื่อโครงการรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. วงเงิน 29,968 ล้านบาท เปิดให้บริการในปี 2565 จะสามารถรองรับขบวนรถเพิ่มขึ้นได้ไม่น้อยกว่า 2 เท่าตัว
ตามแผน รฟท.ตั้งเป้าหมายเร่งพัฒนาสร้างทางคู่อย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งผู้โดยสาร และสินค้า ในพื้นที่ชนบท เมืองและระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ และแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟโดยใช้แนวทางการก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ (overpass) หรือทางลอดใต้ทางรถไฟ (underpass) รวมถึงช่วยแก้ไขปัญหาจราจรและลดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟได้อีกด้วย
อนึ่ง บริษัท เกียรติธนา ขนส่ง จำกัด(มหาชน) ดำเนินธุรกิจด้านโลจิสติกส์ต่อเนื่องและครบวงจร (end-to-end) เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นบริการที่เกี่ยวกับคลังสินค้า พิธีการศุลกากรและเอกสาร รวมถึงบริการการจัดการขนส่ง มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เฉพาะด้านในธุรกิจขนส่งวัตถุอันตรายในกลุ่มปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ ก๊าซอุตสาหกรรม และผลิตภัณฑ์พิเศษอื่นๆ เช่น น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และกากอุตสาหกรรม เป็นเจ้าของรถกว่า 700 คันที่สร้างขึ้นมาเพื่อบรรทุกสินค้าในแต่ละประเภทโดยเฉพาะ เน้น หัวใจหลัก คือ นโยบายมุ่งพัฒนาระบบการบริหารงานขนส่งและสร้างความตระหนักด้านความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล