การรถไฟฯเปิดให้บริการขบวนรถทางไกล-นำเที่ยววันหยุด-รถพิเศษเพิ่มเติม 40 ขบวนรับคลายล็อกเฟส 4 เริ่ม 1 ก.ค.63 เป็นต้นไป ย้ำจำกัดจำหน่ายตั๋วไว้ที่ร้อยละ 50 ลั่นเต็มแล้วไม่ขายตั๋วยืน เข้มงดจำหน่ายอาหารบนขบวนรถ แนะเดินทางไกลเกินกว่า 3 ชม.ให้เตรียมอาหารไปรับประทานเอง
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าภายหลังศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เห็นชอบให้ผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงตามหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกและตามผลการประเมินสถานการณ์ของฝ่ายสาธารณสุข พร้อมทั้งอนุญาตให้กิจการและกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงกลับมาดำเนินการได้ แต่ยังควบคุมการเดินทางเข้าราชอาณาจักรทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ โดยกำหนดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบและกำกับดูแลการขนส่งผู้โดยสารที่เป็นการขนส่งสาธารณะทุกประเภท (รถโดยสารประจำทาง รถปรับอากาศ รถตู้ รถไฟ เรือ เครื่องบิน) โดยผู้ประกอบการต้องจัดระบบและระเบียบต่าง ๆ รวมทั้งให้มีการจอดพักรถ การเว้นที่นั่ง และการจำกัดจำนวนผู้โดยสารในแต่ละเที่ยว ให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าจะมีประชาชนมีความต้องการในการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชนที่มีความจำเป็นต้องเดินทางโดยรถไฟ ทั้งการเดินทางภายในเขตเมือง ระหว่างเมือง และทางไกล ข้ามเขตพื้นที่จังหวัด การรถไฟฯ จึงได้ประกาศเปิดเดินขบวนรถโดยสารทางไกลเพิ่มเติม จำนวน 40 ขบวน เพื่อให้สอดคล้องตามมาตรการผ่อนคลายการเดินทาง ระยะที่ 4 เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป สำหรับขบวนรถที่เปิดให้บริการในเส้นทางต่าง ๆ มีดังนี้
1. ขบวนรถโดยสารทางไกล จำนวน 34 ขบวน (ไป-กลับ) ดังนี้
1.1 สายเหนือ
ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 (เที่ยวไป) จำนวน 6 ขบวน ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2563 (เที่ยวกลับ) จำนวน 4 ขบวน
1.2 สายตะวันออกเฉียงเหนือ
ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 (เที่ยวไป) จำนวน 9 ขบวน ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2563 (เที่ยวกลับ) จำนวน 5 ขบวน
1.3 สายใต้
ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 (เที่ยวไป) จำนวน 7 ขบวน ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2563 (เที่ยวกลับ) จำนวน 3 ขบวน
2. ขบวนรถนำเที่ยววันหยุด และขบวนรถพิเศษโดยสารวันหยุด เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2563
เป็นต้นไป จำนวน 6 ขบวน (ไป-กลับ)
2.1 ขบวนรถนำเที่ยว 909/910 กรุงเทพ-น้ำตก-กรุงเทพ
2.2 ขบวนรถนำเที่ยว 911/912 กรุงเทพ-สวนสนประดิพัทธ์-กรุงเทพ
2.3 ขบวนรถพิเศษโดยสารที่ 997/998 กรุงเทพ-บ้านพลูตาหลวง-กรุงเทพ
นอกจากนี้ ได้ประกาศยกเลิกขบวนรถโดยสารพิเศษที่ได้ขยายระยะเวลาให้บริการผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราว 30 วัน โดยจะประกาศยกเลิกตั้งแต่วันที่ 1 – 17 กรกฎาคม 2563 จำนวน 4 ขบวน (ไป-กลับ) ประกอบด้วย 1. ขบวนรถโดยสารพิเศษที่ 9071 (กรุงเทพ–อุบลราชธานี) ขบวนรถโดยสารพิเศษ 9075 (กรุงเทพ–หนองคาย) ยกเลิกตั้งแต่วันที่ 1–16 กรกฎาคม 2563 และ 2. ขบวนรถโดยสารพิเศษ 9072 (อุบลราชธานี-กรุงเทพ) ขบวนรถโดยสารพิเศษที่ 9076 (หนองคาย-กรุงเทพ) ยกเลิกตั้งแต่วันที่ 1 – 17 กรกฎาคม 2563
การรถไฟฯ ยังคงให้ความสำคัญในด้านมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมอย่างเคร่งครัด โดยให้พนักงานด้านปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องจะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ถุงมือยางและ Face shield ตลอดเวลาที่ให้บริการ การตรวจคัดกรองผู้โดยสารอย่างเข้มข้น การจัดให้มีแอลกอฮอล์เจลบริการอย่างเพียงพอและทั่วถึง ทั้งบริเวณสถานีและบนขบวนรถ การรักษาระยะห่าง Social Distancing ให้มีจุดยืน /นั่ง ให้ชัดเจน ทั้งที่สถานีและขบวนรถ โดยจำกัดการจำหน่ายตั๋วโดยสารไว้ที่ร้อยละ 50 ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด เมื่อจำหน่ายเต็มตามที่ระบุแล้ว จะไม่จำหน่ายตั๋วอีกรวมทั้งตั๋วไม่มีที่นั่ง (ตั๋วยืน) และการงดจำหน่ายอาหารบนขบวนรถ หากผู้โดยสารที่เดินทางไกลเกินกว่า 3 ชั่วโมง ให้เตรียมอาหารไปรับประทานเอง และจะดำเนินการติดตั้ง แอปพลิเคชั่น (application) “ไทยชนะ” ที่สถานีและบนขบวนรถ (เป็นรายตู้/โบกี้) เพื่อใช้ควบคุมการเข้าออกของผู้โดยสารที่มาใช้บริการผ่าน Check-in และ Check-out จากแอปพลิเคชั่นดังกล่าว สำหรับผู้โดยสารที่มีความประสงค์จะเดินทาง สามารถจองตั๋วล่วงหน้าได้แต่วันที่ 27 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป