ตามที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เรื่องการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการของ ขสมก. เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา และมีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) กว่า 300 คนเดินทางมายังกระทรวงคมนาคม พร้อมทั้งคัดค้านการดำเนินการ ดังนั้น ขสมก.จึงได้ตัดสินใจเลื่อนการ Workshop ดังกล่าวออกไปก่อน เพื่อให้สถานการณ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งยังเพื่อไปทำความเข้าใจในรายละเอียดให้มีความชัดเจนต่อไป
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงถึงกรณียกเลิกการประชุมเชิงปฏิบัติการ การปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการองค์ ขสมก. ว่า แผนฟื้นฟู ขสมก. ฉบับที่จะนำเสนอในการประชุมเชิงปฏิบัติการ (work shop) และถูกประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ขสมก. ยื่นเรื่องให้เลื่อนการประชุม ทำให้ไม่สามารถจัดประชุม work shop ได้ แผนฟื้นฟู ขสมก. ที่จะ work shop ในครั้งนี้ มีรายละเอียดดังนี้ 1.แผนฟื้นฟูปรับปรุงนี้ เป็นแผนฟื้นฟูที่จะทำให้ประชาชนได้ใช้บริการราคาถูกลง สามารถเดินทาง ด้วยรถ ขสมก. ทั้งระบบ ในราคาวันละ 30 บาท ตลอดทั้งวัน ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว จำนวนสายรถ หากเป็นตั๋วรายเดือนจะราคาเพียง 750 บาท หรือคิดเป็นวันละ 25 บาท
2.แผนฟื้นฟูปรับปรุงนี้ ไม่มีการก่อหนี้สาธารณะ เพราะไม่มีการซื้อรถ 3,500 คัน ตามที่แผนฟื้นฟูฉบับเดิมเสนอไว้ แต่จะใช้วิธีบริหารจัดการจ้างรถมาวิ่งแทน ซึ่งจะไม่มีภาระซ่อมบำรุงและค่าซื้อรถ 3.แผนฟื้นฟูปรับปรุงนี้ จะมีการปรับสายทางให้รถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) ไม่วิ่งทับซ้อนกัน ซึ่งจะสามารถลดจำนวนรถเมล์ ซึ่งเดิมจดทะเบียนอนุญาตไว้ ประมาณ 6,000 คัน เหลือเพียง 3,000 – 3,500 คัน 4.แผนฟื้นฟูฉบับใหม่ กำหนดให้รถเมล์ที่จะจ้างเช่าวิ่งต้องเป็นรถที่ใช้พลังงานที่ไม่สร้าง ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยจะต้องเป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าหรือ NGV และเป็นรถปรับอากาศเท่านั้น และ5.แผนฟื้นฟูฉบับนี้ ดูแลสวัสดิการของพนักงานแบบเดียวกับแผนฟื้นฟูฉบับก่อน เสนอไว้ ทุกประการ
“เสียดายที่วันนี้ไม่สามารถจัดประชุม work shop ได้ ทำให้การฟื้นฟู ขสมก. ต้องล่าช้าออกไปอีกและรถเมล์ ก็ไม่มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น ยังเป็นรถร้อน ราคาแพงกว่ารถปรับอากาศที่แผนฟื้นฟูใหม่ เสนอมา ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการ ขสมก. ทำความเข้าใจกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ว่าต้องการสิ่งใด แต่ขอให้เป็นประโยชน์กับประชาชนและการฟื้นฟูกิจการ ขสมก. แล้วจะกำหนดวันจัดประชุมทำ work shop ต่อไปโดยเร็วที่สุด”
ด้าน นายสุระชัย เอี่ยมวชิระสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า จากกระแสความเข้าใจของพนักงาน ขสมก. ที่มองว่าแผนฟื้นฟูใหม่ จะนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจฯ นั้น ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการแปรรูปแต่อย่างใด โดยจากกรอบการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฉบับที่เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2562 ที่ผ่านมา นำมาสู่แนวทางการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.