‘ศักดิ์สยาม’ใจดีให้ทดลองวิ่งฟรีมอเตอร์เวย์สาย 7 พัทยา-มาบตาพุด นาน 3 เดือน ยาว7กิโลเมตร ตรงเข้าสนามบินอู่ตะเภา เดินหน้าดันอีก 6,600กิโลเมตร 21 สาย ตามแผนแม่บททางหลวงสร้างพร้อมทางคู่เชื่อมโครงข่ายถนน-ราง-อากาศ ลั่นไทยต้องผงาดศูนย์กลางโลจิสติกส์อาเซียน
วันที่ 22 พ.ค.ที่ด่านเก็บค่าผ่านทางอู่ตะเภา จ.ระยอง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดทดลองใช้บริการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 ช่วงกรุงเทพ-ชลบุรี-มาบตาพุด เติมเต็มโครงข่ายทางหลวงพิเศษสูพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
นายศักดิ์สยาม เปิดเผยว่า ตั้งแต่เวลา 16.00 น. วันนี้ ( 22 พ.ค.) จะเปิดทดลองใช้มอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยาย มอเตอร์เวย์ ช่วงพัทยา-มาบตาพุด ระยะทางรวม 32 กม. วงเงินลงทุนรวม 17,784 ล้านบาท (มูลค่าเวนคืน 6,000 ล้านบาท และมูลค่าก่อสร้าง 11,784 ล้านบาท) ไปจนถึงสิ้นเดือน ส.ค.63
หลังจากนั้นจะเก็บค่าผ่านทางช่วงต้นเดือน ก.ย. เป็นต้นไป คาดว่ามีปริมาณรถมาใช้ไม่ต่ำกว่า 36,000 คันต่อวัน เนื่องจากเป็นการอำนวยความสะดวกขนส่งทางบก ทั้งการเดินทางปกติ การท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้า ทำให้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น
ปัจจุบัน ทล. มีแผนแม่บทพัฒนามอเตอร์เวย์ทั่วประเทศ 21 เส้นทางใน 20 ปี (ปี 60-79) ระยะทางรวมประมาณ 6,600 กม. ดำเนินการได้ประมาณ 200-300 กม. เท่านั้น ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเมื่อวันที่ 21 พ.ค.63 มีนโยบายให้ขยายมอเตอร์เวย์เส้นทางพัทยา-มาบตาพุด ไปถึงสนามบินอู่ตะเภาอีก 7 กม. รองรับผู้โดยสารมาใช้บริการ 60 ล้านคนต่อปี รวมทั้งเติมเต็มโครงการอีอีซี
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า อีกทั้งมอเตอร์เวย์สายดังกล่าวสามารถต่อขยาย จากอู่ตะเภาไปถึง จ.ระยอง จ.ปราจีนบุรี เพื่อเชื่อมต่อไปยังประเทศกัมพูชาได้ ขณะนี้ ครม. จะปรับปรุงแผนสร้างมอเตอร์เวย์ในไทย โดยสั่งการให้บูรณาการสร้างมอเตอร์เวย์กับการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ดังนั้นตนจึงมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นผู้ศึกษาและออกแบบ โดยให้ ทล. และ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมด้วย
หากแผนสำเร็จจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของระบบโลจิสติกส์ในอาเซียนอย่างแท้จริง เพราะจะทำให้เกิดการลงทุนขึ้นในอนาคต โดยใช้รูปแบบการลงทุนเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในกิจการภาครัฐ (พีพีพี) ดำเนินการอาจจะใช้รูปแบบแนวทางดำเนินการจากต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จแล้ว เช่น เกาหลีใต้ ออกแบบมอเตอร์เวย์ระยะทางกว่า 4,000 กม. แล้วเสร็จ
นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า การออกแบบจะดูระยะห่างระหว่างถนนไม่ว่าจะเป็นแนวดิ่ง แนวนอน ทำให้ถนนเชื่อมต่อกระจายการพัฒนาและสร้างเมือง แต่ไทยจะเติมเต็มมากกว่า เกาหลีใต้ โดยนำโครงการรถไฟทางคู่ร่วมด้วย โดยดำเนินการควบคู่ได้ ขณะเดียวกันพื้นที่รอบข้างมอเตอร์เวย์ต้องกระจายความเจริญ โดยอนาคตต้องมีการเวนคืนเผื่อด้วย เพื่อสร้างสมาร์ทซิตี้ และเมืองการศึกษา เพื่อตอบโจทย์ประชาชน เป็นแรงดึงดูดการลงทุนได้
อย่างไรก็ตามการศึกษาดักล่าว จะใช้เงินกองทุนมอเตอร์เวย์มาศึกษาใช้เวลาไม่เกิน 2 ปีแล้วเสร็จ หากศึกษาเสร็จก่อนให้ดำเนินการเปิดลงทุนพีพีพีก่อน โดยรูปแบบพีพีพีนั้นผู้ประกอบการคนไทยจะได้สิทธิ์ก่อน แต่ถ้าผู้ประกอบการไทยทำได้เต็มความสามารถแล้ว ถึงต้องเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการจากต่างประเทศเข้าร่วมต่อไป
การลงทุนนี้ต้องคำนึงถึงอัตราค่าธรรมเนียมผ่านทางที่เป็นธรรมด้วย ปัจจุบันอัตราค่าผ่านทางตก กม.ละ 1 บาท เช่น จาก กรุงเทพ-ปลายทาง ระยะทาง 150 กม. จ่ายแค่ 150 บาท หากไม่มีมอเตอร์เวย์เดินทางปกติแล้วเจอรถติดจ่าย 150 บาทคงไม่ได้
นายศักดิ์สยาม กล่าวด้วยว่า สำหรับมอเตอร์เวย์ปัจจุบันมีการเก็บค่าผ่านทางหลายระบบทั้งระบบอัตโนมัติ ระบบเงินสด และอนาคตจะนำเทคโนโลยีระบบปัญญาประดิษฐ์ (ไอเอ) มาใช้ ทำให้ประชาชนผ่านด่านโดยไม่ต้องจอดหรือรอจ่ายค่าผ่านทาง ซึ่ง ทล.ศึกษาระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไร้ไม้กั้นเสร็จแล้ว และทำโครงการนำร่องต่อไป
จากนั้นขยายผลไปใช้กับทางด่วนด้วย โดยระบบนี้จะตรวจสอบจากทะเบียนรถ จากนั้นจะไปคิดจำนวนค่าผ่านทางหลังจากสิ้นสุดการเดินทาง โครงการนี้จะใช้กล้องจับความเร็วได้ 160 กม.ต่อชม. แต่มอเตอร์เวย์ได้กำหนดความเร็วไว้ที่ 120 กม.ต่อชม. จะช่วยลดค่าใช้จ่ายและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนทั้งประเทศ
ส่วนรถไฟทางคู่ ที่กำลังสร้าง จากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย จะสร้างมอเตอร์เวย์ควบคู่ด้วยจะพิจารณาแต่ละพื้นที่ เพราะบางพื้นที่ต้องมีแนวเส้นทางเข้าสู่ชุมชนด้วย โดยให้นโยบายดำเนินการได้รวดเร็ว ต้นทุนก่อสร้างต่ำสุด และกระทบประชาชนน้อยที่สุด เช่น ถ้ามีการเวนคืนต้องมีน้อยสุด เพราะโครงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์มักมีปัญหาการก่อสร้างเรื่องการเวนคืน
ทั้งนี้ยังมอบให้ ทล. ดำเนินการสร้างมอเตอร์เวย์ให้เรียบ ไม่ให้กระโดด เพื่อให้ประชาชนใช้ทางด้วยความเร็วปกติ นอกจากนี้ให้ ทล. ดำเนินการสร้างศูนย์กลางด้านจราจร เพื่อบูรณาการความปลอดภัยทางถนน และแก้ปัญหาจราจรทั้งหมด โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญที่มีการเดินทางจำนวนมากมักเกิดรถติด