หากจะผ่ายุทธจักรสิบล้อเมืองไทยในเซกเม้นต์สัญชาติญี่ปุ่นต้องหลีกทางให้กับ 2 พี่ใหญ่ “อีซูซุ-ฮีโน่” ที่แต่ละปีกวาดยอดขายเต็มหน้าตักเป็นว่าเล่น โดยสถิติยอดขายรถบรรทุกรวมปี 62 หลังผ่าน 9 เดือน(ม.ค.-ก.ย.) ที่รวบรวมโดยบจก.ฮีโน่มอเตอร์สเซลส์ (ประเทศไทย)
พบว่าค่ายอีซูซุกะซวกยอดขายรวม 11,407 คัน ส่วนฮีโน่ก็ไม่ยอมน้อยหน้าโกยไป 9,048 คัน ยูดี ทรัคส์ 811 คัน ขณะที่ Fuso แบ่งไป 336 คัน
ฟากเวทียุโรปแม้ระยะหลังจะมีหลายค่ายร่วมวงสวิงตลาดด้วยก็ตาม ทว่าความยิ่งใหญ่ยังต้องยกให้ 2 ค่ายยักษ์ใหญ่ “สแกนเนีย-วอลโว่ ทรัคส์” 9 เดือนผ่านพ้นไปสแกนเนียปั้มยอดขาย 375 คัน วอลโว่ ทรัคส์ตามมาไม่ห่างมากนักสอยไป 324 คัน เมอร์เซเดส-เบนซ์ จัดไปชิลล์ๆ 73 คัน ฟากพญาราชสีห์ MAN ล่าพออิ่มท้อง 28 คัน
ถึงตอนนี้ก็เข้าสู่โค้งร้อยเมตรสุดท้ายปี 62 เต็มแก่แล้ว เหลือเพียงไตรมาสเดียวให้ทุกค่ายได้เซิ้งกลยุทธ์การตลาดลุยเก็บเกี่ยวยอดขายปลายปีกันสุดลิ่ม!
ขณะที่การเปลี่ยนแปลงแม่ทัพคนใหม่ค่ายรถใหญ่สายพันธุ์ยุโรปในเมืองไทย ก็น่าจับตาเป็นพิเศษ เหตุมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูงทั้ง 4 ค่ายภายในปี 62 นี้ ไม่ทราบเป็นเพราะบัญชาการจากสิ่งที่มองไม่เห็นหรือเป็นเรื่อง “บังเอิญ”กันแน่?
“วอลโว่ ทรัคส์” ฮึดสู้หวังทวงบัลลังก์แชมป์คืน
มาก่อนตั้งแต่ไก่โห่เลยคนนี้ “มร.อีริค ลาบัท”แม่ทัพค่ายวอลโว่ กรุ๊ป (ประเทศไทย) ที่รับไม้ต่อจากคุณกำลาภ ศิริกิตติวัฒน์ ไปตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปี ตามโปรไฟล์เขา เป็นผู้บริหารมากด้วยประสบการณ์ตลาดรถบรรทุกและเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจตลาดรถบรรทุกภูมิภาคอาเซียนเป็นอย่างดี เขาเริ่มต้นชีวิตการทำงานในครอบครัววอลโว่ กรุ๊ปตั้งแต่ปี 2530 ที่หน่วยงานรถบรรทุกเรโนลท์ ทรัคส์ในยุโรป และในปี 2551 เขาได้โอนย้ายมาที่ทวีปเอเชีย โดยเริ่มต้นที่แดนมังกร ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีการแข่งขันเข้มข้นที่สุดในธุรกิจรถบรรทุก
ด้วยความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่ง เขาสามารถผลักดันให้ยอดขายรถบรรทุกวอลโว่ ทรัคส์ เติบโตเป็น 3 เท่าในประเทศจีนและสามารถยกระดับความพึงพอใจของลูกค้า รวมถึงการสร้างแบรนด์และส่วนแบ่งตลาดให้ขึ้นสู่ระดับแนวหน้าในปัจจุบัน
“ด้วยความที่ผมทำงานในเอเชียมาเป็นเวลานานหลายปี ทำให้ผมมีความรู้ความเข้าใจในอุตสาหกรรมรถบรรทุก รวมไปถึงความซับซ้อนในตลาดเอเชีย ผมยึดมั่นในค่านิยมองค์กรของวอลโว่ กรุ๊ป เพื่อให้มั่นใจว่าในทุก ๆ การตัดสินใจของเราต้องนำไปสู่ความสำเร็จของลูกค้าเสมอ ผมมั่นใจว่าเราจะสามารถสร้างความสำเร็จในเป้าหมายการเติบโตสำหรับตลาดประเทศไทย ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งตลาดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของวอลโว่ กรุ๊ป” มร.อีริค กล่าว
