นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่าจากการประชุมร่วมกับคณะทำงานคดีโฮปเวลล์ว่า ในส่วนของกระทรวงคมนาคม ได้มีการตั้งทนายเพิ่ม 2 คน ได้แก่ นายศุภชัย ใจสมุทร และนายชนินทร์ แก่นหิรัญ เพื่อเป็นที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อให้มีความรัดกุมในการต่อสู้คดี เนื่องจากเห็นว่าทั้ง 2 ท่านมีความประสบการณ์เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย โดย ยืนยันว่าขณะนี้มีข้อมูลที่จะนำไปต่อสู้คดีจนถึงที่สุดได้ และมีตารางในการดำเนินการชัดเจน
ด้านนายนิติธร ล้ำเหลือ ในฐานะทนายความของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ในวันนี้ (21 พ.ย.) เวลา 13.30 น. จะเดินทางไปยื่นหนังสือกับ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยจะแจ้งกับ 4 หน่วยงานดังกล่าวให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการเกี่ยวกับ คดีโฮปเวลล์โดยเฉพาะรายละเอียดของสัญญา ตั้งแต่ที่มาของโครงการ การอนุญาต การดำเนินการ การบอกเลิกสัญญา เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ
ทั้งนี้เนื่องจากคณะทำงานของกระทรวงคมนาคม ได้มีการตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดพบว่า มีประเด็นที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย โดยมีเอกสารหลักฐาน พบว่า มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่อนุมัตินั้น เป็นการอนุมัติให้บริษัท โฮปเวลล์ (ฮ่องกง) จำกัด เป็นผู้ลงนามสัญญา ไม่มีมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ครั้งใดที่อนุมัติให้ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ลงนามสัญญาโครงการโฮปเวลล์เลย ขณะที่ รฟท.ไม่มีอำนาจในการลงนามสัญญา เพราะครม.ไม่ได้อนุมัติรฟท. แต่อนุมัติให้กระทรวงคมนาคมเป็นตัวแทน ดังนั้นการที่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ฟ้องร้องนั้น ไม่สามารถทำได้ตามกฎหมาย
“เรื่องนี้ รัฐบาลเป็นเจ้าของโครงการ กระทรวงคมนาคมไม่ได้เป็นเจ้าของ ดังนั้นกรณีที่มีการบังคับคดีต่างๆ กระทรวงการคลังมีหน้าที่อย่างไร ควรทำอย่างไรที่จะหยุดยั้งในการบังคับคดี ซึ่งในหนังสือที่จะยื่น จะชี้ให้ 4 หน่วยงานทราบถึงหน้าที่ในการพิจารณาและดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป ตอนนี้เป็นการมองไปที่กระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะแก้ไขอย่างไร ซึ่งทั้ง 4 หน่วยงานต้องทำตามหน้าที่ หากไม่ทำ จะเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญา 157 เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ” นายนิติธร กล่าว