ใหม่ มีการเปลี่ยนแปลง 2 ประเด็นหลัก คือ 1.ในส่วนของแผนเดิมในการจัดหารถโดยสารใหม่ พร้อมปรับปรุงสภาพรถ เปลี่ยนเป็นการเช่ารถโดยสารปรับอากาศโดยจ่ายตามกิโลเมตรบริการที่วิ่ง จำนวน 3,000 คัน ซึ่งเป็นการเช่ารถและการบริการจากเอกชนเท่านั้น ในส่วนของพนักงานขับรถยังคงเป็นพนักงาน ขสมก. ในส่วนการเออร์รี่รีไทร์และการเกษียณอายุนั้น ก็ยังคงเป็นไปตามแผนเดิม พร้อมทั้งจะไม่มีการปลดพนักงานตามที่มีกระแส อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ขสมก.มีพนักงานขับรถประมาณ 5,500 คน ใกล้เคียงกับจำนวนพนักงานเก็บค่าโดยสาร
ในส่วนของรถที่จะเช่า 3,000 คันนั้น ถือเป็นการบริหารต้นทุนที่ดีที่สุด และดีกว่าการจัดซื้อรถ ที่จะมีค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงในระยะยาว พร้อมทั้งจากแผนการพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟฟ้า ที่จะครอบคลุมในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑลในอนาคตนั้น ขสมก.จะต้องปรับเป็นการให้บริการรถเชื่อมต่อระบบขนส่งอื่น (Feeder) จึงมองว่าการเช่ารถระยะเวลา 7 ปี มีความคุ้มค่ามากที่สุด และในต่างประเทศ อาทิ ลอนดอน โซล ได้นำวิธีการดำเนินดังกล่าวมาใช้ อีกทั้งอาจจะเป็นรถขนาดเล็กลงจากเดิม 12 เมตร เป็น 9-10 เมตร โดยจะเป็นระบบไฟฟ้า และเชื้อเพลิงNGV ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาการขาดทุนสะสม และมีผลการดำเนินการเป็นกำไรต่อไป รวมถึงยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการ เนื่องจากตามแผน ขสมก. วางแผนที่จะเก็บค่าโดยสารที่ 30 บาทต่อวัน ซึ่งก็จะทำให้ค่าเดินทางถูกลง หากต้องมีการต่อรถหลายต่อ และทำให้การเดินทางสะดวกสบายมากขึ้น
“ที่ผ่านมา ผมอาจจะสื่อสารไม่ดี หรือไม่มากพอในทุกประเด็น แต่ยืนยันว่าแผนฟื้นฟูนี้ เราไม่ได้แก้ทั้งหมด มีแค่การปรับเปลี่ยนจากการซื้อรถ มาเป็นการเช่ารถจากเอกชนและจ่ายเงินตามกิโลเมตรบริการที่วิ่ง ต้นทุนการซ่อมบำรุงก็ต่ำกว่า สามารถยืดหยุ่นได้ นอกจากนี้ หาก ขสมก. เดินตามแผนฟื้นฟูดังกล่าว หลังจากนี้ รัฐจะไม่ต้องมารับภาระ มีผลสุทธิเป็นกำไร และพนักงานก็อาจจะมีโบนัสด้วย”
ในส่วนของอีก 1 แนวทางที่มีการเปลี่ยนแปลงจากแผนฟื้นฟูเดิม คือ การปรับปรุงเส้นทางเดินรถ ที่ได้ดำเนินการร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ทั้งนี้ ยืนยันว่า การปรับปรุงดังกล่าวนั้น เพื่อไม่ให้เกิดการทับซ้อนกับระบบขนส่งมวลชนหลักหรือระบบรถไฟฟ้า ทั้งยังเพื่อให้เกิดความกระชับขึ้น และสามารถเชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบ โดย ขสมก.ตั้งเป้าไว้ว่า หากลดการทับซ้อนของเส้นทางแล้วนั้น ในอนาคตผู้โดยสารจะรอรถที่ป้ายหยุดรถประจำทางไม่เกิน 5-10 นาที เนื่องจากจะมีจำนวนรถถี่ขึ้น
ขณะที่ นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า การปรับปรุงเส้นทางการเดินรถของ ขสมก. จะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับ ขสมก. ประชาชน และรัฐบาล อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาจราจร รวมถึงมลพิษด้วย อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการปรับปรุงเส้นทางดังกล่าวนั้น การเดินทางโดยใช้รถเมล์ที่วิ่งจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิผ่านพหลโยธิน ไปยัง 5 แยกพร้าว จะมีรถเมล์มากกว่า 30 สาย ซึ่งมีการทับซ้อนกันอยู่ โดยมั่นใจว่าการปรับปรุงเส้นทาง จะช่วยให้การบริการมีประสิทธิภาพมากขึ้น
…นายสะพานโค้ง