อีกทั่งยังเป็นการตอกย้ำความมั่นใจที่เขาเคยหล่นวาจาไว้ต่อหน้าสื่อเป็นครั้งแรกว่า”…จากการที่ผมเคยประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนสู่ความเป็นเบอร์หนึ่งแบรนด์ยุโรปในจีนมา ดังนั้น ในประเทศไทยการเป็น “เบอร์รอง”ไม่ใช่สิ่งที่ผมนึกไว้และผมพร้อมที่จะสู้เพื่อก้าวสู่ความเป็นเบอร์หนึ่งในไทยให้ได้”
จากนั้นมาเขาก็เดินหน้าปล่อยหมัดเด็ดทะลวงไส้น่าดู หวังสำแดงศักยภาพในฐานะผู้นำองค์กรที่เคยเดินทางเป็นหมื่นลี้มาแล้วในแดนมังกร สู่ปฏิบัติการทวงคืน“บัลลังก์เจ้ายุโรป” หลังเสียแชมป์ไป 2 ปีซ้อน(60-61)ให้กับค่ายเพื่อนบ้านเดียวกัน
จากวันนี้ถึงวันนี้ผลงานจากการขับเคลื่อนทัพวอลโว่ ทรัคส์ ภายใต้การนำของ มร.อีริค ยอดขายวอลโว่ ทรัคส์หลังผ่าน 9 เดือนอยู่ที่ 324 คันถือว่าดีขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบยอดขายค่ายสแกนเนียที่ 375 คัน ทิ้งระยะห่างกัน 51 คัน ถือว่าไม่ห่างมากนักที่วอลโว่ ทรัคส์จะเร่งเครื่องไล่บี้ปาดหน้าสแกนเนียได้ทันกับห้วงเวลาที่เหลือของปีนี้
ฐานที่มั่น “เจ้ายุโรป”พิสูจน์กึ๋น!แม่ทัพหญิงสแกนเนีย
ขณะที่ค่ายสแกนเนียก็มีการเปลี่ยนแปลงแม่ทัพเช่นกัน เมื่อ มร.สเตฟาน ดอร์สกี MD.สแกนเนีย สยาม ได้เวลาโบกมือลาไทยแลนด์กลับไปรับตำแหน่ง Senior Vice President and Head of Business Processes within Commercial Operations ประจำสำนักงานใหญ่สแกนเนีย ประเทศสวีเดนตั้งแต่เดือนก.ค. หลังตะบันหน้าหน้าที่แม่ทัพค่ายสแกนเนียกุมทัพสู้ศึกตามวงล้อสมรภูมิรถใหญ่เมืองไทยประมาณ 4 ปี
กับผลงานระดับมาสเตอร์พีซด้วยการโค่นแชมป์เก่ารถใหญ่ยุโรปตลอดกาลอย่างวอลโว่ทรัคส์ได้เป็นครั้งแรกในปี 60 ต่อเนื่องมาถึงปี 61 ฝากไม้ต่อให้กับ MD คนใหม่ที่เข้ามาแทนเป็นสุภาพสตรีมีชื่อเสียงเรียงนามว่า “สตีน่า เฟเกอร์แมน”
ตามโปรไฟล์ก่อนที่เธอจะก้าวสู่แม่ทัพค่ายสแกนเนียในไทย เธอเป็นหนึ่งในสุดยอดผู้บริหารหญิงแห่งอนาคตติดกัน 4 ปีซ้อน ที่ได้รับเลือกจากองค์กร Ledarna ในประเทศสวีเดน ผู้ที่เคยทำผลงานให้สแกนเนียในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มียอดขายขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในตลาดได้เป็นครั้งแรก
“แม้ว่าขนาดตลาดของไทยจะใหญ่กว่าสวิตเซอร์แลนด์ ฉันยังเชื่อในหลักการทำงานที่เหมือนกัน คือเริ่มจากการเข้าพบเพื่อทำความเข้าใจในความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า และส่งมอบรถที่ตอบโจทย์กับความต้องการของลูกค้า…” คำกล่าวบางส่วนที่เธอได้สัมภาษณ์ผ่านนิตยสาร Scania Thailand Jouney
เธอยังสะท้อนมุมมองถึงความท้าทายในไทย คือการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่อุตสาหกรรมการขนส่งที่ยั่งยืนพร้อมๆกับสแกนเนียทั่วโลก โดยบอกเล่าถึงการทำงานบนพื้นฐานหลัก 3 ประการ อย่างแรกคือการประหยัดเชื้อเพลิงที่นอกเหนือจากช่วยลดต้นทุนขนส่งแล้วยังดีต่อสิ่งแวดล้อม สองคือพลังงานทางเลือก สำหรับประเทศไทยรถสแกนเนียสามารถเติมน้ำมัน B20 ได้ ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ และสุดท้ายคือระบบขนส่งอัจฉริยะและปลอดภัย
“เรามีผลิตภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยมกับทีมงานมืออาชีพ พร้อมแล้วที่จะตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้า …ลูกค้ามาก่อนเสมอ มันอยู่ใน NDA ของพวกเราชาวสแกนเนีย ซึ่งฉันคิดว่าทุกคนในสแกนเนียรู้ดีว่าทุกอย่างเกี่ยวกับลูกค้าต้องมาก่อนเสมอ” เธอกล่าวย้ำ
กับภารกิจรับไม้ต่อจากมร.สเตฟาน ที่ทิ้งผลงานอันน่าทึ่งเอาไว้ ถือเป็นบทพิสูจน์กึ๋นและท้าทายอย่างมากในฐานะแม่ทัพหญิงหนึ่งเดียวท่ามกลางสมรภูมิเดือดรถใหญ่ยุโรปในเมืองไทยที่ต้องต่อกรกับ 3 แม่ทัพชายอกสามศอกจาก 3 ค่ายรถใหญ่ยุโรป เพื่อรักษาฐานบัญชาการ “เจ้ายุโรป”ในไทยให้อยู่ในกำมืออย่างต่อเนื่อง
“เบนซ์”เผด็จศึกภายในได้หรือไม่?
ถัดมาเป็นคิวค่าย DCVT (Daimler Commercial Vehicles Thailand) ที่ขายทั้งรถใหญ่ฟูโซ่และเบนซ์ โดยมี“มร.ซาช่า ริคาเน็ค”กุมบังเหียนเป็นประธานกรรมการบริหารดีซีวีทีคนแรก ทว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปีผลงานและการกุมทัพภายใต้ภูมิปัญญาของท่านแม่ทัพมร.ชาช่า ถูกคนวงในวิพากษ์วิจารณ์หนักหน่วงถึง “ศักยภาพและภาวะผู้นำ” กลายเป็นปมร้อนฉ่าปล่อยเปลวความร้อนเล็ดลอดสู่วงนอก
โดยเฉพาะแนวทางการทำตลาดที่ยึดอีโก้ของตัวเองจนสุดโต่ง โดยไม่มีท่าที “สนใจ-เข้าใจ”ถึงรากเหง้าและธรรมชาติตลาดรถบรรทุกเมืองไทย จนดีลเลอร์หลายรายออกอาการ “ไม่ปลื้ม”จนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในที่สุด โดยเขาจะถูกโยกย้ายไปหลบเลียแผลใจกับตำแหน่งใหม่ที่สำนักงานใหญ่ของเดมเลอร์ ทรัคส์ เอเชีย ในเมืองคาวาซากิ ประเทศญี่ปุ่น
และเก้าอี้แม่ทัพ DCVT ก็ถูกแทนที่ โดย “มร.สเตฟาโน จิออร์ดานิ” โดยมีผลมาตั้งแต่ 1 ก.ย.2562 เป็นต้นมา ก่อนหน้าที่จะย้ายมาคุมทัพที่ไทย เขาเคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ ไฟแนนเชียล เซอร์วิส ประเทศสเปน ตามโปรไฟล์เขาก้าวสู่ครอบครัวเดมเลอร์ในปี 2548 โดยได้เสริมสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งในสายงานพัฒนาธุรกิจ การขายและการตลาดในธุรกิจบริการทางการเงิน และจากประสบการณ์ด้านการขายรถบรรทุกและรถโดยสารในประเทศต่าง ๆ ทั้งในยุโรปและเอเชีย มร.สเตฟาโน ย้ำจะนำมาใช้ในการบริหารดีซีวีที เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับบริษัทในอุตสาหกรรมรถเพื่อการพาณิชย์ของไทย
ต้องจับตากันต่อว่านายใหญ่คนที่สอง DCVT จะพลิกตำราฉบับฝรั่งมั่งค่าเล่มไหนทลายล้างซากปรักหักพังที่ CEO คนแรกได้ทิ้งไว้เป็นอนุสรณ์สยองใจ โดยเฉพาะศึกภายในองค์กรที่ยังคุกรุ่น พร้อมเดินเครื่องเต็มสูบสู้ศึกสมรภูมิรถใหญ่ในไทยได้มากน้อยเพียงใด? จะสามารถแสดงศักยภาพในฐานะแม่ทัพขับเคลื่อนรถใหญ่ “ฟูโซ่-เบนซ์”เติบโตในไทยมากกว่าที่เป็นอยู่ได้หรือไม่?
