วันนี้ (30 ต.ค. 62) ณ สะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย/ตองยิน แห่งที่ 2 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แห่งราชอาณาจักรไทย และนายอู ฮัน ซอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงก่อสร้าง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เป็นประธานร่วมในพิธีเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย/ตองยิน แห่งที่ 2 อย่างเป็นทางการ เชื่อมสัมพันธ์ไทย-เมียนมา เสริมศักยภาพการเดินทางและขนส่งสินค้าชายแดน คาดมูลค่าการค้าชายแดนจะเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ล้านบาทต่อปี และปริมาณรถที่รถวิ่งผ่านจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า นับตั้งแต่การเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 1 ทำให้การคมนาคมขนส่งระหว่างกันของทั้ง 2 ประเทศมีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น โดยในปี 2561 มูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทย-เมียนมา สูงถึง 1.9 แสนล้านบาท โดยเฉพาะบริเวณด่านพรมแดนแม่สอด ที่มีมูลค่าการค้าชายแดนสูงถึง 78,000 ล้านบาท และมีจำนวนรถวิ่งผ่านประมาณ 230,000 คัน/ปี หรือโดยเฉลี่ย 630 คัน/วัน ดังนั้น รัฐบาลจึงมีแนวคิดริเริ่มก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 ขึ้นอีกสะพานหนึ่ง เพื่อส่งเสริมฐานะการเป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์โดยธรรมชาติ” ของไทยและเมียนมา และเติมเต็มแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของอาเซียน โดยหลังจากเปิดใช้สะพาน คาดว่ามูลค่าการค้าชายแดนที่ผ่านด่านพรมแดนแม่สอดจะเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ล้านบาทต่อปี และปริมาณรถที่รถวิ่งผ่านจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10
นายอู ฮัน ซอ กล่าวว่า ประเทศเมียนมามุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศเพื่อนบ้านและนานาประเทศมาโดยตลอด ในการนี้จึงได้ก่อตั้งคณะกรรมการร่วมการค้าชายแดนเมียนมา-ไทย เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจและส่งเสริมการค้าของทั้งสองประเทศ ซึ่งสะพานมิตรภาพเมียนมา-ไทย ข้ามแม่น้ำเมย/ตองยิน แห่งที่ 2 นี้จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ประเทศ อำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและความมั่งคั่งของชุมชนชายแดนทั้งสองฝั่งแม่น้ำ
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า สะพานมิตรภาพไทย- เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 ได้รับการอนุมัติงบประมาณการก่อสร้างสะพาน ถนนเชื่อมต่อฝั่งไทยและถนนเชื่อมต่อฝั่งเมียนมา อาคารด่านฝั่งไทยและฝั่งเมียนมา รวมทั้งค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินฝั่งไทย วงเงินรวมทั้งสิ้น 3,900 ล้านบาท แบ่งเป็นค่างานฝั่งไทยจำนวน 2,900 ล้านบาท และค่างานฝั่งเมียนมา จำนวน 1,000 ล้านบาท และในปีพุทธศักราช 2560 ครม.ได้อนุมัติวงเงินเพิ่มเติมอีกจำนวน 232 ล้านบาท เป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินฝั่งไทยและค่าก่อสร้างอาคารด่านพรมแดนทั้งสองฝั่ง เพื่อปรับรูปแบบด้านสถาปัตยกรรมให้เหมาะสมกับเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศ รวมงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการทั้งสิ้น 4,132 ล้านบาท โดยรัฐบาลไทยได้ให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ในส่วนของค่าก่อสร้างสะพาน ถนน และอาคารด่านพรมแดนในฝั่งเมียนมา ส่วนการก่อสร้างนั้น กรมทางหลวงได้ระดมสรรพกำลังจากหน่วยงานในสังกัด จำนวน 6 หน่วยงาน ประกอบด้วย ศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 1 (พิจิตร) ศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 3 (ปทุมธานี) ศูนย์สร้างทางลำปาง ศูนย์สร้างทางหล่มสัก ศูนย์สร้างทางขอนแก่น และศูนย์สร้างทางกาญจนบุรี เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง โดยมิได้ว่าจ้างผู้รับเหมา
สำหรับจุดเริ่มต้นของโครงการอยู่บนทางหลวงหมายเลข 12 บริเวณบ้านวังตะเคียน ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 6 สายเมียวดี-กอกะเร็ก หรือ ทางหลวงอาเซียนหมายเลข 1 ในเมืองเมียวดี ลักษณะโครงการประกอบด้วย 1. สะพานข้ามแม่น้ำเมย ความยาว 760 เมตร 2. ถนนขนาด 4 ช่องจราจร เชื่อมต่อสะพานทั้งสองฝั่ง 3. อาคารด่านพรมแดนทั้ง 2 ฝั่ง มีระยะทางโครงการรวมทั้งสิ้น 21.40 กิโลเมตร แบ่งเป็นระยะทางโครงการในฝั่งไทย 17.25 กิโลเมตร และฝั่งเมียนมา 4.15 กิโลเมตร
ด้านรูปแบบการก่อสร้าง ได้ออกแบบเป็นสะพานคานพื้นคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง ก่อสร้างด้วยวิธีคานยื่นสมดุล โดยการเพิ่มส่วนยื่นออกไปทั้ง 2 ข้างของเสาตอม่อ พร้อมดึงลวดอัดแรงเพื่อต้านกับน้ำหนักของส่วนที่ยื่น และดึงลวดช่วงกลางในขั้นตอนการติดตั้งชิ้นส่วนสุดท้าย เพื่อรับน้ำหนักของโครงสร้างทั้งหมด ซึ่งเหมาะกับการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำที่ไม่ต้องใช้ค้ำยันจากพื้นด้านล่าง ส่วนความพิเศษที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของ ของสะพานแห่งนี้คือโคมไฟ ที่ผสมผสานศิลปะของทั้ง 2 ประเทศ โดยนำลวดลายและความอ่อนช้อยของลายกนกซึ่งเป็นศิลปะของไทย มาแต่งเติมสีสันตามแบบฉบับของประเทศเมียนมาคือสีทองและสีเขียว เมื่อติดตั้งทั่วทั้งสะพาน จึงปรากฏเป็นภาพสวยงาม และสะท้อนถึงมิตรภาพที่มีมาอย่างยาวนานของทั้ง 2 ประเทศ
สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 นี้ นอกจากจะแสดงถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของประเทศไทยและประเทศเมียนมาที่มีมาอย่างยาวนานแล้ว ยังช่วยเติมเต็มโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเส้นหลักของอาเซียน เป็นส่วนหนึ่งในเส้นทางตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) ที่เชื่อม 4 ประเทศเข้าด้วยกัน ได้แก่ เมียนมา ไทย ลาว และเวียดนาม ส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างประเทศทั่วภูมิภาคอย่างไร้รอยต่อ นำมาซึ่งความเจริญทั้งด้านคมนาคมขนส่ง เศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณด่านชายแดนทั้ง 2 ประเทศอย่างยั่งยืน