MAN –Simply #1 หรือ…แค่สรรพคุณเกินจริง?
ปิดท้ายกันที่ค่ายพญาราชสีห์ MAN อีกหนึ่งรถใหญ่สายพันธุ์ยุโรปคุณภาพคับแก้ว หลังสัญญาสิ้นสุดกับดิสทริบิวเตอร์(กลุ่มตันจง)ในสิ้นเดือนต.ค.62 นี้ โดย MAN Truck & Bus Asia Pacific ในฐานะเจ้าของแบรนด์จะดึงมาโม่แป้งการตลาดเองกับมือ ด้วยการเซ็ตอัพ Area APAC ใหม่ในไทยกุมบังเหียนการตลาดเองในหลายประเทศ Asia Pacific รวมทั้งประเทศไทยอีกด้วย
โดยได้มร.ธีโล่ ฮัลเตอร์ นั่งแท่นเป็นแม่ทัพสู้ศึกสมรภูมิรถใหญ่ยุโรปในไทย โดยเขาย้ำจะไม่พึ่งพาImporter อีกต่อไป เลือกจะลุยไฟทำตลาด ‘ชงเองกินเอง’ ด้วยสโลแกน MAN –Simply #1 ชูกลยุทธ์‘ลูกค้าเข้าถึงง่าย’ ยันยังจับมือกับดีลเลอร์พร้อมขยายเน็ตเวิร์คเพิ่ม พร้อมผุดแผนสร้างแวร์เฮ้าส์สต๊อกอะไหล่ ลั่นอีก 3 ปีผงาดเบอร์ 1 หรือ 2 รถใหญ่ยูโรปในไทย
“ภายใต้กลยุทธ์ Simplify Business นี้เราต้องการขับเคลื่อนธุรกิจของเราให้ง่ายมากขึ้น เราจะทำทุกอย่างให้มันง่าย เรายืนอยู่บนมุมมองความต้องการลูกค้า อยากให้ลูกค้าทำธุรกิจกับเราได้ง่ายมากขึ้น ทั้งกระบวนการซื้อขายรถบัสก็ดี รถบรรทุกก็ดี รวมถึงงานบริการหลังการขาย การบริการอื่นๆ หรือการรับบริการต่าง ๆ เพื่อให้ทุกขั้นตอนการทำธุรกิจของลูกค้ากับเราให้ง่ายมากที่สุด ทั้งหมดถูกขมวดลงในกลยุทธ์ MAN –Simply #1”มร.ธีโล่ กล่าว
ด้วยมิติดุเดือดเข้มข้นไม่ไว้หน้าอินทร์หน้าพรมของสมรภูมิรถใหญ่ในไทย ถือเป็นความท้าทายความสามารถมร.ธีโล่ ฮัลเตอร์ ผู้กุมทัพ MAN ในไทย จะนำพาองค์กรพุ่งชนเป้าหมายอย่างที่เขาได้ลั่นวาจาไว้ว่า “อีก 3 ปี ผงาดเบอร์ 1 หรือ 2 ยูโรเปี้ยนทรัคในไทย”ได้หรือไม่? หรือจะแค่คำโม้สรรพคุณเกินจริง?
…ปูเสื่อดูกันยาวๆ!